จุลพันธ์ มั่นใจคลังดัน GDP ปีนี้โตเกิน 3% สูงกว่า สศช.คาด เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

“จุลพันธ์” มั่นใจจีดีพีปี 68 โตได้ถึง 3 % เผยคลังเตรียมผุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในไตรมาสสองไปถึงครึ่งปีหลังพยายามดันจีดีพีให้ได้ถึง 3.5 % เล็งเพิ่มประสิทธิภาพการแจกเงิน 1 หมื่น ส่วนโครงการลงทุนแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วประทศอาจทำได้แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสม
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 2.8% ต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% ว่ากระทรวงการคลังยังมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 3%
โดยนอกจากมาตรการการแจกเงิน 10,000 บาท ที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 คณะอนุกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เตรียมมาตรการและกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มได้อีก 0.5%
ส่วนการแจกเงิน 10,000 บาทนั้นจะต้องป้องกันการรั่วไหลของการแจกเงินที่แน่นอนว่าเมื่อลงไปมันก็ต้องมีกลไกที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเราก็จะต้องสามารถเข้าไปกำกับและอุดรอยรั่วเหล่านี้ ก็จะช่วยใรเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ถึง 0.2% และพยายามดันจีดีพีในภาพรวมให้ถึง 3.5 %
“สิ่งที่บอกคือกลไกในการขับเคลื่อนให้เม็ดเงินที่ลงไปสู่ระบบสามารถหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงนี้เป็นหน้าที่กระทรวงการคลังต้องเข้าไปกระชับ ตอนนี้กลไกและสภาวะการทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งนี่คือการฉายภาพซึ่งกระทรวงการคลังก็มีความมั่นใจแม้ว่าสถาบันการเงิน สถาบันการศึกษาก็อาจมีตัวเลขที่แตกต่างก็เป็นเรื่องปกติ”
สำหรับเรื่องที่จีดีพีไทยโตต่ำกว่า 3% รั้งท้ายในอาเซียนนั้น จุลพันธ์กล่าวว่าการฉายภาพเป็นแบบนี้ทุกครั้งซึ่งหากย้อนไป 10 ปีก่อนการฉายภาพก็ตกเฉลี่ยประมาณ 2% ปลายๆ ทุกปีเเต่การเติบโตจริงไม่เคยถึง 2 % เฉลี่ยประมาณ 1.9 % มานาน แต่ปีที่ผ่านมาจากการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเห็นว่าเราทำได้เกินกว่าเป้าหมายสามารถไปแตะ 2%กว่าๆทุกปี เกินกว่าเป้าหมายในระดับหนึ่งและปีนี้เรายังมีกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เรื่องกลไกที่ทำเรื่อง easy e-receipt ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งสิ้น
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอขอ สศช.ที่บอกว่าให้เเบ่งงบประมาณจากโครบการเงินดิจิทัลรอบ 3 มาทำโครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศจะทำให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในส่วนนี้เป็นเงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเช่นเดียวกันแต่คนละกลไก ในการใช้ที่อาจมีความแตกต่าง ในมุมนั่นมันเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างโดยเพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน มุมนี้รัฐบาลไม่ได้ละเลยและมีกลไกในการทำอยู่แล้วตามงบประจำปี และงบกลางฯ
ซึ่ง ครม.สัญจรที่สงขลาวันนี้ก็มีที่จะอนุมัติ สิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน นี่เป็นเงินบาทเดียวกันแต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรนั้นต้องเรียนว่ากลไก ในการใช้เงินความเป็นรัฐมันไม่มีประสิทธิภาพด้วยซ้ำ ที่ซึ่งเม็ดเงินที่ลงถึงประชาชนที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนมากมาจากการจับจ่ายใช้สอย การลงทุนครอบครัวครัวเรือน แต่ของภาครัฐในการผ่านการจัดซื้อจัดจ้างกว่าจะลงไปในระบบนั้นกลับ ช้ากว่าแต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ดี แต่หมายความว่าความเป็นรัฐบาลมีระบบอยู่เราก็เติมเงินลงไปให้กับประชาชน
ขณะเดียวกันเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานเรามีกลไกอื่นอยู่แล้ว ซึ่งหากจะมีความจำเป็นในการแบ่งสัดส่วนออกไปสร้างนั้นเราก็คุยกันได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณา
เมื่อถามว่าควรจะมีการหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังอีกหรือไม่นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ควรอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะต้องมีแผนตอนนี้คิดอยู่ว่ากลไกในการใช้เม็ดเงินจากจุดไหนและวิธีการอย่างไรและจะใช้วิธีการอย่างไรเราก็ต้องหาข้อสรุปอีกครั้ง
เมื่อถามว่าต้องคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็มีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มาโดยตลอด เชื่อว่าการพูดคุยเป็นไปตามที่ทุกฝ่ายต้องการ แม้ว่า โจทย์ก็อาจจะมีการชั่งน้ำหนักที่แตกต่างกันบ้าง ในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจกับเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน จุดนี้ทั้งสองฝ่ายก็ต้องมีการหารือร่วมกัน
เมื่อถามว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้าคาดหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะมีมาตรการเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินมาช่วยหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ตนไม่คาดหวัง เพราะต้องเข้าใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นอิสระ
รัฐบาลคงไม่พูดเรื่องนี้แล้วคงเข้าใจว่ากลไกอย่างไหนจะสร้างเสรีภาพทางการเงินได้กลไกอย่างไหนจะเป็นการส่งเสริมช่วยเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาลและทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายได้ดี ตนเชื่อว่า กนง.จะมีความเข้าใจ ส่วนจะคาดหวังหรือไม่ตนไม่พูดดีกว่าเพื่อให้ กนง.มีความสบายใจในการตัดสินใจ