“แจกเงิน”ซ้ำเติมการคลังไทยดันหนี้ท่วมแม้ปี68บริโภคหนุนจีดีพีโต3.1%
ปี 2568 น่าจะเป็นปีแห่งความหวัง ที่เศรษฐกิจไทยจะผงกหัวขึ้นหลังจากอยู่ในภาวะซบเซาไร้ทางออกมานาน โดย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ออกรายงาน “OECD Economic Outlook, Volume 2024 Issue 2 Resilience in uncertain times"
เมื่อ 16 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ในส่วนของการประเมินเศรษฐกิจของไทย ระบุว่า คาดการเติบโตของ จีดีพี ที่แท้จริงของประเทศไทยจะแข็งแกร่งขึ้นจาก 2.7% ในปี 2567 เป็น 3.1% ในปี 2568
โดยมี การบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ซึ่งเป็นผลจากการแจกเงินสดและอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ขณะที่การลงทุนจะฟื้นตัวจากความอ่อนแอในช่วงครึ่งแรกของปี2567 ทั้งนี้ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังจะช่วยสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศด้วย แต่ก็ต้องคงสมดุลจากปัจจัยลบจากอุปสงค์ภายนอกจะอ่อนแอลงกับสินค้าบางกลุ่ม เช่น ยานยนต์ ขณะเดียวกันเมื่อโครงการแจกเงินสดชั่วคราวหรือ โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ตามเงื่อนไขเดิม “ถูกยกเลิก”ไปนั้น อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้น้อยลง และน่าจะเห็นการเติบโตที่แท้จริงในในปี 2569
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะต้องมีการปรับสมดุลทางการคลังเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะ ,ต้องเสริมสร้างกลุ่มเปราะบางให้เข้มแข็งขึ้นหรือประคองตัวอยู่ได้ ส่วนจุดยืนนโยบายการเงินต้องดูที่ภาคการผลิตและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับชะลอตัวแล้ว
ปัจจัยลบอีกประการคือ ความไม่สมดุลของตลาดแรงงานที่ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหาที่รอการแก้ไข ผ่านการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ การปฎิรูปการศึกษา และการปฏิรูปเพื่อจูงใจให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้
“การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคจากการแจกเงินสดจะกระตุ้นอุปสงค์ และภาคการผลิตจะเติบโตได้ลดลงเล็กน้อยเท่านั้น ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังหลอนการบริโภค ซึ่งสินค้าที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ภาคยานยนต์และบริการ ”
นอกจากนี้ โครงสร้างการผลิตของไทยยังเผชิญกับแรงกดดันจากการส่งออกที่ทำให้การผลิตลดลง แม้ในช่วงท้ายของปี 2567 ไทยเผชิญกับการส่งออกรถยนต์ที่ซบเซา แม้ว่าการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะฟื้นตัวแล้วก็ตาม
ขณะที่การว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการกระตุ้นทางการคลังด้วยการแจกเงินบางส่วน ทำให้จีดีพีไตรมาส 3 ของปี 2567 สามารถเติบโตได้อย่างน่าประหลาดใจที่ 4.9%
ด้านเงินเฟ้อที่ 0.6% ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดแต่ก็ยังเป็นการเพิ่มที่อยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 1-3% ซึ่งเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ย.ที่ผ่านมา
รายงานระบุถึง นโยบายการเงินว่า ควรดำเนินไปในแบบกลางๆ(neutral) แม้ว่านโยบายการคลังจะยังคงขยายตัว โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 2.25% ในเดือนต.ค. 2567 หลังจากคงไว้ที่ 2.5% ตั้งแต่เดือนก.ย. 2566
" การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้แสดงถึงการคงจุดยืนเป็นกลางไว้ แต่ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยจะลดลง หลังจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นสุด การลงทุน การบริโภค และการส่งออกลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ"
รายงานย้ำว่า นโยบายการเงินของไทยอยู่ในระดับที่ น่าเชื่อถืออย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยอิงจากกรอบนโยบายที่มั่นคง และการดำเนินนโยบายการเงินที่รอบคอบและเป็นอิสระ ซึ่งการรักษากรอบนโยบายที่มั่นคงนี้ไว้จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ หากหันมาดูเรื่อง“ภาระหนี้สาธารณะ” ซึ่งอยู่ในระดับคงที่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่นั่น คือ หนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 63.3% ของจีดีพี ณ สิ้นเดือนก.ย.2567 ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19ประมาณ 20% แต่การขาดดุลการคลังก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น จากโครงการแจกเงินของรัฐบาล จากการเบิกจ่ายงวดแรก 10,000 บาทต่อครัวเรือน เริ่มตั้งแต่เดือนต.ค. 2567 และยังมีแผนเบิกจ่ายอีก 2 งวด เพื่อบรรลุเป้าหมายสุดท้ายคือให้ครอบคลุมประชากร 45 ล้านคน หรือประมาณ 60% ของประชากรไทย
