ยุทธศาสตร์สามเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย: เครื่องยนต์ตัวใหญ่ ตัวใหม่ และตัวเล็ก

เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตช้าลงจากราว 8% ต่อปี ในช่วงปี 2523-2532 มาอยู่ราว 4% หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 จนถดถอยมาอยู่ที่ต่ำกว่า 3% ในช่วงสิบปีให้หลังนี้ การเติบโตที่ต่ำมากนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการอัดฉีดเงินการคลังเพิ่มได้มากนัก เพราะไทยขาดดุลการคลังต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 18 ปีแล้ว ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะสูงขึ้นจนอยู่ที่มากกว่า 60% ของจีดีพี มากไปกว่านั้น หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ของจีดีพีสะท้อนถึงขีดจำกัดที่จะสร้างการเติบโตด้วยการกระตุ้นบริโภคเช่นกัน
ทางออกของประเทศไทยอยู่ที่ไหน? เบื้องต้นเราจำเป็นที่จะต้องสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจสามตัว เพื่อที่จะเร่งเครื่องเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเดินหน้าได้เร็วและราบรื่น
สร้างเครื่องยนต์ตัวใหญ่ ที่กระฉับกระเฉงและสร้างสรรค์
รายงาน World Development Report (2024) ของธนาคารโลก เสนอว่าประเทศกำลังพัฒนาควรกระตุ้นบริษัทขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ (Disciplining powerful incumbents) ให้กระฉับกระเฉงและลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภาพและกระบวนการผลิตให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น หากไม่มีการกระตุ้นดังกล่าว บริษัทขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดและอำนาจต่อรองสูง (dominant power) ก็อาจจะใช้อำนาจนั้นแสวงหากำไรง่าย ๆ แทนการพัฒนา เช่น บริษัทอาจจะเลือกผลิตโดยใช้แรงงานราคาถูกต่อไป โดยไม่ลงทุนเครื่องจักรใหม่ และไม่ลงทุนอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นต้น
การจะกระตุ้นให้เครื่องยนต์ตัวใหญ่ ใช้กำไรสะสมไปในทิศทางที่ก้าวหน้าสร้างสรรค์ด้วยความเร็ว สามารถทำได้โดย 1. บังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรมและกระตุ้นการแข่งขัน 2. ลดอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของผู้แข่งขันรายใหม่ 3. สนับสนุนส่งเสริมบริษัทขนาดเล็กที่มีนวัตกรรมสูง และปกป้องมิให้ถูกรายใหญ่เอาเปรียบหรือ เข้าซื้อกิจการเพื่อฆ่าธุรกิจ (Killer acquisition)
และ 4. ผลักดันบริษัทขนาดใหญ่ที่รับความเสี่ยงได้มาก (เพราะมีกำไรสะสมสูง) ให้ดำเนินกิจกรรมที่ยากแต่ดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น การออกไปแข่งขันในตลาดโลก บุกตลาดเกิดใหม่ หรือ การลงทุนในนวัตกรรม เป็นต้น
จะเห็นว่าการกระตุ้นเครื่องยนต์ตัวใหญ่ เป็นเรื่องวิธีกำกับดูแลมากกว่าจะเป็นการกระตุ้นด้วยเงิน จึงไม่มีข้อจำกัดทางการคลังมากนัก (แต่มักจะเจอข้อจำกัดทางการเมืองเสียมากกว่า)
สร้างเครื่องยนต์ตัวใหม่ ด้วยเงินลงทุนระหว่างประเทศและการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก
การสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ หมายถึงการ พัฒนาอุตสาหกรรมและสาขาการผลิตใหม่ที่ซับซ้อนขึ้น โดยมีผู้ประกอบการไทยและแรงงานไทยมีส่วนร่วมและส่วนแบ่งได้อย่างมีนัยสำคัญ ธรรมชาติอุตสาหกรรมใหม่มักเกิดจากการดึงดูดเงินลงทุนทางตรงจากประเทศและบริษัทที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (High-tech FDI) เข้ามาพร้อมร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยหรือใช้ผู้ผลิตส่วนประกอบไทย และค่อย ๆ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่คนไทยได้เรียนรู้
ธนาคารโลกเรียกกระบวนการนี้ว่าการปรับจากการเติบโตด้วยเงินลงทุน (Investment-led growth) ไปสู่การผสมผสานดูดซับความสามารถ (Infusion) และการสร้างนวัตกรรม (Innovation) เราสามารถส่งเสริมกระบวนการดูดซับความสามารถทางการผลิตจากต่างประเทศได้โดย 1. การดึงดูดและให้สิทธิพิเศษการลงทุน ควรมีเงื่อนไขที่เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการจ้างงานทักษะสูงแก่คนไทย
