พาณิชย์ เผย ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนเฉลี่ยปี67 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย
สนค. เผยภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนสูงขึ้น เล็กน้อย ขณะที่อุทกภัยกระทบต่อธุรกิจการขนส่งสินค้าทางถนนไม่มากคาดไตรมาสแรกปี ขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากแรงหนุนของการบริโภคภาคเอกชน ท่องเที่ยว การส่งออก
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 4 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนน ในช่วงเดือนพ.ย. 2567 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งสูง แต่เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงเช่นกัน การปรับค่าบริการจึงเป็นไปอย่างจำกัด และยังพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
สำหรับดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามกิจกรรมการผลิต ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สูงขึ้น 2.7 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เป็นการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งในทุกหมวดสินค้า
โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้น 3.1 % (ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์) หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง 0.9% (ถ่านหินและลิกไนต์ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ) และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง 0.6 %(กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร) ส่วนเฉลี่ยทั้งปี 2567 สูงขึ้น 1.5 %
ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สูงขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เป็นการสูงขึ้นเกือบทุกประเภทรถที่ใช้บริการขนส่งสินค้า อาทิ รถบรรทุกวัสดุอันตราย 3.8% รถตู้บรรทุก 2.8 %รถบรรทุกเฉพาะกิจและรถบรรทุกของเหลว สูงขึ้นเท่ากันที่ 2.2 % รถกระบะบรรทุก 1.9% และรถพ่วง 0.7 %
ขณะที่ค่าบริการขนส่งรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนเฉลี่ยทั้งปี 2567 สูงขึ้น 0.5 %
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ปรับสูงขึ้น ยังคงเป็นเรื่องของต้นทุน โดยราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศอยู่ระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับอัตราค่าจ้างและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการขนส่งสินค้ามีมากขึ้น ค่าบริการขนส่งสินค้าจึงปรับเพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนน เกี่ยวกับผลกระทบจากอุทกภัยต่อค่าบริการขนส่งทางถนนในช่วงเดือนพ.ย. 2567 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งสูง แต่เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงเช่นกัน จึงปรับค่าบริการขนส่งสินค้าได้ไม่มากนัก และยังพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถึง 85.58% ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย มีเพียง 14.42% เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา (กลางเดือนก.ค. – ก.ย. 2567)
สำหรับผลกระทบที่ได้รับ ได้แก่ เส้นทางขนส่งประจำเสียหาย และทรัพย์สินบริษัทเสียหาย ส่วนความต้องการความช่วยเหลือ จากภาครัฐ อาทิ ลดหรือสนับสนุนราคาน้ำมัน ตามด้วยต้องการเงินช่วยเหลือ และให้เร่งปรับปรุงเส้นทางการขนส่ง
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกสินค้า ประกอบกับต้นทุนสำคัญ อาทิ ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศที่สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2567 และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ระดับสูง นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงาน และอัตราค่าจ้าง ตามมาตรฐานฝีมือ (พนักงานขับรถบรรทุก) อาจจะปรับขึ้นตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในประเทศปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการของภาครัฐ และความเสี่ยงจากการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อาจจะส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ไม่เป็นไปตามที่คาดได้
ทั้งนี้ ในปี 2568 ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย รวมถึงธุรกิจให้บริการการขนส่งสินค้าในประเทศ อาจจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก
แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งเรื่อง ภาระหนี้สินของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนในการดำเนินมาตรการ ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
รวมถึง ภาคการขนส่งสินค้าทางถนนในประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัลให้มากขึ้น โดยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการให้บริการ เพิ่มศักยภาพบุคลากร และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งมอบและผู้ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น