บูม 'คลองเตย' รับเอนเตอร์เทนเมนต์ กทท.เร่งดันพื้นที่เศรษฐกิจใหม่

กทท. รื้อมาสเตอร์แพลน “ท่าเรือคลองเตย” 2,353 ไร่ จัดสรร 3 พื้นที่พัฒนา Smart City - Smart Port - Smart Community รับนโยบายปั้นเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ บนพื้นที่ 585 ไร่ กำหนด 6 เดือน เป็นรูปธรรม ยันไม่ย้ายท่าเรือขนส่งสินค้า ปรับพื้นที่อยู่ร่วมทั้งภาคขนส่ง ท่องเที่ยวและชุมชน
รัฐบาลมีนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) เพื่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยวในรูปแบบ Man made destination โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ กำลังปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งระหว่างนี้มีการเตรียมความพร้อมพื้นที่ของรัฐที่มีความเหมาะสมรองรับการลงทุน
ขณะที่หน่วยงานที่พร้อมรองรับนโยบายนี้ของรัฐบาล คือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ปรับปรุงมาสเตอร์แพลนท่าเรือกรุงเทพ และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ กทท.ดำเนินธุรกิจอื่นได้ พร้อมทั้งตั้งบริษัทลูกเพื่อร่วมทุนกับเอกชนได้ในการพัฒนาธุรกิจใหม่
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) เพื่อจัดสรรพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ซึ่งเคยศึกษามากว่า 10 ปี และไม่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงรองรับการพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจร
ทั้งนี้ กทท.ศึกษาการจัดสรรพื้นที่ท่าเรือคลองเตย บนที่ดิน 2,353 ไร่ เป้าหมายใช้ประสิทธิภาพของที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบ่งเป็น 3 ส่วน ไม่รวมพื้นที่ ปตท.เช่าใช้ 103 ไร่ ประกอบด้วย
1.พื้นที่พัฒนา Smart City 1,085 ไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้ถูกจัดสรร 500 ไร่ รองรับอาคารสำนักงานของการท่าเรือ พื้นที่กรมศุลกากร ตลาดปีนัง และตลาดคลองเตยที่เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กย่านคลองเตย
ส่วนพื้นที่อีก 585 ไร่ รองรับโครงการเชิงพาณิชย์ที่พัฒนาเป็นเขตพิเศษด้านการท่องเที่ยว มีโครงการแบบผสมผสานทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การประชุม ร้านค้าปลอดอากร (Duty free) และอาคารสำนักงาน
รวมถึงรองรับโครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพื่อให้คลองเตยเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และส่วนสำคัญจะเป็นตัวช่วยในการสนับสนุนการท่องเที่ยวโลจิสติกส์ สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ ในคอนเซปต์ Bangkok Logistics Park
“นโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ขณะนี้มาสเตอร์แพลนยังไม่ได้กำหนดกิจกรรมในการพัฒนา แต่แบ่งโซนรองรับชัดเจนอยู่ในพื้นที่ส่วนแรก Smart City ดังนั้นรายละเอียดของเอนเตอร์เทนเมนต์ต้องรอให้คณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทพิจารณาดูก่อนว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดที่เหมาะกับไทย”
สมาร์ตพอร์ตอยู่ร่วมกันชุมชน-ท่าเรือ
2.พื้นที่พัฒนา Smart Port 709 ไร่ ตอบโจทย์อยู่ร่วมกันระหว่างท่าเรือ ชุมชน และการท่องเที่ยว โดยศึกษาพบว่าฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เกิดจากการมีท่าเรือกลางเมือง แต่เป็นเพราะการบริหารจัดการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่ ทำให้ออกแบบมาสเตอร์แพลนฉบับใหม่ ซึ่งยังมีพื้นที่ท่าเรือรองรับโลจิสติกส์เชื่อมใจกลางเมือง แต่จะจัดสรรพื้นที่ท่าเรือให้เกิดประสิทธิภาพ ลดขนาดพื้นที่ และบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี
