คิกออฟเหมืองโปแตชอุดรฯ BOI อนุมัติส่งเสริมลงทุน 4 หมื่นล้าน

คิกออฟเหมืองโปแตชอุดรฯ BOI อนุมัติส่งเสริมลงทุน 4 หมื่นล้าน

BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุน เหมืองโปแตชอุดรฯ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น ตั้งงบลงทุน 4 หมื่นล้านบาท ผลิตโพแทสเซียมคลอไรด์

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนัดแรกของปี 2568 ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2568 

ทั้งนี้ บีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนหลายโครงการ รวมถึงยังได้อนุมัติโครงการลงทุนผลิตโพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี มูลค่าลงทุนรวม 40,400 ล้านบาท 

กรุงเทพธุรกิจรายงานข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่า บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จำนวน 4 แปลง ของแหล่งแร่อุดรใต้ รวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา โดยมีอายุประทานบัตร 25 ปี ลงวันที่ 23 ก.ย.2565 ถึง 22 ก.ย.2590 กระทรวงการคลังได้ถือหุ้น 10% มีแผนการผลิตปีละ 2 ล้านตัน ประเมินมูลค่าการลงทุนเมื่อปี 2567 ไว้ที่ 36,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไทยมีสำรองแร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี โดยประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยปีละ 4 ล้านตัน มูลค่า 60,000 ล้านบาท เป็นปุ๋ยโปแตชเซียม 700,000 ตัน คิดเป็น 9,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันไทยมีศักยภาพในการผลิตโปแตสเซียมสูงมาก

นอกจากนี้ กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าโครงการเหมืองโปแตชของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทลูกของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ถือหุ้นสัดส่วน 90% กระทรวงการคลังถือหุ้น 10% และเมื่อปี 2567 ITD ออกมาระบุว่า พิจารณาขายหุ้น 90% วงเงินราว 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 17,900 ล้านบาท ให้กับผู้ซื้อหลายรายที่เจรจากันรวมถึงผู้ซื้อจากจีนด้วย

สำหรับพื้นที่ไทยพบแหล่งแร่โปแตชขนาดใหญ่ได้ใน 2 แหล่ง คือ แอ่งสกลนคร ประกอบด้วย สกลนคร หนองคาย อุดรธานีและนครพนม ส่วนแอ่งโคราช ประกอบด้วย ขอนแก่น กาฬสินธุ์มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และชัยภูมิ