“เซินเจิ้น” สร้าง เมืองศูนย์กลางโลจิสติกส์ ดันเป็น “ฮับ”ขนส่งระดับโลก
"เมืองเซิ้นเจิ้น" ไฟเขียว สร้าง “เมืองศูนย์กลางโลจิสติกส์”ดันเป็น "ฮับโลจิสติกส์์"ที่ทรงอิทธิพลระดับโลก รวมระบบโลจิสติกส์ 4 รูปแบบ เรือ อากาศการค้าและบริการอุตสาหกรรม ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้ทะลุ 4 แสนล้านหยวนในปี 2568
KEY
POINTS
Key Point
- ท่าอากาศยานเซินเจิ้น ติดอันดับ TOP 20 ของโลก
- เมืองเซินเจิ้น เตรียมเป็นเมืองศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติ “รวมระบบโลจิสติกส์ 4 รูปแบบ เรือ อากาศการค้า บริการและอุตสาหกรรม
- ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้ทะลุ 4 แสนล้านหยวนในปี 2568
- ปัจจุบัน เมืองเซินเจิ้นจึงมีบริษัทโลจิสติกส์มากกว่า 80,000 แห่ง
เว็ปไซต์จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองกวางโจว ประเทศจีนรายงานว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้ "เมืองเซินเจิ้น" ได้รับการอนุมัติให้สร้างเมือง"ศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติ" ที่ผสมผสานรูปแบบทั้งสี่เข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ รูปแบบท่าเรือ รูปแบบท่าอากาศยาน รูปแบบการให้บริการด้านการค้า และรูปแบบการให้บริการด้านอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เมืองเซินเจิ้นกำลังเร่งสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ทรงอิทธิพลระดับโลก และมุ่งมั่นที่จะเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้ทะลุ 4 แสนล้านหยวนในปี 2568
ข้อมูลระบุว่า ปี 2566 อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของเมืองเซินเจิ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 352,235 ล้านหยวน เติบโต 6 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 10.18 % ของ GDP ทั้งเมือง
ในปี 2567 ตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงเดือนก.ค. ดัชนีความเจริญรุ่งเรือง (Prosperity Index) เฉลี่ยของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเมืองเซินเจิ้นคิดเป็น 51.80%สูงขึ้นจุด 8.29% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนมูลค่าของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเมืองเซินเจิ้นเพิ่มขึ้นเป็น 166,381 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าจับตามองคือ การขนส่งทางท่าเรือ ณ วันที่ 15 ก.ย.ของปีนี้ ท่าเรือเซินเจิ้นมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์กว่า 23,277,600 ตู้ เพิ่มขึ้น 14.13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
เดือนม.ค.-ส.ค.ท่าอากาศยานเซินเจิ้นมีปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 1,179,000 ตัน เพิ่มขึ้น 16.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีปริมาณการขนส่งเป็นอันดับที่ 3 ของจีน ซึ่งเป็นปริมาณการขนส่งระหว่างประเทศ/ภูมิภาค 601,000 ตัน เพิ่มขึ้น 23.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 51 %
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากเมืองเซินเจิ้นไปยังกรุงธากาประเทศบังคลาเทศอย่างเป็นทางการ ปัจจุบัน เที่ยวบินการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศแบบเหมาลำของท่าอากาศยานเซินเจิ้นจึงมีประเทศปลายทางรวมทั้งสิ้น 39 แห่ง
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศของท่าอากาศยานเซินเจิ้นประสบความสำเร็จทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้าต่อปีสูงถึง 1.6 ล้านตัน ติดอันดับ TOP 20 ของโลก และติดอันดับ TOP3 ของท่าอากาศยานภายในประเทศมาอย่างเหนียวแน่น เพื่อเร่งสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติรูปแบบท่าอากาศยานระดับสูง
"ท่าอากาศยานเซินเจิ้น"จึงได้เปิดตัวโครงการการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์จำนวน 8 โครงการ ด้วยการลงทุนรวมกว่า 5,000 ล้านหยวน เปิดใช้งานเขตดูแลเฉพาะด้านสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแห่งแรกในประเทศ โดยดึงดูดบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนชั้นนำเข้ามาจัดตั้งบริษัท อาทิ 菜鸟 (Cainiao) 云途 (YunExpress) เป็นต้น ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่ขนส่งสินค้าทางอากาศขยายตัวมากกว่า 10 เท่าใน 3 ปี