2. ส่งเสริมให้บริษัทขนาดกลางและเล็กของไทยเป็นคู่ค้ากับผู้ลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ชิลีมี Supplier Development Program ช่วยให้บริษัทขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการมียอดขายเพิ่มขึ้น 16% และการจ้างงานเพิ่มขึ้น 8% โดยประมาณ 3. ดึงดูดคนไทยที่เก่งกาจในอุตสาหกรรมเป้าหมายกลับประเทศ และ 4. มาตรการพัฒนาทักษะแรงงานให้ทันเทคโนโลยีและตรงกับอุตสาหกรรมใหม่ เป็นต้น
ในสาขาการผลิตที่ผู้ประกอบการและแรงงานปรับตัวได้ทันแล้ว การส่งเสริมให้บริษัทไทยวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเอง (อาจจะกลางน้ำ หรือ ปลายน้ำก็ได้) และส่งออกสินค้านวัตกรรมเหล่านั้นให้แก่โลกจะสำคัญอย่างมาก รวมไปถึงการสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมบริษัทขนาดเล็กที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นและมุ่งเน้นการขยายตัวอย่างรวดเร็ว (High-tech start-ups) เป็นต้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดในกลุ่มเครื่องยนต์ตัวใหม่นี้ได้แก่ BOI และ กระทรวง อว. (โดยเฉพาะ สอวช., สกสว. และ PMU)
จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะพบว่า การสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ แท้จริงแล้วก็คือ การส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศในวันนี้ ให้กลายไปเป็นบริษัทและแรงงานไทยที่เข้มแข็งในวันข้างหน้า ซึ่งจะช่วยทำให้สินค้าไทยส่งออกได้มากขึ้น ผลิตภาพสูงขึ้น มีความต้องการแรงงานทักษะและเงินเดือนสูงขึ้น ทำให้รายรับครัวเรือนและการบริโภคสูงขึ้นในระยะยาว ผลคือ การลงทุนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ จะแปลงไปเป็นการเติบโตระยะยาวของประเทศได้ในที่สุด
เครื่องยนต์ตัวเล็ก กระจายการเติบโตสู่ภูมิภาค
การพัฒนาแต่เครื่องยนต์ตัวใหญ่และตัวใหม่ อาจแก้ปัญหาเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่จะนำมาสู่ปัญหาอีกด้านหนึ่งได้แก่ “ความเหลื่อมล้ำ” นอกจากนี้ยังอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น ไทยจึงมีความจำเป็นต้องส่งเสริม เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ขนาดเล็กแต่เก่งในสินค้าและบริการที่ตนเองผลิตและมีเอกลักษณ์ (Local growth engine) ซึ่งกระจายตัวตามภูมิภาคต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารที่ทำอาหารได้อร่อยมีประวัติศาสตร์ ร้านช่างฝีมือมูลค่าสูง หรือ ผู้ผลิตวัตถุดิบท้องถิ่นเช่นเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ สุราชุมชน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น (เหมือน โกเบ มีเนื้อวัวดี และ เกียวโต มีโรงสาเกเก่าแก่) เป็นต้น
หน่วยธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้นอกจากจะมีศักยภาพการเติบโตได้ดีแล้ว ยังมีข้อดีอีกสองประการ ได้แก่ 1.เพิ่มการกระจายรายได้ เพราะการที่ธุรกิจขนาดเล็กในต่างจังหวัดเติบโต จะช่วยปิดช่องว่างกับธุรกิจขนาดใหญ่และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ลง 2.มีผลบวกไปถึงการท่องเที่ยวซึ่งเป็นจุดแข็งเดิมของไทย
การขับเคลื่อนเครื่องยนต์ทั้งสามตัวไม่ง่าย จะทำได้สำเร็จต้องการการปฏิรูปภาพรวมอีกสามด้าน ได้แก่ 1. ปฏิรูปกฎหมายโดยตัดกฎหมายที่ไม่จำเป็น (Regulatory guillotine) และยุบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น, 2. ปฏิรูปขีดความสามารถและโครงสร้างระบบราชการ ให้พร้อมกับการทำนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรม และ 3. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างมียุทธศาสตร์ โดยทั้งสามด้านนี้ให้เริ่มจากจุดที่ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายก่อน จะทำได้เร็วยิ่งขึ้น
เศรษฐกิจไทยกำลังอ่อนแรงและติดหล่มลึก เราต้องการการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ และสร้างแรงผลักจากสามเครื่องยนต์เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ทั้งตัวใหญ่ ตัวใหม่ และตัวเล็ก จึงจะมีแรงส่งมากพอให้เดินหน้าต่อได้ครับ