ขนส่งทางทะเลไทยปี68โต2.5-3.5% ดึงทุนนอกสนร่วมพัฒนา“แหลมฉบัง”

ขนส่งทางทะเลไทยปี68โต2.5-3.5%    ดึงทุนนอกสนร่วมพัฒนา“แหลมฉบัง”

ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรี อ้างอิงถึงข้อมูลจาก การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ว่า ปริมาณขนส่งสินค้าทางทะเลทั่วโลกจะเติบโต 2.5% ในปี 2568

เร่งขึ้นจาก 2.0% ในปี 2567 เป็นผลจากการค้าโลกมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ช่วยหนุนภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยเติบโตในทางเดียวกัน โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่าปริมาณขนส่งสินค้าทางทะเลของไทยจะขยายตัวเฉลี่ย 2.5-3.5% ต่อปีในปี 2568-2570 เทียบกับ 2.7% ปี 2567 

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงทิศทางการเติบโตทางการค้าที่จะส่งต่อให้ธุรกิจท่าเรือซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต้องเร่งพัฒนาเพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆที่กำลังจะมาถึง

บริษัท Terminal Investment Limited (TiL) ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 โดยครอบครัว Aponte เพื่อบริหารจัดการและรักษาศักยภาพของธุรกิจเดินเรือรายใหญ่ของโลกอย่าง MSC : Mediterranean Shipping Company ซึ่ง ก่อตั้งเมื่อ 2513  โดย Gianluigi Aponte หรือเรียกได้ว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน  ทำให้ทั้งสองธุรกิจที่มีฐานที่เจนีวา  สวิสเซอร์แลนด์ แต่มีสาขามากกว่า 155 ทั่วโลก และปัจจุบันขยายธุรกิจไปมากกว่าแค่การให้บริการขนส่งทางทะเล แต่ครอบคลุมถึงทางอากาศและทางรางด้วย 

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับMr. Raphaël Boden รองผู้อำนวยการด้านการลงทุนท่าเรือ Terminal Investment Limited (TiL)และคณะ ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบริหารท่าเรือสำหรับตู้สินค้า มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บริหารท่าเรือใน 31 ประเทศ ตามเส้นทางการเดินเรือหลักทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สเปน

โดยการหารือกับ TiL ในครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 และการลงทุนในท่าเรือใหม่ E1 และ E2 รวมไปถึงนโยบายรัฐบาลที่มุ่งมั่นผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถของ ทลฉ. ให้สอดรับกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคอินโดจีนและเป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่จีนและอินเดีย

รวมถึงมีเป้าหมายในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อผลักดันให้ ทลฉ. พัฒนาสู่การเป็น Green Port ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการรักษาความยั่งยืนของโลกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

นางมนพร กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการรองรับปริมาณตู้สินค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยปัจจุบันสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 11.1 ล้าน TEU/ปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10 ล้าน TEU/ปี ในปี 2568 ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ประกอบด้วย

งานก่อสร้างทางทะเล งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือและระบบสาธารณูปโภค งานก่อสร้างระบบรถไฟ และงานจัดหาเครื่องมือและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนที่กำหนด โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการท่าเทียบเรือ F1 ได้ในปี 2570 และจะก่อสร้างท่าเทียบเรือ F2 ในปี 2572 กำหนดเปิดให้บริการในปี 2574

ทั้งนี้ จากรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 กำหนดไว้ว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการในขั้นตอนการคัดเลือกบริษัทเอกชน เพื่อร่วมลงทุนท่าเทียบเรือ E พร้อมทั้งลงนามสัญญาในปี 2572 เพื่อให้สามารถก่อสร้างเทียบเรือ E0 ได้ในปี 2573 และเปิดให้บริการในปี 2575 ส่วนท่าเทียบเรือ E1 และ E2 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2575 และปี 2577 ตามลำดับ

ทั้งนี้ นางมนพร ได้กล่าวขอบคุณ Mr. Raphaël Boden และคณะผู้แทนจากบริษัทTiL รวมถึงบริษัท Mediterranean Shipping Company (MSC) ที่ให้ความสนใจในการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในอนาคตต่อไป

