‘รัฐ’ เดินเกมบีบเอกชนลดค่าไฟ เปิดทางผู้ผลิตลด 'ค่าพร้อมจ่าย' แลกต่อสัญญา

‘รัฐ’ เดินเกมบีบเอกชนลดค่าไฟ เปิดทางผู้ผลิตลด 'ค่าพร้อมจ่าย' แลกต่อสัญญา

“นายกฯ” ยันเป้าลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาท ค่อยเป็นค่อยไปดูแลประชาชน กกพ.รับนโยบายร่วมทุกฝ่าย กฟผ.ชี้ต้องได้รับการสนับสนุนทุกภาคส่วน “ผู้ผลิตไฟ” แนะแนวทางรัฐเจรจาการไฟฟ้าลดค่าใช้จ่ายสายส่ง ระบบจำหน่าย ลดค่าพร้อมจ่ายแลกต่อสัญญารับซื้อไฟฟ้า ระยะยาวเพิ่มสัดส่วนซื้อ RE

รัฐบาลดำเนินนโยบายปรับลดราคาพลังงานเพื่อเป็นการลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยล่าสุดการรัฐบาลตอบรับข้อเสนอการลดค่าไฟฟ้าจาก 4.15 บาทต่อหน่วยในปัจจุบันให้มาเหลืออยู่ที่ 3.70 บาท ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค. - เม.ย.2568 อยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท

ทั้งนี้ นายทักษิณ ระบุว่า ได้หารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหาทางช่วยกัน โดยเห็นว่ารีดไขมันเพื่อลดค่าไฟฟ้าได้อีก

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปได้เรื่องของการลดค่าไฟให้เหลือ 3.70 บาท ว่า การปรับลดค่าไฟเป็นสิ่งที่รัฐบาลเน้นย้ำอยู่แล้วว่าต้องการจะลดค่าไฟให้ถูกลง หรือไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพพื้นฐานของประชาชน เพื่อจะให้แข่งขันได้ในเวทีโลกก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการลดต้นทุน

ทั้งนี้ หากรัฐบาลหารือ และเจรจาในการลดต้นทุนได้ทุกฝ่ายร่วมมือกันก็เกิดประโยชน์กับประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐบาลมุ่งเน้นเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนหรือการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ส่วนตัวเลข 3.70 บาทต่อหน่วย ที่สื่อมวลชนถามมานั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นตัวเลขเป้าหมายที่อยากจะทำให้ได้

ส่วนประเด็นการลดค่าไฟฟ้าลงถึง 0.45 บาท นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องมีการตกลงกัน และต้องพูดคุยกับหลายฝ่าย ที่ต้องดู และตัดในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป ส่วนเรื่องค่าไฟที่มีการซ้ำซ้อนกันต้องคุยกันทุกภาคส่วน เพื่อตกลงกันในการลดค่าไฟได้ ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ก็เป็นเป้าหมายของรัฐบาลขอประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง และเป็นเรื่องแรกๆ ในการจัดลำดับความสำคัญของปีนี้ ในการพูดคุย

“ตัวเลข 3.70 บาท ถามว่ามีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ต้องมีการหารือกันต่อ แต่จากตัวเลขที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จะต้องค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ เรื่องดีๆ ต้องตั้งให้เป็นไปได้แล้วมันจะค่อยๆ เป็นไปได้” น.ส.แพทองธาร กล่าว

‘รัฐ’ เดินเกมบีบเอกชนลดค่าไฟ เปิดทางผู้ผลิตลด \'ค่าพร้อมจ่าย\' แลกต่อสัญญา

เมื่อถามอีกว่าเรื่องนี้เป็นหลักประกันให้กับนายพีระพันธ์ุ ถูกปรับออกจาก ครม. หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า

“ที่จริงไม่ทราบเลยว่าทำไม เพราะหลังไมค์เคยคุยกับสื่อมวลชนด้วยซ้ำว่าไม่เคยมีการพูดเรื่องการปรับ ครม. ยังไม่ได้พูดเลยด้วยซ้ำ คิดว่าอำนาจการปรับ ครม.น่าจะเป็นของนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรี ยังไม่ทราบเลย ว่าจะมีการปรับ ครม.เกิดขึ้น ท่านพีระพันธ์ุ ก็พูดคุยกันอยู่ในการประชุม ครม.ก็เจอกัน ไม่มีการจะปรับ” น.ส.แพทองธาร กล่าว

“คลัง” พร้อมหนุนผ่านกลไกภาษี

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้หารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโจทย์อย่างหนึ่งที่รัฐบาลใช้ความสำคัญ และเห็นชอบตรงกันมากกว่าแต่ต้น แม้แต่ขณะนี้เรื่องของค่าไฟฟ้าก็มีการสนับสนุนโดยรัฐมาโดยตลอด

ทั้งนี้ หลังจากนี้หากอาจจะมีการปรับโครงสร้างหรือการปรับลดราคาก็ต้องขึ้นอยู่กับกลไก และคนที่เป็นหัวเรือ ซึ่งกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง อาจจะใช้เรื่องการลดการจัดเก็บภาษีต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการหารือกัน 

