“ข้อตกลงการค้า”แห่งอนาคตต้องพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม-ดิจิทัล

“ข้อตกลงการค้า”แห่งอนาคตต้องพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม-ดิจิทัล

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกทั้งปัจจัยเดิมคือความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และปัจจัยใหม่จากทรัมป์ 2.0 กำลังทำให้ทั่วโลกอยู่ในอาการหวาดผวา แต่การพัฒนาจะหยุดนิ่งไม่ได้ การเคลื่อนตัวของการค้าและการลงทุนยังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดหยั้ง

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) เปิดรายงาน การค้าและการลงทุนเอเชียแปซิฟิก 2024/25หรือ  Asia-Pacific Trade and Investment Briefs 2024/25 สาระสำคัญส่วนหนึ่งเล่าถึงความโดดเด่นแห่งภูมิภาคเอเชียที่ สามารถเติบโตได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก เป็นผลจากการค้าสินค้าและบริการ,ข้อตกลงการค้าที่เต็มไปด้วยสิทธิพิเศษและเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI )

"การเติบโตทางการค้าที่แข็งแกร่งขึ้นขับเคลื่อนด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 3.4% และการนำเข้าจริงที่เติมโตได้ 3.6%  ขณะอัตราการเติบโตส่งออกทั่วโลกที่ 1.8% และการนำเข้าเติบโตที่  2.2% และเอเชียยังชิงส่วนแบ่งตลาดจากการส่งออกในปี 2024 ที่ 38.9% ของการส่งออกทั่วโลก และ ส่วนแบ่งการนำเข้าที่ 36.7% ของการนำเข้าทั่วโลก โดยมีกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนเป็นผู้เล่นหลักที่มีอัตราการขยายตัวทางการค้าจริงถึง 5.8%" 

สำหรับปัจจัยที่ส่งเสริมให้เอเชียยังแข็งแกร่งทางการค้าและการลงทุนท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆทั่วโลกนั้น มาจาก การค้าภายในภูมิภาคกันเอง ที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 60% และ การปรับโครงสร้างการค้าที่สะท้อนการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่มูลค่าทั่วโลกที่ตอบสนองต่อความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ในจุดต่างๆ

ทั้งนี้ เอเชียและแปซิฟิกยังคงเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของนักลงทุน โดยแนวโน้มFDIต่างมุ่งมาที่ภูมินี้ อุตสาหกรรมการสื่อสาร(The communications industry) เป็นกลุ่มที่มีการลงทุนสูงสุด โดยเมื่อปี 2024 เพิ่มขึ้นถึง 69%_ มูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์ เป็นรองเพียงอุตสาหกรรมพลังงานที่ มีมูลค่า 58,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 

“อินเดียกลายเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของการลงทุนFDI ในภูมิภาค โดยดึงดูดเงินลงทุนได้ 76,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งขับเคลื่อนโดยโครงการเซมิคอนดักเตอร์และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งทิศทางเดียวกับทั้งภูมิภาคที่การลงทุนมุ่งไปที่การสร้างความยั่งยืน”

นอกจากนี้ ปัจจัยการทำ ข้อตกลงการค้าพิเศษ (PTA) หรือ preferential trade agreements (PTAs) สูงในสัดส่วนถึง 60% ของข้อตกลงPTA ทั่วโลก ทำให้เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีข้อตกลงการค้าที่ยุ่งเหยิง หรือ แบบ “ชามก๋วยเตี๋ยว”  หรือ “noodle bowl” เพราะมีข้อตกลงทางการค้ามากถึง   374 ฉบับ 

“ยังจะมีข้อตกลงใหม่ๆที่จะลงนามในปี2025 อีก หลักๆเพื่อมุ่งไปสู่การกระจายคู่ค้าออกไปนอกภูมิภาค  แต่สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับข้อตกลงการค้าใหม่ๆคือ ความพยายามพัฒนาการค้าที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน และ การครอบคลุมข้อกำหนดสำหรับการค้าดิจิทัลด้วย ”

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำหนดมาตรฐานใหม่ด้วยการขยายความร่วมมือในภูมิภาคให้กว้างไกลออกไปนอกแพลตฟอร์มแบบดั้งเดิมและนำกรอบงานนวัตกรรมมาใช้ พัฒนาเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกมีส่วนร่วมและแข็งขัน

ในข้อตกลงการค้าที่บูรณาการการค้า การลงทุน และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ‘ข้อตกลงเศรษฐกิจสีเขียว’ และ ‘ข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การค้า และความยั่งยืน’  หรือ ‘Agreement on Climate Change, Trade and Sustainability’ (ACCTS) หรือ  ‘ข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล’ แบบเฉพาะ (stand-alone)ในภูมิภาคก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

ความตกลงทางการค้าของเอเชียแปซิฟิก ยังไม่รวมถึงการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือใหญ่ๆที่มีอยู่ เช่น นอกจากนี้ ข้อตกลงเหล่านี้ยังขยายอิทธิพลผ่านความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ แบบใต้-ใต้และเหนือ-ใต้ (South-South and North-South strategic partnerships) เช่น   กลุ่ม BRICS  และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity –IPEF)

องค์ประกอบทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น ศักยภาพที่มีอยู่เดิม การค้าที่แข็งแกร่งภายในภูมิภาค ความพยายามยกระดับเศรษฐกิจในเข้าสู่การพัฒนาแห่งอนาคต ทั้ง เซมิคอนดักเตอร์ และเศรษฐกิจดิจิทัล แถมด้วยสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการสร้างข้อตกลงทางการค้าที่ทันสมัยกำลังทำให้เอเชียแปซิฟิก รวมถึงไทยสามารถเติบโตได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกได้ นับเป็นอรุณรุ่งแห่งการค้าและการลงทุนในปี 2025 นี้