ทั้งนี้ กทท.จะลดพื้นที่ท่าเรือลง 40% และนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะยุบรวมพื้นที่ท่าเรือเป็นโซน B1 ประกอบด้วย Smart Port บริหารจัดการท่าเรือด้วยระบบกึ่งอัตโนมัติ รวมถึงท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออก และท่าเทียบเรือสินค้าชายฝั่ง โดยพื้นที่นี้จะบริการแบบ One Stop Service อีกทั้งจะก่อสร้างเทอร์มินัล 3 เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด เพื่อเชื่อมการขนส่งสินค้ากับพื้นที่หลังท่า
นอกจากนี้ จะยกระดับศูนย์กระจายสินค้าที่ปัจจุบันมีโกดังกระจาย 17 แห่ง โดยยุบ และตั้งเป็นอาคารแนวสูงทดแทน รวมถึงสร้างลานจอดรถรองรับการขนส่งทำให้ระบบโลจิสติกส์ของท่าเรือประหยัดเวลา และจัดสรรพื้นที่รองรับธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจโกดังสินค้าแต่มีธุรกิจเชื่อมโยงสนับสนุนการขนส่ง อาทิ ธุรกิจแช่เย็น ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Free Zone และธุรกิจขนส่งแบบด่วนที่ใช้รถขนาดเล็กขนส่งสินค้า เพื่อปรับภาพระบบขนส่งของท่าเรือกรุงเทพ เน้นน้ำหนักน้อยแต่มูลค่าสูง
สมาร์ตคอมมูนิตี้ยกระดับชีวิต
3.พื้นที่พัฒนา Smart Community 123 ไร่ เนื่องด้วยปัจจุบันมีชุมชนในพื้นที่ กทท.จำนวน 26 ชุมชน รวม 13,000 ครัวเรือน พื้นที่ 520 ไร่เศษ ซึ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาท่าเรือเขตเมืองควบคู่ชุมชนในเขตพื้นที่ กทท.จึงเป็นที่มาของการพัฒนา Smart Community โดยพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยแนวสูง และศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนคลองเตย
ทั้งนี้ แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ หัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนรอบท่าเรือ 26 ชุมชน และชุมชนใต้ทางด่วน 5 ชุมชน รวม 13,000 ครัวเรือน โดยจัดพื้นที่บางส่วนสำหรับเป็นพื้นที่พักอาศัยเพื่อชุมชนในแนวสูง และมีศูนย์ฝึกอาชีพในพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ให้เป็นตลาดแรงงานสำคัญของกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ กทท.มีแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) บริเวณองค์การฟอกหนังเดิม ถนนริมทางรถไฟสายเก่ามีพื้นที่ 58 ไร่ เป็นอาคารสูง 25 ชั้น 4 อาคาร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต และมีขนาด 33 ตารางเมตร พร้อมอาคารจอดรถส่วนกลาง และพื้นที่สีเขียว 40%
มีแผนรองรับสำหรับผู้ต้องการย้ายออก
นอกจากนี้ หากผู้อยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย ไม่ต้องการรับสิทธิอยู่อาศัยบนที่พักอาศัยใหม่นี้ กทท.ยังมีเงื่อนไขให้ที่ดินเปล่าขนาด 19.5 ตารางวาต่อครัวเรือน ในย่านเขตหนองจอก และเขตมีนบุรี จำกัดจำนวน 2,140 แปลง ซึ่งสามารถปลูกบ้านเป็นของตัวเองได้ หรือสามารถใช้สิทธิในการกลับภูมิลำเนา โดย กทท.จะมอบเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต
นายเกรียงไกร กล่าวว่า กทท.ศึกษาหลายโมเดลในต่างประเทศที่พัฒนาท่าเรืออยู่ร่วมชุมชน และสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งนำโมเดลความสำเร็จของท่าเรือโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ที่พัฒนาพื้นที่ท่าเรือ และบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่บริษัทชั้นนำ มีห้างสรรพสินค้า ย่านที่อยู่อาศัยที่อยู่ร่วมกันได้ รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ มาสเตอร์แพลนฉบับนี้สอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพิ่มขีดความสามารถการขนส่ง และการท่องเที่ยวที่มาพร้อมโลจิสติกส์ทางน้ำ โดย กทท.พัฒนา Bangkok Port Passenger Cruise Terminal บนพื้นที่ 67.41 ไร่ ท่าเทียบเรือสำราญ และสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และการท่องเที่ยวทางน้ำ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์