‘คลัง’ เร่งดันวอลเล็ต ‘คริปโท’ ฝ่าด่าน ธปท.ลุยแซนด์บ็อกซ์
“คลัง” ลุยแซนด์บ็อกซ์ภูเก็ต หนุนใช้คริปโทเคอร์เรนซี ใช้จ่ายสินค้าในประเทศ เริ่มทดลองใช้ภายในปี 2568 เร่งเคลียร์ ธปท.ฝ่าด่านหิน การใช้คริปโทเคอร์เรนซี แลกเปลี่ยนขัด พ.ร.บ.การเงิน เปิดข้อกังวลแบงก์ชาติ 4 ประเด็นนำเงินดิจิทัลมาใช้แลกเปลี่ยนสินค้า
รัฐบาลมีแนวคิดที่จะเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ โดยให้นักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูงที่มีสกุลเงินดิจิทัลเช่นบิตคอยน์มาใช้ในพื้นที่ทดลอง “แซนด์บ็อกซ์” ซึ่งจะใช้จ่ายสินค้า และบริการได้ โดยมีการใช้จ่ายผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ต้องมีการหารือกับหลายฝ่าย โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่เป็นหน่วยงานกำกับการใช้สกุลเงินในประเทศ โดยปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซี และสกุลเงินดิจิทัลยังไม่รับอนุญาตให้นำมาใช้ได้ทั่วไปในระบบเศรษฐกิจของไทย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกยอมรับการแลกเปลี่ยนด้วยคริปโทเคอร์เรนซี หรือ สกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะเหรียญที่ได้รับความนิยมอย่างบิตคอยน์ที่มีปริมาณซื้อขายกว่า 21 ล้านเหรียญ โดย 1 เหรียญมีมูลค่าราว 1 แสนดอลลาร์ มูลค่าตลาดกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ความตึงเครียดระหว่างภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ความต้องการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนไม่ต้องการสินทรัพย์ หรือสกุลเงินแบบดั้งเดิมอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะเปิดให้นำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ได้เป็นวงกว้าง จึงมีแนวคิดที่จะสร้างแซนด์บ็อกซ์ ที่จะเป็นตลาดนำร่องในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ให้พวกเขานำเหรียญที่ถือครองนำมาลงทะเบียน และ KYC ในประเทศไทย
จากนั้นเมื่อต้องการซื้อของในประเทศก็สามารถนำเหรียญดังกล่าวมาใช้ได้ ผ่านระบบแลกเปลี่ยน (Exchange House) โดยผู้รับเงินก็จะได้เป็นสกุลเงินบาท
นายพิชัย กล่าวว่า การเปิดแซนด์บ็อกซ์แลกเปลี่ยนด้วยคริปโทเคอร์เรนซี จะเป็นการสร้างกำลังซื้อจากต่างประเทศ ดิจิทัลโนแมต ผู้ลี้ภัยสงครามที่ต้องการซื้อบ้านในไทยก็สามารถทำได้
“การดำเนินการหรือเรื่องใดที่ผิดกฎหมายจะไม่ทำอย่างแน่นอน และหากทำเรื่องนี้จริงก็ไม่จำต้องแก้ไขกฎหมาย คาดว่าจะมีโอกาสได้เห็นภายในปีนี้” นายพิชัย กล่าว
“คลัง” เร่งสรุปโมเดลดิจิทัลวอลเล็ต
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาแนวทางการสร้างแซนด์บ็อกซ์ดังกล่าว โดยมีแนวคิดที่จะสร้างดิจิทัลวอลเล็ตที่เชื่อมกับธนาคาร ซึ่งจะให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโอนคริปโทเคอร์เรนซีมาไว้ในวอลเล็ต เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าในประเทศไทย
รวมทั้งจะให้ร้านค้ามาผูกบัญชีธนาคารกับดิจิทัลวอลเล็ต โดยเมื่อร้านค้าขายสินค้า และได้รับการชำระเป็นคริปโทเคอร์เรนซีจะเลือกโอนเป็นเงินสดออกมาจากดิจิทัลวอลเล็ต หรือยังคงเก็บคริปโทเคอร์เรนซีไว้ในดิจิทัลวอลเล็ตก็ได้
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่กระทรวงการคลัง จะต้องฟังความเห็นจาก ธปท.เพราะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลของ ธปท.ตาม พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ซึ่งต้องมีการหารือในรายละเอียดถึงแนวทางการกำกับดูแลระบบชำระเงินผ่านคริปโทเคอร์เรนซี
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีความตั้งใจที่จะผลักดันโครงการแซนด์บ็อกซ์การใช้เงินดิจิทัล โดยให้มีการใช้บิตคอยน์ในพื้นที่นำร่องเช่นพื้นที่ จ.ภูเก็ต ก่อน แต่เรื่องนี้จะมีข้อจำกัดในข้อกฎหมายคือ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดเรื่องของการใช้สกุลเงินในประเทศไทยให้ใช้สกุลเงินบาทเพียงสกุลเดียว
ทั้งนี้หากรัฐบาลจะทำเรื่องนี้จึงต้องมีการหารือกับ ธปท.อีกครั้งว่าขอบเขตของกฎหมายนั้นกำหนดไว้อย่างไร ทั้งนี้หากจะทำจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายในส่วนไหนบ้าง
ส่วนประเด็นหากรัฐบาลต้องการทำตามแนวทางที่ได้มีการประกาศไว้จะมีการผลักดันการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือไม่ เห็นว่าเป็นแนวทางหนึ่งแต่ในเรื่องนี้รัฐบาลคงไม่ออกเป็น พ.ร.ก.เพราะโดยลำดับชั้นของกฎหมายนั้นถือว่า พ.ร.บ.เงินตรานั้นมีความสำคัญสูงสุดในการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องของการใช้สกุลเงินในประเทศไทย
แบงก์ชาติห่วง 4 ประเด็น “คริปโท”
สำหรับข้อกังวลที่ ธปท.หากมีการนำเอาบิตคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัลมาใช้นั้นมีอยู่อย่างน้อย 4 ประเด็น ได้แก่
1.การสร้างความสับสนในระบบเศรษฐกิจจากการใช้เงินแบบปกติ และสกุลเงินดิจิทัล อาจกระทบกับเสถียรภาพค่าเงินในประเทศ
2.ความผันผวนของมูลค่าเงินสกุลเงินดิจิทัล ที่มีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสูงมาก โดยสามารถเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้มากกว่า 10% ในแต่ละวัน
3.การกำหนดการใช้งานในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ จะใช้หลักเกณฑ์ใดในการคัดเลือกพื้นที่ เพราะว่าหากกำหนดให้จังหวัดภูเก็ต ทั้งจังหวัดใช้สกุลเงินดิจิทัลได้ก็ถือว่าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่หากกำหนดในพื้นที่แคบเกินไป เช่น บางตำบล หรือบางอำเภอของภูเก็ต นั้นก็อาจจะไม่คุ้มค่าในการทำโครงการ โดยอาจจะมีร้านค้า และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้อย่างจำกัด
4.ต้นทุนในการ SWAP แลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นเงินบาทมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะหากมีต้นทุนการ SWAP ค่าเงินที่สูงเกินไปก็จะเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์