การรถไฟฯ เตรียมกู้ 2.4 หมื่นล้าน จัดหารถโดยสารใหม่ 184 คัน
![การรถไฟฯ เตรียมกู้ 2.4 หมื่นล้าน จัดหารถโดยสารใหม่ 184 คัน](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2025/01/CXAp1T13mfXlGEVoHaLr.webp?x-image-process=style/LG)
บอร์ดรถไฟอนุมัติจัดหารถโดยสารใหม่ 184 คัน วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท ทดแทนรถเดิมที่ใช้งานมากว่า 30 ปี หันใช้ระบบไฮบริดและห้องโดยสารปรับอากาศ คาดเริ่มเปิดประกวดราคา ก.ย.นี้ เร่งทยอยรับมอบล็อตแรกปี 2570 หวังรองรับเปิดบริการรถไฟทางคู่และทางรถไฟสายใหม่
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ พร้อมอะไหล่ จำนวน 184 คัน วงเงินรวมทั้งสิ้น 24,150.00 ล้านบาท โดยระบุว่า วันนี้ (29 ม.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีมติเห็นชอบให้ผลักดันโครงการดังกล่าวเพื่อนำมาทดแทนรถดีเซลรางปรับอากาศเดิม ซึ่งมีการจัดหาครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2538 และมีอายุการใช้งานมากว่า 30 ปี อีกทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงการก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 1 – 2 รวมถึงโครงการทางรถไฟสายใหม่ในอนาคต
โดยโครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศพร้อมอะไหล่ จำนวน 184 คัน มีเป้าหมายเพื่อนำมาทดแทนขบวนรถที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารระยะไกลในปัจจุบัน จำนวน 10 ขบวน และนำมาเปิดเดินขบวนรถเพิ่ม เพื่อรองรับการขยายเส้นทางในโครงการก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 1 – 2 จำนวน 52 ขบวน แบ่งเป็น
- เส้นทางระยะกลาง 46 ขบวน
- เส้นทางระยะไกล 6 ขบวน
อย่างไรก็ดี การจัดหารถโดยสารดังกล่าวเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย และแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 (แผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย) ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับการขนส่งรูปแบบอื่นที่จะทำให้เกิดการปรับรูปแบบการเดินทางของผู้ใช้บริการมาใช้ระบบรางมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของผู้ใช้บริการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดปัญหาการจราจรติดขัด ที่สำคัญยังลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลภาวะทางอากาศและลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนด้วย
สำหรับโครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศ 184 คัน เป็นการจัดหารถกำลังดีเซลรางปรับอากาศมีห้องขับ จำนวน 92 คัน วงเงิน 12,075.00 ล้านบาท และรถกำลังดีเซลรางปรับอากาศไม่มีห้องขับ จำนวน 92 คัน วงเงิน 12,075.00 ล้านบาท รวมวงเงินโครงการทั้งสิ้น 24,150.00 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคันละ 131.25 ล้านบาท ซึ่ง รฟท.เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย และกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้
ทั้งนี้ รฟท. มีแผนนำรถดีเซลรางปรับอากาศมาพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทั้งการออกแบบภายใน และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกบนขบวนรถ จำนวน 62 ขบวน ประกอบด้วย
1.การทดแทนขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศที่จัดเดินในปัจจุบัน จำนวน 10 ขบวน คือ
- เส้นทางสวรรคโลก จำนวน 2 ขบวน
- เส้นทางเชียงใหม่ จำนวน 2 ขบวน
- เส้นทางอุบลราชธานี จำนวน 2 ขบวน
- เส้นทางสุราษฎร์ธานี จำนวน 4 ขบวน
2. การเปิดเดินขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อรองรับทางคู่ระยะที่ 1 และ 2 เส้นทางระยะกลาง จำนวน 9 เส้นทาง รวม 46 ขบวนต่อวัน คือ
- เส้นทางพิษณุโลก จำนวน 10 ขบวน
- เส้นทางนครราชสีมา จำนวน 10 ขบวน
- เส้นทางขอนแก่น จำนวน 6 ขบวน
- เส้นทางชุมพร จำนวน 8 ขบวน
- เส้นทางสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 ขบวน
- เส้นทางนครราชสีมา – จุกเสม็ด จำนวน 4 ขบวน
- เส้นทางชุมพร – กันตัง จำนวน 2 ขบวน
- เส้นทางชุมพร – นครศรีธรรมราช จำนวน 2 ขบวน
- เส้นทางชุมพร – ยะลา จำนวน 2 ขบวน
3. การเปิดเดินขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อรองรับทางคู่ระยะที่ 1 และ 2 เส้นทางระยะไกล จำนวน 3 เส้นทาง รวม 6 ขบวนต่อวัน คือ
- เส้นทางเชียงใหม่ จำนวน 2 ขบวน
- เส้นทางอุบลราชธานี จำนวน 2 ขบวน
- เส้นทางหนองคาย จำนวน 2 ขบวน
ทั้งนี้ รถดีเซลรางปรับอากาศ จำนวน 184 คัน รฟท.จะดำเนินการจัดหาเป็นรถดีเซลรางไฟฟ้ารูปแบบ Hybrid DEMU. (Hybrid Diesel Electric Multiple Unit) ที่สามารถใช้แหล่งพลังงานในการขับเคลื่อนจาก 2 แหล่ง ทั้งเครื่องยนต์ดีเซลและพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Energy Storage) เป็นรถปรับอากาศชั้น 1 และชั้น 2 รูปแบบริ้วขบวนรถ ประกอบด้วย รถปรับอากาศชั้น 1 จำนวน 1 คัน และชั้น 2 จำนวน 3 คัน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 239 ที่นั่ง
อีกทั้งจะมีการออกแบบพื้นที่สำหรับให้บริการแก่ผู้พิการโดยเฉพาะ พร้อมกับเน้นความทันสมัยทั้งภายนอก และมีการตกแต่งภายใน อาทิ ระบบ Internet WiFi บนขบวนรถ เก้าอี้โดยสารสามารถปรับเอนได้ ห้องสุขาระบบปิดที่ถูกสุขอนามัย ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสื่อสารและจอภาพ LED เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีเคาน์เตอร์จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายระหว่างการเดินทางของผู้ใช้บริการอีกด้วย ทั้งนี้ จะสามารถรับรถงวดแรก จำนวน 60 คันได้ภายในปี 2570 คาดว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 4.81 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้เฉลี่ย 3,469 ล้านบาทต่อปี
โดยขั้นตอนจากนี้ รฟท. จะนำเสนอรายงานต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาทำความเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป หาก ครม.อนุมัติโครงการดังกล่าว จึงจะเริ่มออกประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอประกวดราคา ก.ย.2568 และคาดว่าจะพิจารณาผลการคัดเลือกได้ภายในเดือน ก.ค. 2569 คาดว่าจะสามารถนำรถดีเซลรางปรับอากาศดังกล่าวมาให้บริการได้ครบทั้งหมดภายในเดือน เม.ย. 2573 ซึ่งสอดคล้องกับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในการก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 1 และ 2 ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572
“การรถไฟฯ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้วยการนำรถโดยสารที่มีความทันสมัยมาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการให้มีมาตรฐานสากล สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันได้อย่างเพียงพอ และพร้อมรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเดินทางของประชาชนในอนาคตด้วย”