“การมุ่งเป้าให้ครอบคลุมอย่างกว้างขวางเช่นนี้ กลายเป็นว่าไปจำกัดประสิทธิภาพการใช้เงินเพื่อลดความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม”
รายงานสรุปว่า การเติบโตของผลผลิตในปี 2568 คาดว่าจะเติบโต 2.7% ส่วนการกระตุ้นการบริโภคในครัวเรือนจากการแจกเงินสดควบคู่ไปกับการลงทุนที่แข็งแกร่งขึ้นจะผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจได้ 3.1% ในปี2568 แต่เมื่อผลจากการแจกเงินหมดฤทธิ์ ก็จะทำให้ปี 2569 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 2.8% เท่านั้น
หากมองกันไปยาวๆ OECD แนะนำว่าไทยควรส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพในตลาดแรงงานเพื่อปลดล็อกการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งจำเป็นต้องเสริมสร้างการแข่งขันผ่านการปฏิรูปกฎระเบียบทางการค้า รวมถึงในภาคบริการ การลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดและการเสริมสร้างอำนาจการแข่งขัน นอกเหนือจากการปรับปรุงความโปร่งใสของสาธารณะเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ต้องเดินหน้า การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการมีบทบาทที่แข็งแกร่งขึ้นในการกำหนดราคาคาร์บอน และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น การส่งเสริมการขยายตัวของบริการควบคู่ไปกับการลดขนาดภาคการผลิตบางภาคส่วนซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับตัวในตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ
“การปรับปรุงด้านการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อลดความไม่ตรงกันของทักษะ แม้ในระยะกลาง ประเทศไทยจะเผชิญกับแรงกดดันด้านการใช้จ่ายอย่างมากจากความต้องการทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ประชากรสูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงสีเขียว แต่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐและเพิ่มรายได้ภาษีเชิงโครงสร้าง”
โดยการปรับปรุงเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อสวัสดิการทางสังคม เงินบำนาญพื้นฐาน และการเพิ่มระดับสวัสดิการ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน และสร้างโอกาสที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
รายงาน ระบุถึง ภาพรวมเศรษฐกิจโลก ปี 2568 ว่า สถานการณ์ยังมีความยืดหยุ่น(Resilience) แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความไม่แน่นอน เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นอย่างน่าทึ่ง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะช็อกครั้งใหญ่ เช่น โรคระบาดและวิกฤตพลังงาน
ในปี2568 การเติบโตของโลกยังคงมีเสถียรภาพ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงลดลง ตลาดแรงงานจะผ่อนคลายลงบ้างด้วยอัตราการว่างงานยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ส่วนการค้าโลกก็จะฟื้นตัว
"คาดว่า GDP ทั่วโลก ปี 2567 ขยายตัว 3.2% ปี 2568 และ ปี 2569 ขยายตัว 3.3% และอัตราเงินเฟ้อลดลงตามเป้าหมายของธนาคารกลาง ท่ามกลางความเสี่ยงด้านลบและความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดทางการค้าและการปกป้องทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก
“แหล่งที่มาของความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากประเทศไทยคือ การเงินของภาครัฐ เนื่องจากหนี้สาธารณะยังคงอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศรายได้น้อยบางแห่งอยู่ในภาวะวิกฤตหนี้หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะวิกฤตหนี้ ”
หลายประเทศและรวมถึงไทยกำลัง เผชิญกับความท้าทายทางการคลังและหนี้สินจำนวนมาก แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ ประชากรสูงอายุ และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวและราคาพลังงานทำให้ความท้าทายเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้สถานะทางการคลังตึงเครียดและอาจเป็นอันตรายต่อความสามารถของรัฐบาลในการตอบสนองต่อวิกฤติในอนาคตอีกด้วย จากคาดการณ์นี้ก็พอจะเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ไปในทิศทางที่ถูกที่ควร “ทราบแล้วเปลี่ยน”