รู้จักคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ แนวคิดทีมบ้านพิษณุโลกแก้เทรดวอร์ทรัมป์

ประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายภาษีของทรัมป์ โดยเป็นคู่ค้าที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ อันดับ 10 โดยปี 2567 เกินดุลกว่า 41,500 ล้านดอลลาร์อรัฐบาลตั้ง “คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ” เพื่อเตรียมรับมือแต่งตั้งเมื่อ 6 ม.ค. 2568 เพื่อวิเคราะห์ วางแผน สนับสนุนข้อมูลเชิงกลยุทธ์
KEY
POINTS
- ประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายภาษีของทรัมป์ โดยไทยเป็นคู่ค้าที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ อันดับ 10 โดยปี 2567 เกินดุลกว่า 41,500 ล้านดอลลาร์
- รัฐบาลตั้ง “คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ” เพื่อเตรียมรับมื
การเตรียมความพร้อมรับมือนโยบายภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯถือเป็นภารกิจสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของรัฐบาลในปีนี้เพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ได้รับการคาดหมายว่าจะถูกสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษี เนื่องจากเราเป็นคู่ค้าที่มีการเกินดุลสหรัฐฯในอันดับ 10 โดยข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯประมาณ 41,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่เกินดุลประมาณ 40,700 ล้านดอลลาร์
ท่ามกลางข้อเรียกร้องจากเอกชนที่ให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมในการตั้ง “ทีมไทยแลนด์” หรือ “วอร์รูม” ขึ้นมารับมือสงครามการค้ารอบใหม่จากสหรัฐฯ การรับมือเรื่องนี้จากรัฐบาลเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อย และมีการเปิดเผยรายละเอียดการเตรียมการเจรจากับสหรัฐฯให้สาธารณะชนรับทราบไม่มากนัก
ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเรื่องการศึกษามาตรการทางการค้ากับสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ประกาศนโยบายทางการค้า เช่น กำแพงภาษี ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยรวมถึงสินค้าอื่น เช่น อิเล็กทรอนิกส์
โดยรัฐบาลแต่งตั้ง “คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2568 เพื่อศึกษาวางแผนและรับมือนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยกับสหรัฐ เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการค้า และการลงทุนของประเทศ
บ้านพิษณุโลกเบื้องหลังคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นเป็นไปตามคำแนะนำของ “ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่นายกรัฐมนตรีต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องในการที่จะวางบทบาทของประเทศในการเจรจากับสหรัฐ หากไทยต้องตกเป็นเป้าการขึ้นภาษีจริง โดยคณะทำงานที่ตั้งขึ้นนั้นจะเป็นคณะทำงานขนาดเล็ก ที่มีบทบาทเป็นเหมือนคณะทำงานระดับมันสมอง (Think Tank) เพื่อที่จะสนับสนุนข้อมูล และช่วยวางแนวทางในการตัดสินใจในเรื่องนี้ให้กับ ครม.และนายกรัฐมนตรี
องค์ประกอบ“คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ”
สำหรับคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯประกอบไปด้วยสมาชิก 8 คน โดยมี ที่ปรึกษาคณะทำงาน 2 คน ได้แก่ ดร.พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
ส่วนคณะทำงานมี 6 คน ได้แก่
1.นายนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะทำงาน
2.นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
3.นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
4.นางสาวใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
5.นางขวัญนภา ผิวนิล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมการค้าต่างประเทศ อดีต ผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส
และ 6.นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
สำหรับหน้าที่และอำนาจของคณะทำงานได้แก่ 1.วิเคราะห์ ศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกลยุทธ์การเจรจากับรัฐบาลสหรัฐเตรียมการรองรับนโยบายการค้าของสหรัฐ 2.จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานเชิงรุกทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี
3.สั่งการ ประสานงาน และติดตามส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐปฏิบัติงานภายในชอบเขตหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย รวมทั้งขอความร่วมมือภาคเอกชนเพื่อให้ดำเนินการตามนโยบายและมาตรการ
4.สื่อสาร ชี้แจง และให้ข้อมูลต่อประชาชน เพื่อสร้างความรู้เท่าทันและความเข้าใจที่ตรงกันในสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึง จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวสำหรับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
5.เชิญบุคคลหรือคณะบุคคลเข้าร่วมประชุม หรือขอเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานหรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชนในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามคำสั่ง และ 6.ปฏิบัติการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย