โรงภาพยนตร์เล็ก เงินทุนสร้างหนัง ฐานราก Thai Soft Power

โรงภาพยนตร์เล็ก เงินทุนสร้างหนัง ฐานราก Thai Soft Power

จับกระแส โรงภาพยนตร์เล็ก เงินทุนสร้างหนัง ฐานราก Thai Soft Power

กรณีโรงภาพยนตร์เล็ก เงินทุนสร้างหนัง ฐานราก Thai Soft Power 

แม้ว่าภาพยนตร์ไทย 'หลานม่า' จะไม่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 97 แต่การติด 1 ใน 15 สุดท้ายจากภาพยนตร์ทั่วโลกกว่า 85 เรื่อง ถือเป็นปรากฎการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์ไทย เพราะเข้าฉายในประเทศทำรายได้มากกว่า 300 ล้าน เข้าฉายที่ประเทศจีน วันแรกรายได้ 100 ล้าน หลังจากเข้าฉายไปแล้วกว่า 15 วัน ก็สามารถทำเงิน 445 ล้าน และออกฉายทั่วโลกกวาดรายได้สูงน่าจะทะลุ 2,000 ล้านบาท
เกริ่นนำด้วย 'หลานม่า' เพื่อจะบอกว่าศักยภาพคนไทยบนเวทีภาพยนตร์โลกนั้น เราสู้ได้และถ้ามีการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราอาจมีภาพยนตร์ไทยที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ในอนาคตได้ไม่เกินความฝัน แต่ความเป็นจริงวงการภาพยนตร์ไทยยังต้องปรับอีกเยอะทั้งภาครัฐและเอกชน

ซึ่งตอนนี้ความคึกคักของหนังไทย คลื่นลูกใหม่อย่างผู้กำกับและทีมงานกำลังสร้างงานและพื้นที่ฉายหนังขนาดเล็ก เพื่อพิสูจน์ผลงานตัวเอง
 

ที่ยินดีล่าสุด คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชัน เดินหน้าแก้ปัญหาโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก (Micro Cinema) ได้ข้อสรุป 4 แนวทาง

1. ใช้มาตรฐานเดียวกัน กรมโยธาธิการและผังเมืองเตรียมออกหนังสือแจ้งเวียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวปฏิบัติเรื่องโรงมหรสพ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ลดความสับสนในการบังคับใช้

2. ปรับแก้กฎหมาย ตั้งอนุกรรมการร่วมเอกชน-รัฐ พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้ Micro Cinema ดำเนินการได้และง่ายขึ้น

3. ศึกษาแนวทางเปรียบเทียบต่างประเทศ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ฯ ศึกษาระเบียบการอนุญาตเปิดโรงภาพยนตร์รูปแบบต่าง ๆ เงื่อนไขความปลอดภัยของต่างประเทศ ส่งข้อมูลให้กรมโยธาธิการฯ ใช้เป็นแนวทางปรับแก้กฎหมายไทย

 4. เสนอแก้กฎหมาย ส่งเสริม Micro Cinema ผลักดันการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อสนับสนุนโรงหนังขนาดเล็ก เสริมศักยภาพพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์
 

สำหรับเรื่องของโรงหนังขนาดเล็กหรือโรงหนังเฉพาะกลุ่ม ถือเป็นโอกาสให้ภาพยนตร์ไทยที่มีงบประมาณจำกัดด้านการจัดฉายและเผยแพร่ได้มีโอกาสอวดสายตาคนดูหนัง

ซึ่งเป็นเรื่องดีแต่ความกังวลเรื่องที่ฝ่ายปกครองมองว่าอาจเป็นแหล่งมั่วสุมหรือไม่อย่างไร อันนี้อาจจะมีหน่วยงานเฉพาะหรือความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการออกใบอนุญาตหรือในการตรวจสอบ เพื่อให้ผู้ประกอบการดีได้สร้างประโยชน์

ส่วนใครจะแอบแฝงทำธุรกิจอื่นต้องถูกจัดการและควบคุม ซึ่งทุกอย่างจะต้องเริ่มทดลองจึงจะเห็นผลดีผลเสียและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จะเกิดประโยชน์แก่วงการภาพยนตร์ไทย

ขณะเดียวกัน นอกจากการสร้างพื้นที่ฉายหนังของกลุ่มคนสร้างภาพยนตร์งบน้อยแล้ว เรื่องทุนรอนในการสร้างฝันสร้างภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย นับเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งภาพยนตร์จะใหญ่หรือเล็กไม่สำคัญเท่าการสร้างออกให้ได้สักเรื่องหรือเรื่องแรกก่อน 

กรณีการเปิดให้ขอรับเงินอุดหนุนสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไทย ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ทำโครงการเสริมสร้างภาพลักษณ์ ความเป็นไทยสู่สากล กิจกรรมเงินอุดหนุนสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและส่งเสริมการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไทย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เปิดผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้สร้างสรรค์ผลงานที่สนใจจะยื่นเสนอรับเงินทุนสนับสนุน มีงบประมาณ 220 ล้านบาท หมดเขตวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้


กล่าวสำหรับ การก้าวเดินของซอฟต์พาวเวอร์ไทย (Thai Soft Power) ด้วยภาพยนตร์ไทย มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง อาจก้าวทีละก้าวไม่ได้ก้าวกระโดดอย่างที่คนในวงการอยากเห็น แต่ก้าวต่อไม่หยุดจะพอได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบ้าง ย่อมดีกว่าที่ผ่าน ๆ มา ในหลายรัฐบาล

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

บทความที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ทั้งหมด

บทความของ นิติราษฎร์ บุญโย ทั้งหมด