EEC เตรียมเซ็น UTA เริ่มสร้าง 'สนามบินอู่ตะเภา' เม.ย. นี้ ดึง รฟท.ทำอุโมงค์

สกพอ.จ่อเซ็นสัญญา UTA เริ่มก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาในเดือนเม.ย.- พ.ค.นี้ จี้ "ไฮสปีด" เร่งเจรจาสัญญาใหม่ให้เสร็จภายในเม.ย. เช่นกัน ระบุอีอีซี ยังมีข้อได้เปรียบ และแข่งขันได้ ดึงลงทุน FDI ปี 67 สูงสุดเป็นประวัติการณ์
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ. พร้อมหารือร่วมกับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด (UTA) เอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กว่า 6,500 ไร่ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมกว่า 2.9 แสนล้านบาท หลังจากบริษัทประกาศออกมาว่าจะไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
“การดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ และรถไฟความเร็วสูงฯ น่าจะเริ่มต้นได้ภายในครึ่งปี 2568 นี้ โดยในส่วนของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ คงไม่ได้แก้ไขสัญญาอะไร สามารถบริหารสัญญาได้ หากเอกชนจะปรับลดขนาดโครงการลงในระยะแรก”
นายจุฬา กล่าวว่า สกพอ.เห็นใจเอกชน เพราะยังไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการได้อย่างเต็มที่ เพราะหากโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ยังก่อสร้างไม่ได้ ปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้ามาใช้สนามบินก็อาจยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นจึงต้องหาทางใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุด ซึ่งการปรับขนาดของอาคารผู้โดยสารลงนั้น สามารถทำได้ แต่เมื่อจำนวนผู้โดยสารเข้ามาใช้ถึง 80% เอกชนก็ต้องขยายความสามารถในการรองรับเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงภายใต้อาคารผู้โดยสารของสนามบินอู่ตะเภานั้น ที่ผ่านมาภาคเอกชนขอให้รัฐตัดสินใจว่าจะเดินหน้ายังไงต่อหากโครงการรถไฟความเร็วสูงล่าช้า และไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาทางออก โดยอาจให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมพร้อมการลงทุนเรื่องของอุโมงค์
“ในตัวสนามบินอู่ตะเภาจะต้องมีสถานีรถไฟความเร็วสูงอยู่ หากกรณีของเอกชนยังไม่มา ทางการรถไฟฯ จะทำอุโมงค์รอไว้ให้ เพราะถ้าเกิดโครงการพัฒนาอู่ตะเภาฯ เริ่มไปแล้ว และมีการสร้างรันเวย์ที่สอง และจะขุดอุโมงค์ใต้รันเวย์ไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องมาหารือกันอีกครั้ง โดยหลักๆ แล้วก็ได้คุยกันในประเด็นนี้ไปแล้วทั้งรัฐ และรฟท.”
ขณะที่สิทธิประโยชน์ต่างๆ จะต้องปรับปรุงด้วยหรือไม่ เมื่อ UTA จะเร่งเดินหน้าโครงการต่อโดยไม่รอรถไฟความเร็วสูง ประเด็นนี้ นายจุฬา ยอมรับว่า กรณีนี้จะต้องเจรจากันอีกครั้ง หากเอกชนจะขอสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม แต่ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภายังมีกิจการอื่น ๆ อีกหลายอย่าง หากมีเอกชนรายใดสนใจเข้ามาลงทุนก็สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้กับ EEC โดยตรง แม้ว่าตอนนี้สิทธิประโยชน์จะรอเสนอเข้า ครม. แต่ก็สามารถเข้ามาเจรจาก่อนได้
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงฯ ล่าสุด รฟท.กำลังหารือรายละเอียดของสัญญา และเตรียมเสนอเข้าไปยังคณะกรรมการการรถไฟฯ เพื่อเห็นชอบภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ก่อนจะส่งให้อัยการตรวจสอบสัญญา และเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป โดยไทม์ไลน์ของโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.2568
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์