อีกทั้งได้เปิดใช้งานคลังสินค้าเพื่อเตรียมส่งมอบ (Forward Warehouse) หลายแห่ง เช่น จงซาน เจียงเหมิน ตงก่วน เจิ้งเฉิง เป็นต้น ซึ่งช่วยให้สามารถจัดส่งสินค้าที่ผลิตในเขตกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า (Greater Bay Area) กระจายไปยังทั่วโลกโดยผ่านเมืองเซินเจิ้น คาดว่าภายในปี 2568 ความสามารถ ในการจัดการสินค้าและพัสดุไปรษณีย์ประจำปีของท่าอากาศยานเซินเจิ้นจะเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านตันจากฐานเดิมที่มีอยู่
เนื่องด้วยการยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิกติกส์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน เมืองเซินเจิ้นจึงมีบริษัทโลจิสติกส์มากกว่า 80,000 แห่ง และเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นมาอีกมากมาย อาทิ โลจิสติกส์สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน การจัดส่งแบบไร้คนขับ การขนส่งแบบ ไร้คนขับ เป็นต้น ด้วยข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของเมืองเซินเจิ้น ซึ่งมีการเชื่อมต่อทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ หลายบริษัทจึงได้เปิดให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร ตลอดจนพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อแก้ไข Pain Point ในด้านการติดตามสินค้า การควบคุมความเสี่ยง และด้านอื่น ๆ ของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์แบบดั้งเดิม
ในฐานะที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบโลจิสติกส์ทั่วประเทศ การสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติ “สี่รูปแบบ” ของเซินเจิ้น จึงเป็นการสั่งสมแรงผลักดันที่เพียงพอสำหรับ การพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์คุณภาพสูง
โดยมอบบริการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากขึ้นให้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิต การหมุนเวียนทางการค้า เป็นต้น เนื่องด้วย การเปิดกว้างสู่ภายนอกมากขึ้นของเมืองเซินเจิ้น การสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติจะช่วยยกระดับความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศของเซินเจิ้น ช่วยขยายการนำเข้าส่งออก และยกระดับความสามารถในการจัดทรัพยากรไปสู่สากล
ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองกวางโจว ได้ประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย ว่า ระบบโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การสร้างและพัฒนาศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติในเซินเจิ้นนี้ เป็นที่น่าจับตามองและมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากมณฑลกวางตุ้งเป็นกำลังหลักและอยู่แนวหน้าในด้านการค้าระหว่างประเทศ เป็นมณฑลที่มีมูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลกสูงที่สุดในจีน และมีมูลค่านำเข้าจากไทยสูงที่สุดด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อศูนย์กลางโลจิสติกส์มีความสะดวก ครบครัน และทันสมัยมากขึ้น การกระจายสินค้าจึงรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นโอกาสใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่จะส่งออกสินค้ามายังประเทศจีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการผลักดันการขยายตัวของการค้าระหว่างไทย-จีน
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาเส้นทางการขนส่งของจีนและติดตามสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งของรัฐบาลจีน อาทิ เส้นทางการพัฒนาเส้นทางการขนส่ง สถานการณ์ราคาการขนส่ง ภาษี ฯลฯ เพื่อปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม การเปิดเส้นทางการขนส่งใหม่ ๆ ของจีน อาจส่งผลให้ไทยมีประเทศคู่แข่งทางการค้าเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรศึกษาเส้นทางการขนส่งของจีนและหาแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน ในการพัฒนาเส้นทางการขนส่งไทย-จีนเส้นทางใหม่ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ในระยะยาว และนำไปสู่การส่งเสริมการค้าระหว่างไทย-จีน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น