ราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.2567 เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ
ราชกิจจาฯ ประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.2567 บริษัทข้ามชาติรายได้ไม่ต่ำกว่า 750 ล้านยูโร หรือ 2.6 หมื่นล้านบาท เริ่มระยะเวลาบัญชี 1 ม.ค.2568
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 โดยจะมีผลใช้บังคับแก่นิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร หรือ 2.6 หมื่นล้านบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไป
การตราพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิในการจัดเก็บภาษี อันเป็นการรักษาประโยชน์แห่งชาติ หากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม จะสูญเสียรายได้ภาษีส่วนเพิ่มที่ควรจัดเก็บได้ให้แก่ประเทศอื่นที่มีกฎหมายจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายดังกล่าว
ซึ่งประเทศที่มีกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับแล้วตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2567 มี 28 ประเทศ เช่น กรีซ เกาหลีใต้ แคนาดา ญี่ปุ่น เดนมาร์ก ตุรกี เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เยอรมัน สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย อิตาลี ไอร์แลนด์ เวียดนาม
และประเทศที่คาดว่าจะมีกฎหมายใช้บังคับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2568 เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง
ทั้งนี้ พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 นี้ใช้บังคับเฉพาะกลุ่ม MNEs ขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่ากลุ่ม MNEs ของไทยที่ลงทุนในต่างประเทศหรือกลุ่ม MNEs ของต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศไทยที่มีรายได้ตามงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statements) ของบริษัทแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร อย่างน้อย 2 ใน 4 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนหน้ารอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม โดยให้เสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ในอัตราไม่ต่ำกว่า 15% เพื่อจำกัดการแข่งขันทางภาษี
ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ยกร่างพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มตามแนวทางมาตรฐานที่ OECD จัดทำขึ้นการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของประเทศไทยจึงเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของนานาประเทศ อันเป็นการลดภาระการปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่กลุ่ม MNEs ที่ลงทุนในประเทศไทย
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจะเป็นประโยชน์แก่การส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยบนพื้นฐานของความยั่งยืนทางการคลัง โดยเบื้องต้น กระทรวงการคลังคาดว่าจะจัดเก็บรายได้เพิ่มราว 1 หมื่นล้านบาท
หลังจากนี้กรมสรรพากรจะเสนอกฎหมายลำดับรองกำหนดรายละเอียดต่างๆ ตามแนวทางมาตรฐานที่ OECD กำหนด สำหรับวิธีการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี การยื่น GloBE Information Return และการแจ้งข้อมูลนั้น กรมสรรพากรจะอำนวยความสะดวกให้ดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่ม กรมสรรพากรจะจัดสัมมนาและจัดทำบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) สร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้เสียภาษีและผู้เกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษาภาษีและผู้สอบบัญชี จึงขอให้ติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์และสื่อสังคมของกรมสรรพากร