ไข้หวัดนก ระบาดในต่างประเทศกับความมั่นคงอาหารของไทย

ไข้หวัดนก ระบาดในต่างประเทศกับความมั่นคงอาหารของไทย

สหรัฐอเมริกา โปแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย ต่างกำลังเผชิญปัญหาไข้หวัดนก

โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งสถานการณ์ยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  มีรายงานคนติดเชื้อไข้หวัดนกและเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้แล้ว ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯทำลายไก่ไปแล้วจำนวนมาก

ราคาไข่พุ่งไปถึงโหลละ 11 ดอลลาร์สหรัฐ หรือฟองละ 30 บาท ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งต้องจำกัดปริมาณการซื้อ และยังมีข่าวการขโมยไข่ไก่นับแสนฟองในบางรัฐ 

แม้ปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกจะเกิดที่ต่างประเทศ และไทยก็มีมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วยระบบคอมพาร์ทเมนท์ที่พัฒนาขึ้นหลังวิกฤตการณ์ไข้หวัดนกเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ถือเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ

เพราะ มีการแยกพื้นเสี่ยง ควบคุมการเคลื่อนย้าย และมีระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาอย่างเข้มงวด จนประเทศไทยไม่มีรายงานการระบาดของไข้หวัดนกมานานแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องนำเข้าพันธุ์ไก่และเป็ดจากต่างประเทศจำนวนมาก (ไม่ต่ำกว่า 80%) การระบาดของโรคต่างๆ ที่ประเทศต้นทางที่ผลิตสายพันธุ์ (สหรัฐ และ ยุโรป) ตั้งแต่ระดับปู่-ย่า (Grand Parents Stock) ถึง พ่อ-แม่ (Parent Stock)

ทำให้ไทยมีปัญหาการนำเข้าสายพันธุ์ไก่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดแคลนไก่เนื้อ ไก่ไข่ หรือเป็ดเนื้อในประเทศได้ โดยเฉพาะไก่เนื้อที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกลำดับต้น ๆ ของโลก การระบาดของโรคต่างๆ ในต่างประเทศจึงส่งผลกระทบต่อไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนไก่ เป็ด หรือ ไข่ ในอนาคต รัฐบาลต้องสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์สัตว์ของไทยเองให้ได้ แม้ต้องใช้งบประมาณและเวลาจำนวนมากก็ตาม 

แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการจากกรมปศุสัตว์ที่เข้มงวดแล้ว แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะป้องกันการเข้ามาของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ การลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและสร้างสุขภาพสัตว์ที่แข็งแรง ด้วยการจัดการและอาหารที่ดีจึงเป็นหัวใจหลักสำหรับการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง หรือ ใหญ่ 

ตัวอย่างการปรับตัวของไทยล่าสุดที่ให้ความสำคัญกับการจัดการคือ  มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (GAP ฟาร์มไก่ไข่) ในฟาร์มที่มีขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 1,000 ตัวขึ้นไป ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ จากที่เคยบังคับใช้มาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่ไข่ ขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป

มาตรฐานนี้จะทำให้ฟาร์มฯต้องคำนึงถึงการจัดการ การให้อาหาร และการป้องกันโรคที่ดี เพราะการเลี้ยงสัตว์ตามหลักวิชาการจะทำให้ได้ผลผลิตและภูมิคุ้มกันโรคสูง 

มาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่ไข่ ตั้งแต่ 1,000 ตัว อาจสร้างความลำบากและยุ่งยากแก่เกษตรกรระยะสั้น แต่จะเป็นประโยชน์ระยะยาว ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่น้อยกว่า 1,000 ตัว แม้ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ (GAP) ดังกล่าว แต่กรมปศุสัตว์คงส่งเสริมให้เข้าสู่มาตรฐานทางเลือกได้ เช่น ปศุสัตว์อินทรีย์ หรือ ฟาร์มไก่ไข่เลี้ยงปล่อยอิสระ 

วิกฤติไข้หวัดนก ในต่างประเทศทำให้ไทยต้องเข้มงวดกับมาตรการต่างๆให้มากขึ้น ยกระดับความรู้ความสามารถการเลี้ยงของเกษตรกรให้ใกล้เคียงกับบริษัทขนาดใหญ่ เพราะการเลี้ยงสัตว์เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ 

การให้ความรู้กับเกษตรกรเชิงวิทยาศาสตร์จึงมีความจำเป็น ที่สำคัญไทยต้องเร่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์ของเราเอง เพื่อลดความเสี่ยงกับการขาดความมั่นคงทางอาหารในอนาคต.