ไทย“นำเข้าจากจีนมากเกินไป” และ “ส่งออกไปสหรัฐมากเกินไป”

ความน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อไทยนั้น คงจะต้องมีอยู่อย่างต่อเนื่องและยาวนาน หากดูจากการประกาศมาตรการด้านการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มีขึ้นอย่างฉับพลันและหลากหลาย
และมีการประกาศมาตรการขมขู่ทางการค้ารายวัน โดยไม่ได้คำนึงถึงมากนักว่า ประเทศคู่ค้าใดเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐหรือไม่
ในอีกด้านหนึ่งนั้น ก็ได้มีการกล่าวถึงและแสดงความกังวลเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนมีความสามารถในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ และราคาที่ถูกกว่าประเทศอื่นๆ
นอกจากนั้น ประเทศไทยก็เคยนึกว่า ไทยได้ประโยชน์อย่างมากจากนโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ในสมัยแรก (2016- 2020) ที่พุ่งเป้าหลักไปที่ประเทศจีน ทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการที่ผู้ผลิตจีนย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในประเทศไทย เพื่อผลิตสินค้าไปขายที่สหรัฐ
ประโยชน์ดังกล่าวที่พูดกันบ่อยครั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น กำลังจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะ ณ ขณะนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังต้องการปรับความสัมพันธ์ทางการค้ากับทุกประเทศ บนอย่างน้อย 2 พื้นฐานคือ
หนึ่ง ความเท่าเทียมในเชิงของการเก็บภาษีศุลกากร กล่าวคือ สหรัฐเคยคำนวณว่าไทยเก็บภาษีศุลกากรสินค้า ที่สหรัฐส่งออกมาที่ประเทศไทยเท่ากับประมาณ 9% ในขณะที่สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐนั้น เสียภาษีศุลกากรเพียงประมาณ 3% (สำหรับสินค้าเกษตรนั้น สหรัฐอ้างว่าไทยเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐสูงถึง 20% โดยเฉลี่ย)
ตรงนี้แปลว่า หากสหรัฐต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างไทยกับสหรัฐ ในส่วนของภาษีศุลกากรสหรัฐ ก็จะต้องเพิ่มการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 6% ถึง 17% เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหลายครั้งว่า การที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้านั้น แสดงว่าสหรัฐถูกเอาเปรียบ ดังนั้น จึงต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งคงจะต้องการให้สหรัฐไม่ขาดดุลการค้ากับประเทศใดเลย
ทั้งนี้ตามความเข้าใจของประธานาธิบดีทรัมป์คือ สหรัฐจะต้องเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงเพียงพอที่จะทำให้การเกินดุลการค้าหมดไป ซึ่งไม่ทราบว่าสูงเท่าไหร่ แต่สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ ก็จะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาล
ในขณะเดียวกัน หากประเทศคู่ค้าต้องการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีดังกล่าว ก็ต้องยอมเปิดตลาดให้กับสินค้าสหรัฐ กล่าวคือจะทำให้สหรัฐส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะทำให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐกับประเทศดังกล่าวลดลง
กล่าวคือสหรัฐอเมริกา “ได้กับได้” คือหากไม่ได้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้น ผู้ส่งออกสหรัฐก็จะมีรายได้มากขึ้น และการจ้างงานที่สหรัฐก็จะเพิ่มขึ้น
แนวคิดดังกล่าวนั้น นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นเหมือนกันว่า เป็นการวิเคราะห์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศที่ผิดพลาด และผลที่ตามมาจะไม่ได้ทำให้สหรัฐเข้าสู่ “ยุคทอง” ดังที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวเอาไว้
คำอธิบายเรื่องนี้ ผมขอเก็บเอาไว้เขียนถึงในวันหลัง แต่ในความเห็นของผมนั้น ผลกระทบในเชิงลบต่อสหรัฐและเศรษฐกิจโลก จะเห็นเป็นประจักษ์ภายใน 1-2 ปีข้างหน้านี้ และจะทำให้ไม่ต้องอธิบายมากนักว่านโยบายกีดกันการการค้านั้นไม่ดีอย่างไร
แต่ใน 4 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทยจะต้องพยายามบริหาร/จัดการ ให้นโยบายการค้าของสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยให้น้อยที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
แต่คำถามพื้นฐานหนึ่งคือ การลงทุนและการนำเข้าสินค้าจากจีนนั้น มีส่วนสำคัญมากน้อยเพียงใดในการทำให้ประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐ “มากเกินไป” และเกินดุลการค้ากับสหรัฐ “มากเกินไป”
ตัวเลขที่ผมพบในเบื้องต้น ดูจะเป็นการยืนยันแนวโน้มดังกล่าวคือ การขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากของการนำเข้าจากจีน พร้อมกับการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากไปยังตลาดสหรัฐ ดังปรากฏในตาราง
อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐในช่วง 2015-2020 นั้น อยู่ที่ประมาณ 7.4% ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าจากจีนนั้น ก็ขยายตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 3.93% ซึ่งมองได้ว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ปกติเมื่อเทียบกับการส่งออกของไทย โดยรวมทั้งหมดที่ 3.5% ต่อปี และการนำเข้าที่ประมาณ 4.% ต่อปี
นโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ที่พุ่งเป้าไปที่ประเทศจีนนั้น เริ่มมีความเข้มข้นตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป แต่การย้ายฐานการผลิตนั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี นอกจากนั้น ก็มีอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย
จึงเห็นได้ว่าการส่งออกไปยังสหรัฐนั้น เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 34,380 ล้านเหรียญในปี 2020 มาเป็น 54,960 ล้านเหรียญ ในปี 2024 (เพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ล้านเหรียญต่อปี) ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี เทียบเท่ากับการขยายตัวเฉลี่ย 12.5% ต่อปี
ในขณะเดียวกัน การนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นจาก 49,800 ล้านเหรียญในปี 2020 มาเป็น 80,610 ล้านเหรียญในปี 2024 (เพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ล้านเหรียญ) ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี เทียบเท่ากับการขยายตัวเฉลี่ย 12.8% ต่อปี
ในขณะที่การส่งออกโดยรวมของไทยเพิ่มขึ้น เฉลี่ยประมาณ 5.4% ต่อปี และการส่งออกขยายตัวประมาณ 6.7% ต่อปี ทำให้ พอสรุปได้ว่า ไทย“นำเข้าจากจีนมากเกินไป” และ “ส่งออกไปสหรัฐมากเกินไป”.