เรื่องราวที่น่าสนใจของ"ข้อมูลต่อเงิน... ข้อมูลไป เงินมา"

สัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมงานสัมมนาระดับภูมิภาคเอเชียงานหนึ่ง และได้เรียนรู้เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลเพื่อ
เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน (access to finance) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านสินเชื่อ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
หนี้ไม่ใช่คำหยาบ ไม่ใช่คำแสลง การเข้าถึงสินเชื่อ (ซึ่งหมายถึงการก่อหนี้) มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของครัวเรือน และต่อการหมุนเวียน ขยาย ต่อยอดธุรกิจของวิสาหกิจทั้งเล็กกลางใหญ่ และสุดท้ายแล้วก็เพื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม แต่ทั้งนี้มีข้อแม้คือ จะต้องเป็นการก่อหนี้ที่พอดีกับตัวโดยที่จะไม่เป็นการทำร้ายตนเองและผู้อื่นในระยะยาว
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครกำลังจะทำร้ายตนเองและผู้อื่นด้วยการก่อหนี้เกินตัว และระบบการเงินจะจัดสรรทรัพยากรไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ wellbeing ของเศรษฐกิจประเทศได้อย่างไร คำตอบอยู่ที่ข้อมูลที่เชื่อถือได้ ข้อมูลที่เกี่ยวกับความสามารถในการก่อหนี้นั้น
มีอยู่หลายกลุ่มหลายรูปแบบ ซึ่งในที่นี้จะขอพูดถึงเพียง 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรก คือข้อมูลด้านรายได้ ซึ่งจะแสดงความสามารถในการชำระในจำนวนและเวลาที่ตกลงกัน ข้อมูลรายได้นี้ ผู้กู้ยืมจะเป็นผู้แสดงหลักฐานให้ผู้ให้กู้ยืมรับรู้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็น รายได้ที่ได้รับเป็นประจำแบบสม่ำเสมอ รายได้ที่มีหลักฐานเห็นๆ ว่ามาน้อยบ้างมากบ้างแต่ก็มาอยู่ตลอด หรือรายได้ที่มีสัญญาเป็นหลักเป็นฐานแล้ว แต่หากไม่สามารถแสดงรายได้เหล่านี้ ก็ต้องเริ่มขยับไปดูฝั่งที่เป็นสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งก็มีสภาพคล่องต่างๆ กันไป ซับซ้อนมากไปกว่านั้น คือข้อมูลอื่นๆ ที่แสดงศักยภาพว่าถึงเวลาจะมีเงินไปจ่ายได้จริง
กลุ่มที่สอง คือข้อมูลประวัติการชำระสินเชื่อต่างๆ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่บริหารจัดการกับข้อมูลเหล่านี้ คือระบบการจัดเก็บและรายงานข้อมูลเครดิต การสำรวจของธนาคารโลกในปี 2018 พบว่ามีประทศที่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รวบรวมจัดเก็บและรายงานข้อมูลเครดิตอยู่ 134 ประเทศทั่วโลก ผู้ให้สินเชื่อในประเทศต่างๆ ใช้ข้อมูลเครดิตเหล่านี้เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการตัดสินใจด้านสินเชื่อ นอกจากที่จะเป็น “ข้อมูลต่อเงิน” โดยช่วยให้บุคคลและวิสาหกิจเข้าเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็นแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ยังเป็น “ข้อมูลต่อโอกาส” เพราะสามารถบ่งชี้ความเป็นผู้มีศักยภาพและวินัยทางการเงิน ซึ่งหมายถึงความเป็นลูกค้าที่น่าสนับสนุนได้อีกด้วย
ในระบบการรายงานข้อมูลเครดิตทั่วโลกนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าประโยชน์จากข้อมูลจะยิ่งมาก เมื่อมีข้อมูลมากทั้งด้านปริมาณ ระยะเวลาและความละเอียด ความละเอียดของข้อมูลจะช่วยให้เห็นถึงรูปแบบพฤติกรรมในภาวะปกติ และในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งจะสามารถมีส่วนช่วยในการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น การตัดสินใจใดๆ ในเชิงธุรกิจ เชิงพาณิชย์ และในเชิงนโยบาย ล้วนต้องใช้ข้อมูลประกอบ แนวโน้มของประเทศส่วนใหญ่ ลักษณะของการจัดเก็บข้อมูลให้มากให้ยาว โดยมีความละเอียดมากขึ้นเพื่อให้ตอบสนองต่อความละเอียดอ่อนของสภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะตระหนักดีว่าในยามที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ความกล้าในการตัดสินใจเดินหน้าใดๆ ก็จะน้อยลง
