"คลัง" อัดซอฟต์โลน 2 หมื่นล้าน เติมสภาพคล่อง SME ดอกเบี้ยคงที่ 3% 3 ปี

"คลัง" อัดซอฟต์โลน 2 หมื่นล้าน เติมสภาพคล่อง SME ดอกเบี้ยคงที่ 3% 3 ปี

"คลัง" เติมสภาพคล่อง SME อัดซอฟต์โลน 20,000 ล้าน ผ่าน SME D Bank ปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน เล็งช่วยรายย่อย ภาคบริการ ค้าปลีก รัฐช่วยอุดหนุนดอกเบี้ย อัตราคงที่ 3% 3 ปี

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (7 ม.ค.68) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอให้มีการใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพิ่มเติมในการเติมสภาพคล่องให้กับกลุ่ม SME ที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินพาณิชย์ เนื่องจากยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในภาวะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) เป็นผู้ดำเนินมาตรการด้านการเงิน 2 โครงการ ดังนี้

1.โครงการสินเชื่อ “ปลุกพลัง SME” วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการให้กับ SME รายย่อยที่มีความเปราะบาง มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1–3 ที่ 3% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอถึงวันที่ 30 ธ.ค.2568

2.โครงการสินเชื่อ Beyond “ติดปีก SME” วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ปรับเปลี่ยนทรัพย์สินหรือเครื่องจักร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้กับ SME ที่มีรายได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1–3 ที่ 3% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือน รับคำขอถึงวันที่ 30 ธ.ค.2568

ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการข้างต้นรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ผ่านกลไกมาตรา 28 รวมเป็นวงเงิน 1,800 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุน SME ในทุกภาคธุรกิจทั้งในส่วนของ SME รายย่อย และมีความเปราะบาง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึง และมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจทันที

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การดำเนินมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลน โดยธนาคารออมสิน วงเงิน 1 แสนล้าน ดอกเบี้ย 0.01% ที่ปล่อยให้กับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีการอนุมัติแล้วเกินครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปล่อยสินเชื่อยังคงมีความเข้มงวด และยังเข้าไม่ถึงรายย่อยที่มีความเสี่ยงสูง การดำเนินมาตรการซอฟต์โลนผ่าน SME D Bank จึงมีเป้าหมายที่จะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเหล่านี้ โดยมีเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนมากขึ้น โดยเฉพาะ SME รายย่อย ในภาคบริการ ค้าปลีก

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์