ราคาน้ำมันพุ่งเหนือ 80 เหรียญ ตลาดห่วงน้ำมันรัสเซียหยุดชะงัก

ราคาน้ำมันพุ่งเหนือ 80 เหรียญ ตลาดห่วงน้ำมันรัสเซียหยุดชะงัก

ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่สามในวันจันทร์ โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นเหนือ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 เดือน เนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดิบรัสเซียของสหรัฐ และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับการส่งออกไปยังผู้ซื้อรายใหญ่ อินเดียและจีน

รอยเตอร์สรายงานว่า ในวันจันทร์ (13 ม.ค.) ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ สัญญาล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 1.42 ดอลลาร์ หรือ 1.78% สู่ระดับ 81.18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อเวลา 13.32 น. ตามเวลาฝั่งตะวันออกสหรัฐ ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต(WTI) เพิ่มขึ้น 2.52 ดอลลาร์ หรือ 3.29% สู่ระดับ 79.09 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และ น้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอพุ่งขึ้นประมาณ 6% ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม โดยพุ่งขึ้นในวันศุกร์ หลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียเพิ่มเติม  โดยเป้าของมาตรการคว่ำบาตรใหม่นี้รวมถึงบริษัทน้ำมัน Gazprom Neft และ Surgutneftegaz เรือ 183 ลำที่ขนส่งน้ำมันรัสเซีย สหรัฐหวังลดรายได้ของมอสโกเพื่อนำใช้ไปในการทำสงครามกับยูเครน

ผู้ค้าและนักวิเคราะห์คาดว่า การส่งออกน้ำมันรัสเซีย จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการคว่ำบาตรครั้งใหม่ โดยจีนและอินเดียต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง แอฟริกา และทวีปอเมริกามากขึ้นแทน ซึ่งจะทำให้ราคาและต้นทุนการขนส่งพุ่งสูงขึ้น

“ตลาดมีความกังวลอย่างแท้จริงเกี่ยวกับการหยุดชะงักของอุปทาน สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับน้ำมันของรัสเซียดูเหมือนว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เป็นจริง” ทามาส วาร์กา นักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์น้ำมัน PVM กล่าว “แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันจันทร์หน้า”

วาร์กาเสริมว่า การคว่ำบาตรดังกล่าวมีระยะเวลาผ่อนปรนจนถึงวันที่ 12 มีนาคม ดังนั้น จึงอาจยังไม่เกิดการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในขณะนี้

 

ด้าน ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ ประมาณการว่าเรือที่ตกเป็นเป้าหมายจากการคว่ำบาตรครั้งใหม่ขนส่งน้ำมัน 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) ในปี 2024 หรือคิดเป็น 25% ของการส่งออกของรัสเซีย นักวิเคราะห์ของธนาคารเขียนไว้ในบันทึกว่าธนาคารเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าราคาน้ำมันเบรนท์ จะอยู่ในช่วง 70-85 ดอลลาร์ โดยราคาอยู่ในช่วงขาขึ้น

การคาดการณ์ถึงอุปทานที่ตึงตัวทำให้ความแตกต่างของราคารายเดือนในปัจจุบันของน้ำมันเบรนท์และ WTI พุ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 โดยความแตกต่างที่ราคาปัจจุบันสูงกว่าราคาในอนาคต บ่งชี้ถึงอุปทานที่ตึงตัว

 

นักวิเคราะห์ของบริษัทบริการด้านการเงิน RBC Capital Markets กล่าวว่าการที่จำนนวนเรือบรรทุกน้ำมันรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า อาจเป็นปัญหาสำคัญทางโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันดิบ

“ไม่มีใครอยากจะแตะต้องเรือที่อยู่ในรายชื่อคว่ำบาตรหรือมาสั่งซื้อเพิ่ม” อิโก ซาโนมิ ผู้ก่อตั้งบริษัท Taleveras Petroleum ซึ่งเป็นผู้ค้าน้ำมันและก๊าซ กล่าว

 

“อุปทานของรัสเซียจะหยุดชะงัก แต่เราไม่เห็นว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากโอเปกมีกำลังการผลิตสำรองเพื่อเติมเต็มช่องว่างด้านอุปทานดังกล่าว”

 

กลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งประกอบด้วยองค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (OPEC) และกลุ่มผู้ผลิตที่นำโดยรัสเซียปัจจุบันคงการลดกำลังการผลิตไว้ที่ 5.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 5.7% ของอุปสงค์ทั่วโลก

เรือบรรทุกน้ำมัน หลายลำที่ถูกระบุชื่อในมาตรการคว่ำบาตรล่าสุดถูกใช้เพื่อขนส่งน้ำมันไปยังอินเดียและจีน หลังจากที่เคยถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร และกลุ่มประเทศจี7 การกำหนดเพดานราคาไว้ในปี 2022 ทำให้การค้าน้ำมันของรัสเซียต้องย้ายจากตลาดยุโรปไปยังเอเชีย เรือบางลำยังขนส่งน้ำมันจากอิหร่าน ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรเช่นกัน

 

แฮร์รี ทชิลลิงกิเรียน หัวหน้าฝ่ายวิจัยของบริษัทให้บริการด้านการเงิน Onyx Capital Group กล่าวว่า “มาตรการคว่ำบาตรรอบล่าสุดของ OFAC (สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของสหรัฐ) ที่กำหนดเป้าหมายเป็นบริษัทน้ำมันของรัสเซียและเรือบรรทุกน้ำมันจำนวนมาก จะส่งผลอย่างมาก โดยเฉพาะต่ออินเดีย”

นักวิเคราะห์ของกลุ่มการเงิน JPMorgan กล่าวว่ารัสเซียยังมีช่องทางในการดำเนินการแม้จะมีมาตรการคว่ำบาตรใหม่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว รัสเซียจำเป็นต้องซื้อเรือบรรทุกน้ำมันที่ไม่ถูกคว่ำบาตร หรือเสนอราคาน้ำมันดิบที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหรือต่ำกว่า เพื่อที่จะสามารถใช้บริการการประกันภัยจากชาติตะวันตกที่เป็นผู้ตั้งเพดานราคาไว้