"คลัง" คาดพ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.2567 จัดเก็บรายได้ปีแรก 1.2 หมื่นล้าน

"คลัง" คาดพ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.2567 จัดเก็บรายได้ปีแรก 1.2 หมื่นล้าน

"จุลพันธ์" เผยพรุ่งนี้ (8 ม.ค.) เตรียมชี้แจง พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม ในสภา เก็บภาษีขั้นต่ำ (GMT) บริษัทข้ามชาติ คาดปีแรกจัดเก็บรายได้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาพรุ่งนี้ (8 ม.ค.2567) จะมีการบรรจุวาระการอภิปราย พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568 โดยจะมีผลใช้บังคับแก่นิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร หรือ 2.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่มเป็นไปตามมาตรการจัดเก็บภาษีขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ในอัตราไม่ต่ำกว่า 15% ตามหลักการของ pillar 2 ซึ่งเป็นกติกากลางที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 40 ประเทศแล้วเข้าสู่กระบวนการเหล่านี้ 
 

“ในอนาคต บริษัทใดก็ตามที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีเงินได้ขั้นต่ำที่ 15% หากไทยไม่มีกฎหมายบังคับใช้สุดท้ายบริษัทนั้นจะต้องกลับไปเสียภาษีที่ประเทศต้นทาง”

ทั้งนี้ หากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเสียภาษีที่ประเทศไทยก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศในการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งจะต้องจัดสรรไว้สำหรับสร้างแรงจูงใจในการลงทุนให้กับธุรกิจต่างชาติ และส่วนหนึ่งสามารถนำมาพัฒนาประเทศต่อไปได้ โดยกระทรวงการคลังประเมินว่าการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มในปี 2568 จะสามารถจัดเก็บรายได้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี เดินทางไปเจรจาดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและทุกครั้งจะได้รับคำเรียกร้องให้ไทยเร่งดำเนินการเรื่อง pillar 2 ให้เรียบร้อย เราจึงได้ดำเนินการให้ทันกรอบเวลา เพราะรัฐบาลมองว่าเป็นจุดที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ เข้ามาในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อการเก็บภาษีเงินได้ขั้นต่ำมีผลบังคับใช้ จะกระทบกับการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เนื่องจากผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ จะยังต้องกลับไปเสียภาษีที่ประเทศต้นทางอยู่ดี ดังนั้นมาตรการดึงดูดการลงทุนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ทั้งนี้ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการเสียภาษีมากขึ้น แต่จะสามารถเลือกได้ว่าจะเสียภาษีในประเทศต้นทาง หรือเสียภาษีที่ประเทศไทย