“ข้าวไทยราคาตก” ระเบิดเวลา ถล่ม รัฐบาล " เพื่อไทย"

ม็อบชาวนา กลับมาแล้ว ! ประท้วงราคาข้าวตก จี้ รัฐบาลช่วยเหลือ อนุนบข.ด้านการตลาด เคาะ 3 มาตรการเร่งด่วน ใช้งบ1,893 ล้านบาท สมาคมชาวนา จี้ อานโยบายประกันรายได้
KEY
POINTS
- ม็อบชาวนา ลุกฮือ ประท้วงราคาข้าวตกต่ำ เรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหา
- “พิชัย นริพทะพันธุ์ “รมว.พาณิชย์ ถูกส.ส.เพื่อไทยรุมสับ ไร้ผลงาน เดินสายต่างประเทศ ไม
“ชาวนา” ถือเป็นเกตรกรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ทำให้พรรคการเมืองมอง " ชาวนา"เป็นฐานเสียงสำคัญในการเกื้อหนุนให้ได้รับเลือกเป็น ส.ส. และได้เป็นรัฐบาล เพราะจำนวนชาวนาในประเทศไทยมีกว่า 4.3 ครัวเรือน ซึ่งเป็น”เสียง”ที่พรรคการเมืองต้องการ ดังนั้นนักการเมือง พรรคการเมือง ล้วนออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชาวนาในรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะ “ราคาข้าว” ที่ผ่านมาพรรคการเมืองออกนโยบายจูงใจ “ชาวนา” เช่น ประกันรายได้ จำนำข้าว จนได้รับเลือกเป็นรัฐบาล
หลายปีที่ผ่านมา จะไม่ค่อยเห็น "ม็อบชาวนา" ออกมาประท้วง "ราคาข้าวตกต่ำไเนื่องจาก ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นเกิน 1หมื่นบาทต่อตัน โดยในเดือนมี.ค.67 ราคาข้าว 11,00-16,000 บาทต่อตัน สูงสุดในรอบ 17 ปี
แต่ หลังพรรค “เพื่อไทย”บริหารประเทศมาแล้ว 2 ปี สถานการณ์เปลี่ยน หมดยุคทองของข้าวราคาสูง ต้องเจอกับ “ราคาข้าวตกต่ำ “ เหลือเพียง 6,000-8,000 บาทต่อไร่ ส่งผลให้ “ม็อบชาวนา” กลับมาอีกครั้งในรอบหลายปี รวมตัวประท้วงให้รัฐบาลปัญหาราคาข้าวตกต่ำ
เริ่มจากเมื่อวันที่ 9 ก.พ. บุกกระทรวงพาณิชย์ จี้แก้ปัญหาเสนอ 2 แนวทาง 1. โครงการประกันรายได้ข้าวเปลือกเจ้า(ความชื้น 15 %)ตันละ 11,000 บาท จะช่วยพยุงราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันข้าวเปลือกเกี่ยวสด ความชื้อ 25 % ขึ้นไป ขายได้ 6,000-7,000 บาท เท่านั้น และ 2.มาตรการชดเชยรายได้ให้กับเกษตร
ข้อเรียกร้องของม็อบชาวนา ถูกเพิกเฉย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ม็อบชาวนา ลุกฮือ ปิดถนนสายเอเชียรปิดถนนจำนวนสามเลนเหลือช่องการจราจรให้รถยนต์สามารถผ่านได้เพียงหนึ่งช่องการจราจร ส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นแถวยาว สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้ถนน จนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต้องมาไกล่เกลี่ย รับข้อเสนอเพื่อประสานไปยังผู้เกี่ยวข้อง ก่อนที่ชาวนาจะยอมสลายตัวไป
ปรากฏการณ์”ม็อบ”ชาวนา ส่งสัญญาณแรงไปยังรัฐบาล”เพื่อไทย”ให้เร่งแก้ปัญหา แม้ว่าจะมีส.ส.หลายคนนำเรื่อง ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเข้าไปหารือในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร
ขณะที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยเอง โดยเฉพาะสส.ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย ไม่พอใจ”พิชัย นริพทะพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องลงมาแก้ปัญหา แต่กลับเดินสายต่างประเทศ ปล่อยให้สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ทั้งมันสำปะหลัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว ที่ราคาดิ่งลง ขณะที่เจ้าตัวอ้างสาเหตุที่ราคาข้าวตกต่ำมาจากประเทศอินเดีย กลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งหนึ่ง หลังจากห้ามส่งออกข้าว ตั้งแต่กลางปี 2566
