ไทยเตรียมลงนามเอฟทีเอไทย-เอฟตา 23 ม.ค.นี้ พาณิชย์ ชี้ไทยได้ประโยชน์

ไทยเตรียมลงนามเอฟทีเอไทย-เอฟตา 23 ม.ค.นี้  พาณิชย์ ชี้ไทยได้ประโยชน์

“รมว.พาณิชย์” เตรียมบินไปดาวอส สวิสเซอร์แลนด์  21-26 ม.ค. เพื่อลงนามเอฟทีเอไทย-เอฟตา เผย หลังลงนาม เสนอรัฐสภาให้สัตยาบัน  คาด 1 ปี มีผลบังคับใช้ ลั่น ไทยได้ประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน ต่อยอดเอฟทีเอไทย-อียู

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ในช่วงระหว่างวันที่ 21-26 ม.ค.ตนและผู้บริหารระดับสูงจะเดินทางไปยังเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พื่อลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และ ลิกเตนสไตน์  FTA ฉบับใหม่นี้ในวันที่ 23 ม.ค. 2568  ในช่วงการประชุม World Economic Forum ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ภายหลังการลงนาม รัฐบาลโดยกระทรวงจะเผยแพร่ผลการเจรจาและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้ประเทศไทยให้สัตยาบัน เพื่อให้เอฟทีเอฉบับนี้มีผลผูกพันและใช้บังคับต่อไป คาดว่าจะใช้เวลา  1 ปี ซึ่งจะทำให้ไทยมีเอฟทีเอทั้งหมด 16 ฉบับ กับ 23 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ

โดยเอฟทีเอไทย-เอฟตา  ประกาศเปิดการเจรจาเอฟทีเอระหว่างกัน เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2565 จากนั้นมีการจัดประชุมเจรจาร่วมกันทั้งสิ้น 10 รอบ ล่าสุดสามารถสรุปผลการเจรจาร่วมกันได้เมื่อวันที่  29 พ.ย. 2567 ถือเป็นเอฟทีเอฉบับแรกของไทยที่ทำกับทวีปยุโรป  ซึ่งเอฟทีเอไทย-เอฟตา ได้ข้อสรุปทุกประเด็นภายใต้การเจรจาทั้งหมด 15 เรื่อง ได้แก่ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า การค้าบริการ การลงทุน  ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อมและแรงงาน) ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ ประเด็นกฎหมายและการระงับข้อพิพาท และ วิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs)

การมีเอฟทีเอฉบับนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่จะทำให้ไทยกลับเข้ามาสู่เวทีโลก  เพราะเอฟทีเอถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญ  ที่จะมีผลทำให้นักลงทุนต่างประเทศสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่า จีดีพีไทยปีนี้จะโตมากกว่า 3 % จากที่เศรษฐกิจโตได้ด้วย การลงทุนที่จะเพิ่มขึ้น   และจะทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นด้วย  ขอให้มั่นใจว่าเอฟทีเอฉบับนี้จะไม่มีผลกระทบที่ไม่ดีกับไทย และผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจะมีมากกว่าและ เอฟทีเอนี้จะช่วยเปิดประตูไปสู่ประเทศในยุโรปมากขึ้น”

นายพิชัย กล่าวว่า เอฟทีเอไทย-เอฟตา  จะทำให้การเจรจาเอฟทีเอ ไทย- สหภาพยุโรป (อียู)ทำได้เร็วขึ้น   เพราะ มีพื้นฐานการเจรจามาจากเอฟต้าแล้ว    ซึ่งเอฟทีเอไทย-อียู  ตั้งเป้าปิดดีลปลายปี 68 อย่างไรก็ตาม การเจรจา เอฟทีเอฉบับต่อไปที่จะตามมาที่จะสรุปได้ในปีนี้  คือ ไทย -ภูฎาน , ยูเออี  , South Korea , อาเซียน -แคนาดา

               

ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อช่วยเหลือ กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งกองทุนแล้วโดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการยกร่างเป็นพระราชบัญญัติ และจะต้องกลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา อีกครั้งโดยเบื้องต้น การจัดตั้งกองทุน จะใช้ งบประมาณประจำปี แต่วงเงินทุนประเดิมจะเสนอเท่าไหร่ยังไม่ได้ข้อสรุป

สำหรับภาพรวมการค้า ในปี 2566  เอฟตา เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 16 ของไทย มีมูลค้าการค้ากับไทย 9,887.56 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1.72 % ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปยังเอฟตา 4,390.49 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากเอฟตา 5,497.08 ล้านดอลลาร์ ไทยเสียดุลการค้า 1,106.60 ล้านดอลลาร์ ในปี 2567 ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ย.หรือ 11  เดือน การค้าไทยกับเอฟตา มูลค่า 11,467.03 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.06 % ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 24.94 % โดยไทยส่งออกไปเอฟตา 4,121 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากเอฟตา 7,345 ล้านดอลลาร์ ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 3,223 ดอลลาร์

 สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อัญมณีและเครื่องประดับ 2.นาฬิกาและส่วนประกอบ 3. เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 4. อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และ 5.เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และสินค้านำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. เครื่องเพชรพลอยอัญมณี เงินแท่งและทองคำ 2. นาฬิกาและส่วนประกอบ 3.เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค 4. ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และ 5. ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์

 

 

////////