เอกชน-นักวิชาการ ผ่าแผนลดค่าไฟ จี้รัฐเปิดเสรีพลังงานหมุนเวียน

"ส.อ.ท." ชี้ ค่าไฟแพงไม่เกี่ยวกับผู้ผลิตไฟควรแก้ให้ตรงจุด เปิดเสรีพลังงานหมุนเวียน "ทีดีอาร์ไอ" ชง 2 แนวทางหนุนตลาดไฟฟ้าเสรีเพื่อราคาที่เป็นธรรม
KEY
POINTS
- การซื้อขา
ปัญหาค่าไฟฟ้าในประเทศไทยยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมามาก เนื่องจากไฟฟ้าถือเป็น 1 ในสิ่งของจำเป็นของทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย
เราคงปฏิเสธไม่ได้ภายหลังที่ปัญหาโควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจประเทศเริ่มฟื้นตัว การใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นมหาศาล อีกทั้ง การคำนวณค่าไฟฟ้าในประเทศไทยส่วนหลักมาจากเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันนำเข้ากว่า 60% ที่เป็น ก๊าซ LNG จากต่างประเทศ ที่มีราคาผันผวนตลอดเวลา
ดังนั้น ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับนโยบายจากภาครัฐให้รับภาระอัตราค่า Ft แทนประชาชนกว่า 1.3 แสนล้านบาท แม้ปัจจุบันจะเรียกเก็บเข้าระบบแล้วแต่ยังคงมียอดรับภาระแทนอยู่หลัก 8 หมื่นล้านบาท เพื่อพยุงค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย. 68 ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย
นายนที สิทธิประศาสน์ ประะธานอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันค่าไฟที่แพงไม่ได้มาจากสัญญาการซื้อขายไฟของเอกชนกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างเดียว ในขณะที่ค่าไฟฟ้าสัญญารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) จะมีอายุสัญญา
สำหรับการซื้อขายไฟลักษณะของ Fit ออกมาเพื่อให้ราคาค่าไฟฟ้าชีวมวลมีความนิ่ง โดยจะคำนวณมาเลยว่าต้นทุนเท่าไหร่ ทั้งค่าเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษา และค่าลงทุน แล้วรัฐบาลควรรับซื้อเท่าไหร่ ซึ่งจะผันแปรนิดหน่อยตามเงินเฟื้อในแต่ละปี ซึ่งกระทรวงพลังงานอยากให้ค่าไฟประมาณเท่าเดิม จึงตัดระยะเวลาในการขายไฟลงมาเพื่อให้มูลค่าปัจจุบันเท่ากับสัญญาเดิม
"ค่าไฟฟ้าที่แพงมาจากต้นทุนการผลิต ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึง 60% หากย้อนไปช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ค่าไฟที่แพงขึ้นมาจากสงครามต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก อีกทั้งก๊าซฯ ในอ่าวไทยมีปัญหาทำให้ราคาสูงเกินกว่าปัจจุบัน หากกฟผ.ไม่รับภาระค่า Ft ให้ก็จะสูงกว่าปัจจุบันมาก" นายนที กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง อีกทั้ง ปัจจุบันเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพและราคาถูกมากขึ้น จะเห็นว่าพลังงานหมุนเวียนขายไฟอยู่ระดับ 2-3 บาทต่อหน่วยเท่านั้น จึงควรเปิดเสรีไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าถูกลงและยังสร้างความมั่นคงให้กับพลังงาน เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพมาก
นายชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางในการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าให้เป็นแบบเสรี ด้วยพลังงานสะอาด ว่า การจะทำตลาดไฟฟ้าเสรีอย่างเป็นระบบได้นั้นภาครัฐต้องคำนึงถึง 2 ส่วนสำคัญ ดังนี้
1. เร่งเปิดสิทธิ์ให้เอกชนเชื่อมต่อระบบสายส่ง และสายจำหน่ายไฟฟ้า โดยดำเนินการเป็นระยะ ๆ ทยอยเริ่มจากเปิดสิทธิ์ให้กับภาคส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการ CBAM และภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด 100% (RE 100) ภายในปี พ.ศ.2573
2. การคิดค่าธรรมเนียมเชื่อมต่อสายส่ง ต้องสอดคล้องกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของตลาดพลังงานที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยในส่วนของต้นทุนระบบโครงข่าย (Wheeling Charge) ควรมีติดตามและทบทวนการคำนวณต้นทุนของระบบทุก 3-5 ปี เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ในระยะแรกควรมีการคิดต้นทุนของระบบที่ไม่ซับซ้อน โดยขึ้นกับระยะทางเป็นหลักและปรับเป็นการเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโครงข่าย
ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องขยับเข้าสู่ตลาดไฟฟ้าเสรีซึ่งหากไทยไม่เร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีเพื่อเร่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด จะเผชิญกับผลกระทบใน 3 ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
