เมื่อไทยและนานาประเทศต้องรับมือกับมิจฉาชีพ

เมื่อไทยและนานาประเทศต้องรับมือกับมิจฉาชีพ

นับวันปัญหากลโกงและหลอกลวงทางการเงินโดยมิจฉาชีพจะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ความล้ำของวิธีการ รวมถึงความฮึกเหิมอาจหาญของเหล่ามิจฉาชีพในยุคนี้น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ละเว้นแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีของเรา

ปัญหามิจฉาชีพเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่แพร่ระบาดไปทั่วทั้งโลกมาระยะหนึ่งแล้ว

รายงาน Global Financial Crime Report 2024 ได้ประเมินว่า ในปี 2023 ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากกลโกงทางการเงินของมิจฉาชีพทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 485.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท) โดยกว่าครึ่งเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในเอเชียแปซิฟิก และราวร้อยละ 80 เป็นกลโกงที่เกี่ยวกับการโอนจ่ายและชำระเงิน  โดยจากการสำรวจพบว่ากลโกงส่วนมากจะเกี่ยวกับ การโอนชำระเงินแบบ real-time การจ่ายสวัสดิการของรัฐ และกลโกงที่มุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ

มาตรการจัดการกับปัญหากลโกงทางการเงินของมิจฉาชีพนั้น มีทั้งด้านของการป้องกันและการปราบปราม ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละทิ้งการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประสบภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพด้วย มาตรการในประเทศต่างๆ อาจจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภค ด้วยการให้ความรู้ทางการเงินเพื่อให้สามารถเข้าใจและรู้เท่าทันความไม่ชอบมาพากล เป็นมาตรการเชิงป้องกันที่สำคัญที่ทุกประเทศต่างดำเนินการ มีงานวิจัยหลายงานในช่วงระยะห้าปีที่ผ่านมา พบว่าความรู้ทางการเงินทั่วไป อาจไม่ช่วยให้ประชาชนรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อกลโกงทางการเงินของมิจฉาชีพ แต่การให้ความรู้เฉพาะแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อตรวจจับความไม่ชอบมาพากล จะมีส่วนช่วยได้มากกว่า ในขณะที่หลายงานวิจัยบ่งชี้ว่า การให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับกลโกงต่างๆ ของมิจฉาชีพ ควรต้องดำเนินการแบบรวมศูนย์ โดยที่ทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องพูดในประเด็นเดียวกันและสื่อสารด้วยข้อความหลักเดียวกัน 

2. มาตรการด้านกฎหมายกฎระเบียบ ด้วยลักษณะของกลโกงทางการเงินในปัจจุบันที่มักจะเริ่มจากธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ กฎหมายกฎระเบียบจึงจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงในเท่าทันต่อสถานการณ์ มีทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกรรมดิจิทัล กฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน

ส่วนในมุมของการเยียวยา ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลายๆ ประเทศได้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบกรณีเกิดความเสียหายจากกลโกงทางการเงิน กำหนดให้สถานันการเงินต้องรับผิดชอบความเสียหายร่วมด้วย เช่นกรณีของสหราชอาณาจักร ได้กำหนดให้สถาบันการเงินผู้ส่งเงินและผู้รับเงิน ต้องร่วมชดเชยความเสียหายให้กับเหยื่อมิจฉาชีพ  กรณีของสิงคโปร์ ได้กำหนดให้สถาบันการเงินและบริษัทโทรคมนาคมเจ้าของเครือข่าย ต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายให้กับเหยื่อมิจฉาชีพด้วยเช่นกัน ในส่วนของ EU ก็ได้ออกกฎระเบียบให้ผู้ให้บริการการโอนชำระเงิน และบริษัทโทรคมนาคมเจ้าของเครือข่าย ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดแก่เหยื่อของมิจฉาชีพเช่นกัน หลักการสำคัญประการหนึ่งของการร่วมรับผิดชอบชดเชยความเสียหายคือการที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรจะต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเสียก่อน

การออกกฎหมายกฎระเบียบเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของการปราบปรามและเยียวยา สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและทั่วถึง รวมถึงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการที่สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันของหน่วยงานรัฐ เนื่องจากกฎหมายกฎระเบียบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นมีมากมาย สร้างความสับสนให้เกิดช่องโหว่ในทางปฏิบัติ สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาในหลายๆ ประเทศและประเทศไทย คือการจะบ่งชี้ว่าหน่วยงานภาครัฐใดเป็นเจ้าภาพในการปราบปรามมิจฉาชีพและกลโกงทางการเงินต่างๆ

3. การเปิดเผย แลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ข้อมูล บรรดาภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน แพลดฟอร์ม ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ควรจะเปิดเผยข้อมูลของผู้ฉ้อโกงทางการเงินและมิจฉาชีพต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ประชาขนได้ตระหนักและระแวดระวังภัยเหล่านั้น การแชร์ประสบการณ์ตรงโดยเหยื่อมิจฉาชีพผ่านช่องทางการต่างๆ ก็สามารถมีส่วนช่วยได้มากเช่นกัน 

การแลกเปลี่ยนข้อมูลการชำระเงินระหว่างสถาบันการเงินผู้ให้บริการโอนชำระเงินต่างๆ และผู้เล่นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์ของการโอนเงิน จะสามารถมีส่วนช่วยตรวจจับความผิดปกติของรายการชำระเงินได้ ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อป้องกันความเสียหาย จะมีประสิทธิภาพของสูงสุดเมื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกิดขึ้นได้แบบ real-time ประกอบการนำ AI มาใช้ในการตรวจจับความผิดปกติ อย่างไรก็ดี ประโยชน์อาจกลายเป็นโทษได้ทันที หากโครงสร้างพื้นฐานของการจัดส่งข้อมูลไม่มีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ และกระบวนการตรวจสอบอัตลักษณ์ไม่ถูกต้องแม่นยำ การสร้างระบบเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ต้องระวังไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและเป็นภาระแก่ประชาชนเพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในที่สุด

ย้อนกลับมาดูกรณีของประเทศไทย คงต้องยอมรับว่าพวกเราทุกคนประสบภัยจากมิจฉาชีพกันอยู่ทุกวัน ดูเหมือนการดำเนินการเพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยา จะเป็นไปอย่างเชื่องช้า และเมื่อดูจากความซับซ้อนของกฎระเบียบและความหลากหลายของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ให้กังวล เพราะสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน แต่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยของเราไม่เก่งที่สุด คือการมีเจ้าภาพและการทำงานแบบบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพ สถิติ ณ เดือนพฤศจิกายน ปี 2567 ที่ผ่านมา พบความเสียหายสะสมที่เกิดขึ้นในไทยประมาณ 77 ล้านบาทต่อวัน นอกจากความเสียหายที่เป็นมูลค่าตัวเงินดังกล่าวแล้ว การตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงเหล่านี้ ยังก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตและปัญหาเชิงสังคมอื่นๆ ได้อีกด้วย หวังว่าปี  2568 นี้ ประชาชนคนไทยจะได้รับภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งขึ้น มิจฉาชีพได้รับการปราบปรามอย่างจริงจังมากขึ้น และกลไกการเยียวยามีความเป็นธรรมยิ่งขี้น