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกฯเรียก นายพิชัย ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์เข้าพบ พร้อมกับนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ หารือด่วนถึงปัญหาราคาข้าวตกต่ำ หลังกลุ่มเกษตรกรชาวนาจังหวัดพื้นที่ภาคกลาง เดินทางมายืนหนังสือที่ทำเนียบฯ ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาอย่างเร่งด่วน
จากนั้นในช่วงเย็น “นายพิชัย” ได้ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด เคาะ 3 มาตรการช่วยเหลือชาวนา 1.สินเชื่อชะลอนาปรัง 2.ชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสี 6%และ3.เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก ในราคาสูงกว่าตลาด 300 บาทต่อตัน ทั้ง 3 มาตรการนี้ วงเงิน 1,893 ล้านบาท โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) เพื่อขออนุมัติในสัปดาห์หน้า
ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ยังไม่ตรงตามความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล อีกทั้งมาตรการดังกล่าว การเปิดช่องโอกาสให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย รวมถึงความไม่พร้อมในเรื่ององค์ประกอบในสถาบันที่ร่วมโครงการ
ทั้งนี้สมาคมฯเรียกข้อให้นำการประกันราคาข้าวกลับมา โดยความชื้นไม่เกิน 15% ราคาไม่ต่ำกว่า 12000 บาทต่อตัน ความชื้นไม่เกิน 25% ราคาไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อตัน
ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ถือเป็น “เผือกร้อน” ของรัฐบาล คงยังไม่จบง่ายๆ เมื่อชาวนาและรัฐบาลยังเห็นไม่ตรงกัน หากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้องของชาวนา จึงเป็น "ระเบิดเวลา "สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ต้องเผชิญกับ “ ม็อบชาวนา”
อย่างไรก็ตามไม่ว่า แนวทางการแก้ปัญหาด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนา หรือข้อเรียกร้องของ “ชาวนา ” ที่เรียกร้องให้รัฐบาลนำมาตรการประกันรายได้มาใช้อีกครั้ง ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้เพียงแค่ เป็นเพียง “การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า” แต่กลับไม่ได้ไปดู ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง เพราะสาเหตุที่แท้จริงมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมาการแก้ปัญหามักจะใช้วิธีออกมาตรการช่วยเหลือหรือชดเชย โดยใช้เงินงบประมาณเป็นหลัก ไม่ได้มองถึงการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งต้องยอมรับว่า “ข้าวไทย” มีปัญหา ทั้งต้นทุนการผลิตที่สูง ผลผลิตต่อไร่น้อย เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ราคาข้าวบางช่วงเป็นไปตามกลไกการตลาด พันธุ์ข้าวไทยไม่ได้เป็นที่ต้องการของผู้นำเข้า และปัจจัยอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งในปีนี้คาดว่าปีนี้น่าจะมีผลผลิตข้าวอยู่ที่ 33-34 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 23 ล้านตันข้าวสาร เป้าส่งออกยังอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน
คงต้องถึงเวลาต้องแก้ปัญหา”ข้าวไทย”อย่างจริงจังเสียที ไม่ใช่แค่เพียงผักชีโรยหน้า เพราะไม่เช่นนั้น ปัญหาราคาข้าวตกต่ำก็จะเป็น"ระเบิดเวลา"ให้กับรัฐบาลเพื่อไทยหากยังอยู่ครบวาระ