”พิชัย“ ถกเข้ม 10 นโยบายเร่งด่วนพาณิชย์ เร่งเปิดเสรีการค้าข้าว
“พิชัย” ประชุมติดตามงานพาณิชย์ เร่งเดินหน้า 10 นโยบายต่อเนื่องในปี 2568 โดยเฉพาะการเร่งเปิดเสรีการค้าข้าว เตรียมจะประชุมสรุปแนวทางช่วยผู้ประกอบการรายย่อยเป็นผู้ส่งออก เฟสแรก ในวันที่ 17 ม.ค.นี้ เพื่อเดินหน้าทำงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ภายในไตรมาสแรกของปีนี้
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามการดำเนินงานนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้มอบให้ทุกหน่วยงาน เร่งรัด 10 นโยบายสำคัญของกระทรวง เช่น การเร่งเปิดเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA การดูแลราคาสินค้าเกษตร แก้ไขปัญหานอมินี และอีกเรื่องสำคัญ คือ การสนับสนุน ให้นักธุรกิจไทย มีความเข้มแข็ง มีความสามารถในการออกไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการเปิดเสรีการค้าข้าว เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขัน ตามเป้าหมายของรัฐบาล
จากข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าว เบื้องต้น ในปี 2567 สูงถึง 9.97 ล้านตัน เกือบถึง 10 ล้าน ขณะที่ในแง่มูลค่าขยายตัวถึง 15% ถือเป็นเรื่องดี ที่ไทย ขายสินค้าได้ในราคาที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้กับผู้ส่งออกรายย่อย โดยในวันที่ 17 มกราคมนี้ เตรียมประชุมสรุปแนวทางการทำงาน เช่น การลดปริมาณเก็บสต็อกข้าว ที่กฎหมายกำหนดให้มีสต๊อกข้าวที่ 500 ตัน เพื่อป้องกันหากเกิดการขาดแคลนการส่งออกข้าว เพื่อช่วยลดต้นทุนผู้ส่งออก และลดค่าธรรมเนียมในการส่งออก จากปัจจุบันอยู่ที่ 50,000 บาท เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม.
จากนี้ตนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมกรมต่างๆ ซึ่งคนกระทรวงพาณิชย์มีความสามารถดีเยี่ยมอยู่แล้ว จะได้ไปกระตุ้นให้มีงานออกมาเยอะขึ้น ให้ประชาชนมีความสุขมากขึ้น เราต้องการให้คนตัวเล็กเกษตรกรสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมและลดสต๊อกส่วนผู้ประกอบการค้าข้าว ซึ่งจะมีการติดตามและประเมินผลต่อไป และเฟสต่อไปจะอำนวยความสะดวกให้มาจดทะเบียนที่เดียว สามารถเป็นทั้งผู้ประกอบการค้าข้าวและผู้ส่งออกข้าว เป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายในและกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อำนวยความสะดวกผู้ประสงค์ประกอบธุรกิจค้าข้าวและการส่งออกข้าว จะได้ข้อสรุปภายในมีนาคมนี้ในเฟสแรก และถ้าเป็นไปด้วยดีจะเปิดเสรีเลยในอนาคต ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี อยากเห็นการทำลายการผูกขาดและเปิดเสรีในทุกด้าน
ด้านนายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เป้าหมายของนโยบายนี้ คือ ต้องการให้คนตัวเล็ก ทั้ง เกษตรกร และสถาบันเกษตรกร สามารถเป็นผู้ส่งออกได้ โดยแนวทางเบื้องต้น กลุ่มรายย่อยดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องมีสต็อกก่อนการส่งออก ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย ทุนจดทะเบียน 5-10 ล้านบาท ให้ลดปริมาณจัดเก็บสต๊อกข้าว เหลือ 100 ตัน จาก 500 ตัน และผู้ประกอบการทุนจดทะเบียน ตั้งแต่ 10 - 20 ล้านบาท ยังให้คงไว้ที่ 500 ตันเท่าเดิม ขณะที่ ผู้ประกอบการทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทขึ้นไปให้คงปริมาณเก็บสต๊อกไว้ที่ 1,000 ตันเท่าเดิมเช่นกัน
ส่วนการลดค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตส่งออกข้าว ที่กลุ่มเกษตรกรรายย่อย จะได้รับการยกเว้น แต่กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก ทุนจดทะเบียน 5-10 ล้านบาท จะเหลือ 10,000 บาท ผู้ประกอบการรายกลาง ทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 10 - 20 ล้านบาท ลดเหลือ 30,000 บาท ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทขึ้นไป ยังคงไว้ที่ 50,000 บาท ขณะที่กลุ่มผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่อง หรือ หีบห่อ ได้ปรับลดค่าธรรมเนียม เหลือ 10,000 บาทจากเดิม 20,000 บาท ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานในเฟสแรก คาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในไตรมาสแรกของปีนี้ จะมีการประเมินผลและเดินหน้าต่อในเฟสที่ 2 คือ การอำนวยความสะดวกสำหรับการจดทะเบียนแบบที่เดียว สำหรับผู้ที่สนใจจะประกอบการค้า ให้สามารถเป็นทางผู้ประกอบการค้าข้าวและผู้ส่งออกข้าว