1. ด้านเศรษฐกิจ การไม่เปิดตลาดไฟฟ้าเสรีจะทำให้ผู้ประกอบการได้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดไม่เพียงพอ ซึ่งกระทบต่อไปยังต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าผ่านโครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariffs (UGT) ในราคาที่มีต้นทุนสูงกว่าไฟฟ้าทั่วไป
นอกจากนี้ การที่ไทยไม่สามารถจัดสรรไฟฟ้าพลังงานสะอาดมากพอ ยังกระทบต่อการส่งออก ตามกลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ทำให้ผู้ส่งออกต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอนซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันหากไทยยังไม่เร่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด อาจทำให้ประเทศสูญเสียการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติถึง 45% ของมูลค่าการลงทุนรวมจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนในไทยรวมกว่า 8.7 แสนล้านบาท (ปี 2561-2566)
รวมทั้งสูญเสียโอกาสดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องพึ่งพาพลังงานสะอาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีมูลค่าถึง 6.9 แสนล้านบาท หรือ 48% ของมูลค่าการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด
“การที่เป้าพลังงานสะอาดของรัฐ และความต้องการพลังงานสะอาดของภาคธุรกิจ ไม่สอดคล้องกันทำให้เกิดช่องว่า เสี่ยงที่อาจจะทำให้ภาคการผลิต ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น หรือเลือกซัพพลายเออร์จากประเทศที่มีที่มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนกว่า ดังนั้น ถ้าไทยมีการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีจะส่งเสริมให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับประเทศ เป็นการช่วยปิดความเสี่ยงจากการถอนการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ได้”
2. ด้านสังคม พบว่าจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จะส่งผลให้ตำแหน่งงานในธุรกิจสีน้ำตาล (ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ลดลง สำหรับประเทศไทยมีตำแหน่งงานที่อยู่ในธุรกิจสีน้ำตาลที่มีความเสี่ยงที่จะลด และหายไปจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสูงถึง 11 ล้านตำแหน่ง แต่ในขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการเติบโตของงานสีเขียวในประเทศเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
จึงกล่าวได้ว่างานสีเขียวในไทยเติบโตไม่ทันที่จะรองรับแรงงานที่มาจากธุรกิจสีน้ำตาล และยังทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เนื่องจากรายได้ของแรงงานสีเขียวมีแนวโน้มสูงกว่าแรงงานดั้งเดิม ดังนั้น การเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีจะเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนมาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ผ่านการสร้างตำแหน่งงานใหม่ในสังคม และพัฒนาทักษะแรงงานในปัจจุบัน
3. ด้านสิ่งแวดล้อม หากไทยไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดได้เพียงพอ ภาคการผลิตต่าง ๆ ยังต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลต่อไป ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ลดลง และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเดินสู่เป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน
“ประเทศไทยต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดในราคาที่เป็นธรรมเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขัน รักษามูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ป้องกันผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านเครื่องมือที่จะช่วยให้เป้าหมายนี้เกิดขึ้นจริงอย่างมีประสิทธิภาพ คือการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด โดยหัวใจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือ เปิดตลาดไฟฟ้าเสรีเพื่อเร่งผลิตไฟฟ้าสะอาดให้ได้ 41% ภายในปี พ.ศ. 2573 ให้กับภาคส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจาก CBAM และภาคการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งควรที่จะถูกระบุในร่างแผน PDP 2024 ด้วย แต่น่าเสียดายว่าการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาดกลับไม่ได้ถูกหยิกยกมาไว้ในร่างแผน PDP แต่อย่างใด”