ข้อมูลจากวิจัยกรุงศรี ระบุอีกว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางทะเลมากกว่า 53% ของการขนส่งสินค้าทางทะเลทั่วโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( IMF) คาดว่าจะเติบโต 4.6-5.0% ต่อปี ทั้งยังมีเส้นทางขนส่งทั้งทางรางและทางทะเลที่เชื่อมโยงกันระหว่างเอเชีย-แอฟริกา-ยุโรป ตามโครงการ Belt and Road Initiative จะหนุนปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องที่ระดับ 2.5-3.0% ต่อปีโดยมีแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว ผนวกกับไทยจะได้ประโยชน์ด้านการส่งออกจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade diversion) และการเร่งเปิดตลาดส่งออกใหม่ในตะวันออกกลางและแอฟริกา หลังมาตรการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ขณะที่ภาวะโลกร้อนและความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ทำให้หลายประเทศต้องการสินค้ากลุ่มอาหารจากไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารอันดับต้นๆ ของโลกเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร 

นอกจากนี้ การเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจการค้าออนไลน์ที่ระดับเฉลี่ย 15.0% ต่อปี (ที่มา: e-Conomy SEA 2024) จะช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าเพื่อตอบสนองผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ปัจจัยข้างต้นทำให้คาดว่าความต้องการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบ รวมถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์จะปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง

การค้าโลกมีการแบ่งขั้ว (Decoupling) ชัดเจนขึ้นและการกีดกันการค้าที่จะทวีความเข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐ-จีน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาลงทุนที่ไทยมากขึ้นจากข้อได้เปรียบของไทยที่อยู่ในทำเลศูนย์กลางอาเซียน มีความพร้อมด้านโครงสร้าง

พื้นฐานและนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ เช่น ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกของ BOI ในปี 2567-2570 และมีการทำความตกลงทางการค้าทั้งทวิภาคีและพหุภาคีกับหลายประเทศ จะเพิ่มโอกาสเติบโตของการขนส่งสินค้าที่หลากหลายและกระจายตัวมากขึ้น รวมถึงการขยายฐานรายได้จากตลาดและเส้นทางขนส่งใหม่ที่มีมากขึ้น

แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำจากภาครัฐเชื่อมเส้นทางโลจิสติกส์ทั้งระบบเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วต่อการขนถ่ายสินค้า โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) อาทิ  โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3, โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 เพื่อเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในอาเซียนจะรองรับการขนถ่ายปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มขึ้น 16 ล้านตันต่อปี (เฟส 3 ช่วงที่ 1 เปิดปี 2569) และการลงทุนระบบสนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเช่น การใช้เครื่องจักรยกตู้สินค้าที่ส่งมาทางเรือและทางรางสู่รถบรรทุกในศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟระยะที่ 2 (ท่าเรือแหลมฉบัง) เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าระหว่างเรือ-ราง-รถ และการพัฒนาท่าเรือภูมิภาคเชื่อมการขนส่งเส้นทางกระบี่-พังงา-ภูเก็ต (เริ่มก่อสร้างปี 2567-2576)

การเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าของไทยอาทิ โครงการ New International Land and Sea Trade Corridor: ILSTC (ปี 2566-2570) ของจีน ซึ่งเชื่อมต่อเส้นทางกับโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) และเชื่อมต่อไทยและอาเซียนทางเรือผ่านท่าเรือชินโจว เน้นการขนส่งสินค้ารูปแบบ “เรือ- ราง” เป็นหลัก ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงโครงข่าย China-Europe Railway เพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้ จึงเพิ่มโอกาสแก่ผู้ประกอบการของไทยในการขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง (ใช้เวลา 6 วัน) หรือท่าเรือกรุงเทพฯ (5 วัน) ไปยังท่าเรือชินโจว 

นอกจากนี้ หลายประเทศในอาเซียนเร่งลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ทางน้ำ เพื่อรองรับความต้องการของสายการเดินเรือทั่วโลก เนื่องจากเส้นทางขนส่งทางน้ำของอาเซียนมีความสำคัญ โดยเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อประตูการค้าจากเอเชียตะวันออกไปยังภูมิภาคอื่นทั่วโลก

ขนส่งทางทะเลไทยปี68โต2.5-3.5%    ดึงทุนนอกสนร่วมพัฒนา“แหลมฉบัง”