ข้อมูลกลุ่มที่ 3 เป็นที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน และเป็นหัวข้อสำคัญของการเสวนากันในงานที่ผู้เขียนกล่าวถึงในตอนต้นบทความ คือข้อมูลทางเลือก (alternative data) ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานด้านข้อมูลทางเลือกในงานสัมมนา เห็นพ้องต้องกันว่า คำว่าข้อมูลทางเลือก ไม่ใคร่จะถูกต้องนัก เพราะอันที่จริงข้อมูลเหล่านี้เป็นได้เพียงข้อมูลหนุนเสริมที่ต้องใช้ประกอบกับข้อมูลประวัติสินเชื่อ ไม่สามารถเป็นทางเลือกที่ใช้แทนได้
ข้อมูลทางเลือกแบ่งออกได้เป็น 1) ข้อมูลที่เป็นตัวแทนด้านรายได้ ที่นิยมมากที่สุด คือข้อมูลจากผู้ให้บริการโทรคมนาคม เป็นข้อมูลมีความซับซ้อนน้อยที่สุด และในหลายๆ ประเทศ ได้มีการออกกฎหมายให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมนำส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานข้อมูลเครดิตด้วย ข้อมูลการชำระค่าน้ำค่าไฟก็เป็นข้อมูลที่เป็นตัวแทนด้านรายได้อีกกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นข้อมูลทางเลือกที่ใม่นิยมใช้กันในระดับบุคคลธรรมดา หลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยพบปัญหาคล้ายกัน คือค่าน้ำค่าไฟ มีการจัดเก็บตามมิเตอร์ ซึ่งเป็นระดับครัวเรือนไม่ใช่ระดับบุคคล และบ่อยครั้งผู้ชำระเงินไม่ใช่ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของมิเตอร์
2) ข้อมูลรูปแบบการใช้จ่าย นิยมจัดเก็บจากแพลตฟอร์ม e-commerce ต่างๆ เช่น Amazon Shopee Lazada ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังมีบริการทางการเงินทั้งด้าน payment และสินเชื่อในรูป buy-now-pay-later ด้วย 3) ข้อมูลพฤติกรรม ที่มักจะมีการหยิบใช้กันในปัจจุบันประกอบไปด้วยข้อมูลจาก Social Media ต่างๆ 4) ข้อมูลภาครัฐ เช่น ข้อมูลภาษีอากร ข้อมูลประกันสังคม ข้อมูลการล้มละลาย ข้อมูลงบการเงินนำส่ง อันที่จริงข้อมูลภาครัฐเหล่านี้ จะเรียกว่าข้อมูลทางเลือกก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะในระบบนิเวศน์ข้อมูลเครดิตของประเทศจำนวนมาก มีการประมวลผลข้อมูลเหล่านี้ควบคู่ไปกับประวัติการชำระสินเชื่ออยู่แล้ว
ในระบบนิเวศน์ของข้อมูลเครดิตและข้อมูลทางเลือกทั่วโลก พบว่ามีสองแนวทางใหญ่ๆ คือ การให้หน่วยงานด้านข้อมูลเครดิตจัดเก็บและรายงานข้อมูลทางเลือกเพิ่มเติมได้ โดยแนวทางนี้ สะท้อนให้เห็นความเป็นข้อมูลหนุนเสริมของข้อมูลทางเลือกอย่างชัดเจน อีกแนวทางหนึ่งที่พบได้ทั่วไป คือให้มีผู้บริการด้านข้อมูลทางเลือกในเชิงธุรกิจได้ทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีด้าน data ซึ่งก็แล้วแต่ว่าสตาร์ทอัพนั้นๆ จะจับมือกับแหล่งข้อมูลทางเลือกใดบ้าง ประโยชน์ของข้อมูลทางเลือกหรือข้อมูลหนุนเสริม คือการเพิ่ม access to finance ซึ่งมีกรณีศึกษาต่างๆ ที่น่าสนใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่การประเมินผลศักยภาพของข้อมูลทางเลือกยังต้องมีการศึกษาต่อเนื่องไปอีก
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอเน้นย้ำความสำคัญของข้อมูล การตัดสินใจทางการเงิน ที่อยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อมูลที่เชื่อถือได้ น่าจะเป็นการตัดสินใจที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับทุกภาคส่วนทุกระดับ