“กรมชลประทาน” เร่ง9แผนแก้ปัญหา อุทกภัยพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

กรมชลประทาน เร่งเดินหน้า 9 แผนโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มั่นใจแก้น้ำท่วมได้เบ็ดเสร็จ ก่อน พิษเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อทำค่าก่อสร้างพุ่ง
นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน เปิดเผยว่าในปี 2554 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ เป็นโจทย์ให้ศึกษาและกำหนดโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พบว่า มีปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากลงมากเกินปริมาณน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะลองรับได้เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทประมาณ 1,800 ลบ.ม. ต่อวินาที ดังนั้นเพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีก จึงต้องมีแนวทางบริหารจัดการน้ำ ให้ระบายออกสู่ทะเลได้เร็วและมากขึ้น
ผลการศึกษาได้ 9 แผนงานหลักในการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หากแล้วเสร็จ ทั้งหมดจะสามารถตัดยอดน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้เพิ่มขึ้น 790-870 ลบ.ม.ต่อวินาที ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มความสามารถระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน 70 ลบ.ม.ต่อวินาที สามารถระบายลงสู่ทะเล 600 ลบ.ม ต่อวินาที เก็บกักน้ำหลากในคลองขุดใหม่รวม 266 ล้าน ลบ.ม. และในพื้นที่ลุ่มต่ำ 1,304 ล้าน ลบ.ม.
โปรเจคต์เจ้าพระยาตะวันออก9.5หมื่นล้าน
สำหรับ 9 แผนงาน ประกอบด้วย 1. แผนงานปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ค่าก่อสร้าง 95,000 ล้านบาท ก่อสร้าง 6 ปี (2569-2574) ลักษณะโครงการเป็นการปรับปรุงคลองและอาคารชลประทานในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างตั้งแต่ใต้แม่น้ำป่าสักบริเวณเขื่อนพระรามหก ผ่านคลองระพีพัฒน์ จนถึงชายทะเลอ่าวไทย เป้าหมายเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 210 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 400 ลบ.ม.ต่อวินาที ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงข่ายคลองชลประทานเดิมจำนวน 22 คลอง ความยาวรวม 462.80 กิโลเมตร ตลอดจนการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารชลประทานรวม 23 อาคาร
หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้น 17 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี อีกทั้งยังสามารถป้องกันและลดพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 298,250 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
แผนป้องอุทกภัยกรุงเทพ-ปริมณฑล
2. โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล (คลองชัยนาท-ป่าสัก , ป่าสัก-อ่าวไทย) ค่าก่อสร้าง 1.72 แสนล้านบาท ก่อสร้าง 8 ปี (2571-2578) เป็นการปรับปรุงคลองและคลองขุดใหม่ทำหน้าที่ระบายน้ำหลากจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก มีการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ปรับปรุงคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก ความยาวรวม 134.36 กิโลเมตร เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจาก 130 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 930 ลบ.ม.ต่อวินาที
และคลองขุดใหม่จากป่าสัก-อ่าวไทย ความยาวรวม 135.55 กิโลเมตร ระบายน้ำหลากจากแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาที่มาจากคลองช่วงที่ 1 (ชัยนาท-ป่าสัก) ได้สูงสุด 600 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันช่วงคลองป่าสัก-อ่าวไทยอยู่ระหว่างปรับปรุง แก้ไข รายงาน( EIA) ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)
ยึดถนนวงแหวนแนวระบายน้ำลงอ่าวไทย
3.คลองระบายน้ำควบคู่กับถนนวงแหวนรอบที่ 3 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท เป็นการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอีก 1 โครงการ ซึ่งเป็นแนวทางเลือกในกรณีที่เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำลงอ่าวไทยเพิ่มเติม ตามผลการศึกษาที่ JICA พิจารณาแนวทางเลือก จุดเริ่มต้นของคลองระบายน้ำเริ่มจากจุดเชื่อมแม่นํ้าป่าสักและแม่นํ้าเจ้าพระยามาบรรจบกันที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่านปทุมธานี นนทบุรี ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 10 กม. แล้ว นํ้าไหลลงสู่อ่าวไทยที่บางปู จ.สมุทรปราการ สามารถระบายน้ำได้ 500 ลบ.ม. ต่อวินาที หากก่อสร้างแล้วเสร็จคลองสายนี้จะตัดยอดน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที
4.โครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก ค่าก่อสร้าง 51,000 ล้านบาท ก่อสร้าง 4 ปี (2569-2572)ประกอบไปด้วย งานอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด ทำหน้าที่ระบายน้ำจากคลองภาษีเจริญ ลงสู่คลองมหาชัย เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ ความยาว 12 กม. และสถานีสูบน้ำบริเวณด้านปลายอุโมงค์ ระบายน้ำในอัตรา 60 ลบ.ม.ต่อวินาที งานคลองถนน และ อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแนวลิขิต 1 ทำหน้าที่ระบายน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ ลงสู่คลองภาษีเจริญ เป็นการปรับปรุงคลองเดิม และคลองถนน รวมทั้งก่อสร้างอุโมงค์ ความยาว 6.99 กม.
