กรมพัฒน์ พร้อมเอาผิดตั้งบริษัทผีหลอกประชาชน เร่งสกัดบัญชีม้านิติบุคคล

กรมพัฒน์ พร้อมเอาผิดตั้งบริษัทผีหลอกประชาชน เร่งสกัดบัญชีม้านิติบุคคล

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  แจงกรณีประชาชนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่เป็นชื่อนิติบุคคลสูญเสียเงินกว่า 1.2 ล้าน เบื้องต้นพบนิติบุคคลรายนี้แจ้งที่ตั้งสำนักงานเท็จ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ยันจดทะเบียนนิติบุคลมีความรัดกุม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์เล่าเรื่องราวเพื่อเป็นอุทาหรณ์และปรากฏตามหน้าข่าวของสื่อมวลชน ว่าถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงินไปกว่า 1.2 ล้านบาท โดยได้ปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่จากค่ายโทรศัพท์และตำรวจ พร้อมข่มขู่ผู้เสียหายที่เป็นผู้สูงอายุให้เกิดความกลัวว่าชื่อของตนได้ถูกนำไปใช้เป็นบัญชีม้า จึงยอมทำตามที่มิจฉาชีพบอกและโอนเงินไปยังปลายทางซึ่งเป็นชื่อบัญชีธนาคารที่เปิดโดยนิติบุคคล เวลาต่อมาเมื่อผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอกจึงได้เข้าแจ้งความ นำไปสู่การตรวจสอบและพบว่าสถานที่ตั้งของนิติบุคคลนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าของบ้านตัวจริง

กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับกรณีดังกล่าวและได้เร่งตรวจสอบบริษัทตามที่เป็นข่าว ซึ่งในกรณีนี้ถือว่านิติบุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 1148 ที่กำหนดให้บริษัทจำกัดต้องมีสำนักงานที่ตั้งและแจ้งต่อนายทะเบียนของกรมฯ เมื่อดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งสำนักงาน หากไม่กระทำตามจะต้องได้รับโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท นอกจากนี้ ยังอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

สำหรับในส่วนของการฉ้อโกงผู้เสียหายเป็นอำนาจของตำรวจที่จะได้ดำเนินการสืบสวนนิติบุคคลรายนั้นในเชิงลึกต่อไป ซึ่งกรมฯ ยินดีที่จะให้ข้อมูลทางทะเบียนของนิติบุคคลดังกล่าวเพื่อนำไปประกอบการสืบสวนว่าเข้าข่ายเป็นบัญชีม้านิติบุคคลหรือไม่และสามารถดำเนินการจับกุมภายใต้อำนาจหน้าที่ของตำรวจต่อไป

ในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องการประกอบธุรกิจและจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ แต่จากสถานการณ์ปัญหานำชื่อนิติบุคคลไปหลอกลวงและฉ้อโกงประชาชนโดยเฉพาะการเปิดบัญชีม้า ทำให้กรมไม่ได้นิ่งนอนใจในการสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์ประชาชนและการอำนวยความสะดวกผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจ

โดยกรมฯ มีมาตรการและกำหนดแผนงานที่จะกำกับการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลให้เป็นไปอย่างรัดกุม ดังนี้ 1.ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยสร้างความร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อตรวจสอบสถานที่ตั้งนิติบุคคลตามที่ผู้ขอจดทะเบียนได้แจ้งไว้และปักหมุดพร้อมแสดงภาพถ่ายในลักษณะแผนที่ Google Map 

2.หากกรมฯ พบว่านิติบุคคลใดมีที่ตั้งไม่ตรงกับที่แจ้งจดทะเบียนจะดำเนินการป้องปรามภายใต้อำนาจหน้าที่ที่กรมฯ สามารถกระทำได้คือ การระบุหมายเหตุในหน้าหนังสือรับรองนิติบุคคลว่า “ไม่มีสถานที่ตั้งจริง” เพื่อเป็นการเตือนให้ผู้ที่ต้องการจะทำธุรกิจด้วยต้องพึงระมัดระวัง และ 

3.มาตรการป้องปรามบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงินที่ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อ HR-03 ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะต้องมาแสดงตัวต่อหน้านายทะเบียนเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติตามนายทะเบียนจะปฏิเสธและไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา 

4.ร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการขยายผลเอาผิดและบังคับใช้กฎหมายกับผู้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานในเรื่องสถานที่ตั้งนิติบุคคล

ทั้งนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล มีขั้นตอน ดังนี้ 1.จัดทำคำขอพร้อมเอกสารประกอบมายื่นต่อนายทะเบียน 

2. นายทะเบียนตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง หากถูกต้องครบถ้วนก็รับจดทะเบียนฯ โดยหลักเกณฑ์การจดทะเบียนในปัจจุบันไม่มีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบสถานที่ตั้งก่อนการรับจดทะเบียนและกฎหมายไม่ได้ห้ามที่หลายนิติบุคคลมีสถานที่ตั้งเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณา  คำขอจดทะเบียนจะมีการตรวจสอบเลขรหัสประจำบ้านกับฐานข้อมูลของกรมการปกครองว่าเป็นข้อมูลที่ตรงกันกับบ้านเลขที่ดังกล่าวจริง โดยในส่วนว่าเจ้าของบ้านจะทราบและยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งนิติบุคคลหรือไม่นั้น ผู้ขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลจะเป็นผู้ยืนยันและรับผิดชอบข้อเท็จจริงดังกล่าวเอง หากเป็นการแจ้งเท็จก็จะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งจากปัญหาการใช้บัญชีม้านิติบุคคลและสถานที่ตั้งอันเป็นเท็จในการหลอกลวงประชาชนดังกล่าว กรมฯ เตรียมเพิ่มมาตรการเพื่อวตรวจสอบสถานที่ตั้งและเรียกเอกสารยินยอมจากเจ้าของสถานที่ตั้งนิติบุคคล เพื่อปิดช่องว่างการที่มิจฉาชีพนำที่อยู่ของผู้อื่นมาสวมทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล