แบงก์ชาติยุคใหม่ 'ต้องฟังรัฐ' พิชัยเผยสเปกผู้ว่าฯ ทันสมัย ทำงานเป็นทีมได้

บลูมเบิร์กเผย คลังเริ่มกระบวนการสรรหาผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่แล้ว ย้ำต้องมี "แนวคิดทันสมัย" และสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาล “ได้อย่างใกล้ชิด” หลังสื่อวิเคราะห์ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันมีความขัดแย้งกับคลังสูง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวันนี้ (20 ม.ค.68) ว่า กระทรวงการคลังเริ่มกระบวนการสรรหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่แล้ว หลังจากที่วาระของผู้ว่าฯ คนปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งกับกระทรวงการคลังใกล้จะสิ้นสุดลง
นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงหารือรายชื่อผู้สมัครที่เหมาะสม โดยวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิจะสิ้นสุดลงในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้
บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า มีความขัดแย้งที่คุกรุ่นระหว่างรัฐบาลของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ ธปท. เกี่ยวกับแนวทางที่ดีที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการโต้เถียงกันเรื่องนโยบายการเงิน และเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยนายเศรษฐพุฒิ ได้ยืนยันถึงความเป็นอิสระของ ธปท.ในการดำเนินนโยบายทางการเงิน
"ผู้ว่าการคนใหม่ต้องมีวิสัยทัศน์มองไปข้างหน้า (Forward-looking) ด้วยแนวคิดที่ทันสมัย (Modern Ideas)"
นายพิชัย กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานเลี้ยงสื่อมวลชนที่กระทรวงการคลังเมื่อคืนวันศุกร์ พร้อมอธิบายเสริมว่า "ในปัจจุบันคุณไม่สามารถมองปัญหาแบบดั้งเดิมได้อีกต่อไปเพราะโลกโดยเฉพาะตลาดการเงินเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก"
นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าการคนใหม่ต้องสามารถ "ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด" กับกระทรวงการคลัง และรัฐบาล รวมทั้งต้องมีความรู้ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน
ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาซึ่งยังไม่ได้รับการประกาศแต่งตั้งจะต้องเสนอรายชื่อผู้สมัครให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างน้อย 90 วันก่อนที่วาระของนายเศรษฐพุฒิจะสิ้นสุดลง ผู้ที่สนใจจะต้องสมัครในช่วงที่คณะกรรมการเปิดรับสมัคร
บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามหาทางที่จะมีอิทธิพลเหนือ ธปท. เช่นการผลักดันให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั่งประธานคณะกรรมการ ธปท. แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากประชาชน และนักวิชาการเพราะเหตุการณ์นี้ถูกมองว่าไม่เหมาะสมกับตำแหน่งเนื่องจากความสัมพันธ์กับพรรครัฐบาล
แม้ประธานคณะกรรมการ ธปท.ไม่ได้มีส่วนร่วมในการประชุมนโยบายการเงิน แต่สามารถประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ว่าฯ และมีส่วนในการเลือกผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้าร่วมในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีสมาชิก 7 คนได้
ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง จะเสนอชื่อผู้สมัครใหม่ต่อคณะกรรมการสรรหา เนื่องจากนายกิตติรัตน์ขาดคุณสมบัติ ความล่าช้าในการแต่งตั้งประธานคนใหม่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานปกติของ ธปท. เนื่องจากนายเศรษฐพุฒิซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานสามารถรักษาการได้จนถึงสิ้นสุดวาระในวันที่ 30 ก.ย.
อย่างไรก็ตาม นายลวรณ กล่าวว่า ควรมีการแต่งตั้งประธานคนใหม่ก่อนถึงเวลานั้น
ต่อไปนี้คือ รายชื่อที่ปรากฏในสื่อท้องถิ่นว่าเป็นผู้ที่มีโอกาสได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการคนใหม่:
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส
ปัจจุบัน ดร.รุ่ง อายุ 57 ปี ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินของ ธปท. เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รับปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์
อดีตนักเศรษฐศาสตร์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ดร.สุทธาภา อายุ 50 ปี เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารผู้ก่อตั้ง Abacus digital แพลตฟอร์มการให้กู้ยืมฟินเทคฯ ของ SCB X
เธอจบการศึกษาจากฮาร์วาร์ด และได้รับปริญญาเอกจาก MIT รวมทั้งเป็นหลานสาวของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลูกพี่ลูกน้องของเธอคือ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และบิดาผู้ล่วงลับของเธอเคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
ข้าราชการสายอาชีพวัย 53 ปี เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่งในกระทรวงการคลัง ปัจจุบันเป็นกรรมการธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จบปริญญาโทเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์
อ้างอิง: Bloomberg
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์