เสริมแกร่งประสิทธิภาพควบคุมน้ำ
งานปรับปรุง-ขุดลอกคลองและอาคารบังคับน้ำ ตั้งแต่บริเวณคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ถึงคลองทิพยาลงกรณ์ โดยการปรับปรุงคลองเดิม ความยาว 300 กม. ก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 25 แห่ง และสะพานข้ามคลอง 1 แห่ง รวมทั้งก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ 1 แห่ง และ งานปรับปรุงคันควบคุมน้ำทะเลพร้อมอาคารประกอบ โดยการขุดลอกคลองมหาชัย ยาว 19 กม. และปรับปรุงแนวคันแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย ความยาว 42 กม.
5.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 2,500 ล้านบาท เป็นแผนการขุดลอกลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะขุดลอกเป็นช่วงๆรวมระยะทาง 20 กิโลเมตร พร้อมเสริมความแข็งแรงคันกั้นน้ำ เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาสามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยกรมชลประทานเสริมความแข็งแรงคันกั้นน้ำแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างขุดลอกโดยกรมเจ้าท่า
6.โครงการบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ วงเงิน 6.3 พันล้านบาท โดยร่วมกับแล้ว 13 พื้นที่ อยู่ระหว่างดำเนินการในขณะนี้ 1 พื้นที่ กระทรวงมหาดไทย ที่มีแผนป้องกัน 14 พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ดำเนินการ 7.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร วงเงิน 2.54 หมื่นล้านบาท เป็นงานขุดคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ เลี่ยงน้ำไม่ให้เข้าตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาที่เป็นแหล่งมรดกโลก และแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ความยาวรวม 22.50 กิโลเมตร เขตคลองกว้าง 200 เมตร และในเขตชุมชน กว้าง 110 เมตร
เติมศักยภาพแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค
พร้อมก่อสร้างถนนบนคันคลองกว้าง 8 เมตร ทั้ง 2 ฝั่ง และก่อสร้างประตูระบายน้ำปลายคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร จำนวน 1 แห่ง พร้อมอาคารประกอบตามแนวคลองระบายน้ำหลากค่าก่อสร้าง 25,400 ล้าน บาทก่อสร้าง 8 ปี (2562-2569) ปัจจุบันผลงาน 51% หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างได้เฉลี่ย 1.9 -2.5 ล้านไร่ต่อปีและสามารถลดระดับความลึกของน้ำท่วมลงได้ และเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำสำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านเกษตรกรรวม 229,138 ไร่ มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค 15 ล้าน ลบ.ม.
8. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน วงเงิน 2.6 พันล้านบาท จะขุดคลองระบายน้ำหลากลัด(Bypass) แม่น้ำท่าจีนบริเวณ อ.โพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี ขุดช่องลัดแม่น้ำท่าจีนที่มีลักษณะเป็นกระเพาะหมูจำนวน 4 แห่ง และขุดลอกแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่ กิโลเมตรที่ 40 จากปากแม่น้ำขึ้นมา ซึ่งจะสามารถเพิ่มการระบายได้จาก 464 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 535 ลบ.ม.ต่อวินาที
9.โครงการพื้นที่รับน้ำนอง เป็นการบริหารจัดการน้ำใน 11 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา สามารถรับน้ำได้รวม 1,700 ล้าน ลบ.ม.โดยการปรับปรุงอาคาร 84 รายการ ดำเนินการแล้ว 28 รายการ
นายฐนันดร์ กล่าวว่า ทั้ง 9 แผนงาน มีความสำคัญ เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต แต่เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ เป็นโครงการที่ต้องใช้งบลงทุนค่อนข้างสูง มีผลกระทบกับราษฎรในพื้นที่ กรมชลประทานจึงพิจารณาในส่วนของแผนงานที่สามารถดำเนินการได้ทันที รวมทั้งจะดำเนินการเตรียมความพร้อม ชี้แจง ทำความเข้าใจ รับฟังความเห็นของราษฎรในพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันที่เหมาะสม
ทั้งนี้บางโครงการอาจจะมีความล่าช้าในการดำเนินการไปบ้าง แต่กรมชลประทานจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยเร็วที่สุด