กระทรวงการคลังพร้อมที่จะดำเนินการในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนแต่ก็ต้องดูเรื่องของผลกระทบในด้านการคลัง จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ดังนั้น กระทรวงการคลังพร้อมจะสนับสนุน ด้านกระทรวงพลังงาน จะต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะใช้กลไกใด ซึ่งตัวเลือกมีหลายแบบ”นายจุลพันธ์ กล่าว

กกพ.หาทางออกเป็นธรรมทุกฝ่าย

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำนักงาน กกพ.ยังไม่ได้รับการประสานมารัฐบาลจึงรอดูรายละเอียดก่อนว่าจะมีทิศทางอย่างไรบ้าง ดังนั้น หากประสานมาแล้วจะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กกพ.เพื่อดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และรอบคอบในทุกด้าน และเน้นให้เกิดประโยชน์ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

“กกพ.ได้รับข้อมูลจากการนำเสนอของสื่อมวลชนเท่านั้น จึงขอรอดูรายละเอียดของนโยบายก่อนว่าจะเป็นอย่างไร โดยในหลักการจะลดราคาได้มากน้อยแค่ไหนก็ต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้ไปกันได้ทุกฝ่าย” นายพูลพัฒน์ กล่าว

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า หากจะลดค่าไฟฟ้าลงอีกเพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชนก็พอทำได้อยู่ ทั้งนี้ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ อย่างเต็มที่

แนะรัฐเจรจาลดค่าสายส่ง-ระบบจำหน่าย

แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การปรับลดค่าไฟฟ้าให้อยู่ที่ราคา 3.70 บาท ในระยะสั้นดำเนินการได้ด้วย 2 วิธี คือ 1.การที่รัฐบาลเจรจากับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งค่าสายส่ง และค่าระบบจำหน่าย ซึ่งบางส่วนมีการซ้ำซ้อนกันและในอนาคตหากนำระบบมารวมกันของการไฟฟ้าแต่ละแห่งจะลดต้นทุนส่วนนี้ได้มาก 2.การที่รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเหมือนที่ผ่านมา

ส่วนการลดค่าไฟฟ้าระยะกลางดำเนินการได้ด้วย 2 แนวทาง คือ 1.การเจรจากับภาคเอกชนลดค่าพร้อมจ่าย ซึ่งปัจจุบันรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าในส่วนค่าความพร้อมจ่ายหรือค่าพลังไฟฟ้า (โรงไฟฟ้า กฟผ. โรงไฟฟ้าเอกชน และหงสา) ในอัตรา 0.80 บาท แต่การจะลดค่าความพร้อมจ่ายของภาคเอกชนจะต้องมีการเจรจาแก้ไขสัญญารับซื้อไฟฟ้า ซึ่งรัฐอาจจะมีเงื่อนไขให้เอกชน เช่น การขยายเวลารับซื้อไฟฟ้า

2. การเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) ที่ กพช.มีมติรับซื้อเมื่อปี 2565 รับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2.1679 บาท ส่วนไฟฟ้าพลังงานลม 3.1014 บาทต่อหน่วย และไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 2.0724 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่บางสัญญามีการรับซื้อที่ราคา 4 บาทต่อหน่วย

ผู้ผลิตไฟฟ้าไม่หวั่น Adder หมดสัญญา

นอกจากนี้ แม้ว่าค่า Adder จะทยอยหมดสัญญา แต่ผู้ผลิตไฟฟ้ายังได้รับเงินจากการขายไฟตามปกติ แม้ว่าภาครัฐจะไม่ต่อค่าแอดเดอร์ให้ อาจจะกระทบกับรายได้ที่ลดลงไปส่วนหนึ่ง ซึ่งผู้ผลิตไฟฟ้าได้เตรียมแผนธุรกิจรองรับเพื่อให้ไม่กระทบรายได้ในภาพรวม โดยมีโครงการอื่นๆ ที่ทยอย COD ตามแผนธุรกิจ 

อีกทั้ง หากภาครัฐอยากขอความร่วมมือกับเอกชน ทางผู้ประกอบการก็พร้อมรับฟัง และร่วมมืออย่างดี ซึ่งจะต้องดูรายละเอียดต่างๆ ร่วมด้วยเช่นกัน

“แม้ว่าสัญญาแอดเดอร์จะหมดแต่การขายไฟยังเป็นไปตามราคาซื้อขายทั่วไป แม้จะไม่ได้รับเงินมากเท่าเดิมแต่ก็ไม่ได้กระทบธุรกิจอะไร ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายต่างมีแผนรองรับอยู่แล้ว เพราะแต่ละรายจะทราบดีว่าสัญญาจะครบกำหนดเมื่อไหร่" แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม ส่วนจะให้เอกชนช่วยหั่นกำไรลงบ้างนั้น อาจจะต้องดูเป็นบางโครงการที่ได้กำไรกลับคืนมาแล้ว ส่วนบางโครงการที่ยังไม่คืนทุนก็คงทำไม่ได้ ทั้งนี้ จะลดกำไรเพื่อช่วยประชาชนเอกชนพร้อมร่วมมือ แต่ต้องอยู่ในกรอบ และกฎระเบียบภายใต้เงื่อนไขที่ยอมรับได้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์