'วีริศ อัมระปาล' มุ่งโจทย์ใหญ่ การรถไฟฯ สางหนี้ 2 แสนล้าน

'วีริศ อัมระปาล' มุ่งโจทย์ใหญ่ การรถไฟฯ สางหนี้ 2 แสนล้าน

“วีริศ อัมระปาล” กางโจทย์ 4 ปีบนเก้าอี้ผู้ว่าการรถไฟฯ เดินหน้าสางหนี้สะสม 2 แสนล้านบาท ชู วิสัยทัศน์ 6 ด้าน เร่งลดค่าใช้จ่าย - บริหารบุคลากร พร้อมดึงที่ดิน 246,880 ไร่พัฒนาเชิงพาณิชย์ นำร่องปีนี้ปั้นที่ดินแปลงใหญ่ทำเลทอง 28 แห่ง

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปัจจุบันเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในขั้นตอนฟื้นฟูกิจการ หลังจากมีหนี้สะสมมากกว่า 2 แสนล้านบาท ล่าสุด “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าฯ คนใหม่ที่รับตำแหน่งเมื่อ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ออกมาฉายภาพทิศทางการทำงานในช่วง 4 ปีนับจากนี้ เพื่อเป้าหมายลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ นำมาสู่การหยุดขาดทุน และล้างหนี้สะสม

นายวีริศ เผยว่า ภายหลังจากได้เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. มีโอกาสลงพื้นที่ดูงานในเส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย - ท่านาแล้ง ได้พบปะพนักงานในส่วนภูมิภาค และได้รับฟังการดำเนินงานต่างๆ ของการรถไฟฯ โดยในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงโอกาสที่จะทำให้การรถไฟฯ ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยวิสัยทัศน์ 6 ด้าน ได้แก่

1.การดำเนินกิจการเพื่อเพิ่มรายได้

2.พัฒนาการให้บริการของ รฟท.

3.ลดค่าใช้จ่าย

4.การบริหารจัดการบุคลากร

5.สนับสนุน ประสานงาน ติดตาม และเร่งรัดโครงการ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล

6.ดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

ขณะเดียวกันยังมีแนวทาง แนวคิด ในการแก้ปัญหาหนี้สิน การขาดทุน และการเพิ่มรายได้ โดยแนวทางการดำเนินกิจการเพื่อเพิ่มรายได้ รฟท.จะบริหารสินทรัพย์ร่วมกับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ผลักดันให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ และเอกชน (PPP) ในพื้นที่ ที่มีศักยภาพสูง (TOD) เนื่องจากปัจจุบันที่ดินของการรถไฟฯ มีทั้งหมด 246,880 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ Core Business เป็นพื้นที่ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ จำนวน 201,868 ไร่ และพื้นที่ Non-Core Business ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ จำนวน 45,012 ไร่

โดยเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2567 รฟท. ได้ส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ให้กับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อย่างเป็นทางการ จำนวน 12,233 สัญญา บนพื้นที่กว่า 38,469 ไร่ เพื่อให้บริษัทลูกของการรถไฟ นำไปบริหารจัดการสัญญาเช่า โดยที่ทรัพย์สินทั้งหมดยังเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ

นอกจากนี้ รฟท.ยังเร่งรัดแผนการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ อีก 28 แปลง ที่สามารถพัฒนาพื้นที่ และสร้าง และสร้างรายได้ให้แก่ รฟท. โดยเบื้องต้น บริษัท SRTA ได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โครงการ ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนเร่งด่วน ปี 2568 จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย

1.โครงการบางซื่อ - คลองตัน (RCA)

2.โครงการศิลาอาสน์แปลงย่อย

3.โครงการย่านบางซื่อ (แปลง A2) สถานีขนส่ง

อีกทั้งยังมีแผนเร่งด่วน ปี 2568 จำนวน 5 แปลง ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการเปิดประมูล ประกอบด้วย

1.โครงการสถานีราชปรารภ(แปลง OA)  

2.โครงการถนนพหลโยธิน (หัวมุม อตก.)

3.โครงการย่านสถานีหนองคาย (แปลง 5)

4.โครงการย่านสถานีหนองคาย (แปลง7)

5.โครงการตลาดคลองสาน

ขณะที่แผนระยะกลาง ปี 2569 – 2572 จะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บนที่ดินจำนวน 18 แปลง อาทิ โครงการย่านสถานีแม่น้ำ, โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง D), โครงการย่านบางซื่อ กม.11 (แปลง G2-G8), โครงการบริเวณท่านุ่น, โครงการย่านบางซื่อ (แปลง E1), โครงการย่านบางซื่อ (แปลง A2) สถานีขนส่ง, โครงการย่านสถานีมักกะสัน (แปลง B C E) และโครงการย่านชุมทางหาดใหญ่ (แปลง D)

รวมไปถึงโครงการตลาดศาลาน้ำร้อน (สถานีธนบุรี), โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง C ), โครงการบางซื่อ (แปลง A1) สนง.ใหญ่ รฟท., โครงการย่านบางซื่อ (แปลง A3-5), โครงการพัฒนาพื้นที่ขอนแก่น (แปลง B C D), โครงการย่านบางซื่อ (แปลง E2), โครงการย่านชุมทางหาดใหญ่ (แปลง E), โครงการย่านสถานีอุบลราชธานี, โครงการพัฒนาพื้นที่ศิลาอาสน์ (124 ไร่) และโครงการย่านสถานีนครราชสีมา (แปลง E)

ส่วนแผนระยะยาว ปี 2573 – 2577 จะมีการพัฒนาที่ดินจำนวน 9 แปลง ประกอบด้วย โครงการพัฒนาพื้นที่ธนบุรี 21 ไร่, โครงการย่านชุมทางหาดใหญ่ (แปลง A F G) , โครงการย่านสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง), โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง F), โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง B), โครงการพื้นที่ ที่หยุดรถตลาดหนองคาย, โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง H), โครงการย่านสถานีบางซื่อ (แปลง I) และโครงการย่านสถานีนครราชสีมา (แปลง F)

นายวีริศ กล่าวด้วยว่า รฟท.ในช่วง 4 ปีที่ตนเข้ามาบริหารนั้น จะลุยลดค่าใช้จ่าย โดยมอบให้บริษัทลูกรองรับงานด้านต่างๆ ร่วมกับเอกชนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ เดินหน้าโครงการในการผลิต และซ่อมบำรุงชิ้นส่วนโดยฝีมือคนไทย พร้อมทั้งศึกษาความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อบริหารต้นทุนในการบริการให้มีประสิทธิภาพ อาทิ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ Command Center

นอกจากนี้ ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องบริหารจัดการบุคลากร ปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กร และแนวทางการแต่งตั้งโยกย้าย ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม และจริยธรรม สร้างองค์กรที่มีความทันสมัยทางเทคโนโลยี ภาพลักษณ์ที่ดี และมีหน่วยงาน R&D เป็นของตัวเอง เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง รวมทั้งผลิตบุคลากร รฟท. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมองโอกาสในการร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และมหาวิทยาลัยต่างๆ พัฒนาสิ่งเหล่านี้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์