JD อีคอมเมิร์ซจีน ลุย Food Delivery ดันธุรกิจอาหารไทยในจีนขยาย

พาณิชย์ เผย JD ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีน เปิดธุรกิจ Food Delivery เพิ่มโอกาสธุรกิจอาหารไทยในตลาดจีน ทั้งการจำหน่ายอาหาร วัตถุดิบ ซอสปรุงรส
KEY
POINTS
- ปี 2566 ขนาดตลาด Food Delivery ในจีนมีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านหยวน
- ผู้ใ
เว็ปไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในประเทศ (สคต.) เมืองหนานหนิง ประเทศจีน รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2568 บริษัท JD ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซอันยักษ์ใหญ่ของจีน ประกาศว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจจัดส่งอาหาร (Food Delivery) อย่างเป็นทางการ และเปิดตัวโครงการ “ร้านอาหารคุณภาพสูง” เพื่อรับสมัครร้านอาหาร
โดยระบุว่าการรับสมัครร้านอาหารในครั้งนี้จะรับเพียงแต่เป็นร้านอาหารคุณภาพสูงเท่านั้น สำหรับร้านอาหารที่เข้าร่วมก่อนวันที่ 1 พ.ค. 2568 จะได้รับการยกเว้นค่าคอมมิชชั่นตลอดทั้งปี ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นการเปิดเผยความคืบหน้าธุรกิจ Food Delivery ของบริษัท JD ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ
หลายปีที่ผ่านมา ตลาดธุรกิจ Food Delivery ของจีนมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่บริโภค Food Delivery ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2567 สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ที่ประกาศจากสมาคมร้านอาหารแห่งประเทศจีน เปิดเผยว่า ในปี 2566 ขนาดตลาด Food Delivery ในจีนมีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 22.6 % ของรายได้ร้านอาหารทั้งหมดของจีน โดยผู้บริโภคที่ใช้จ่ายเงินกับ Food Delivery เกือบ 3,300 ล้านหยวนต่อวัน ซึ่งธุรกิจ Food Delivery ได้กลายเป็นช่องทางทำกำไรที่สำคัญสำหรับร้านอาหารในขณะนี้
ปัจจุบัน Food Delivery ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวจีน ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศจีน ระบุว่า จำนวนผู้ใช้บริการ Food Delivery ออนไลน์ในจีนสูงถึง 545 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 50 % ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด ในขณะที่ตลาดในเมืองใหญ่เข้าสู่ภาวะการพัฒนาที่ครบวงจร การสั่ง Food Delivery ออนไลน์ในเขตอำเภอมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 40 %
โดยปัจจุบันบริการ Food Delivery ออนไลน์ได้ครอบคลุมมากกว่า 2,000 อำเภอทั่วประเทศ นอกจากนี้ ผู้ที่จัดส่ง Food Delivery ของจีนมีจำนวนกว่า 10 ล้านคน สำหรับแพลตฟอร์มสั่งอาหารชั้นนำของจีน อาทิ Meituan มีจำนวน 7.45 ล้านคน และแพลตฟอร์ม Eleme มีจำนวนกว่า 4 ล้านคน
ทั้งนี้ ตลาด Food Delivery ได้ขยายเวลาและพื้นที่ของการบริโภค ทำให้ร้านค้าจำนวนมากได้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสร้างนวัตกรรมในการให้บริการ เช่น บางร้านขยายเวลาการให้บริการจำหน่ายอาหารเป็น 24 ชั่วโมง บางร้านให้บริการที่เป็นแบบเฉพาะส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับการให้บริการของร้านอาหาร แต่ยังช่วยเพิ่มรายได้ของร้านอาหารมากขี้น
หลังจากบริษัท JD ได้เข้าสูงตลาด Food Delivery อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะนำโอกาสให้กับร้านอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงร้านอาหารไทยที่ตลาดจีนด้วย ในปี 2567 จำนวนร้านอาหารไทยในตลาดจีน มีจำนวนกว่า 80,000 ร้าน เพิ่มขึ้น 25 % จากปีที่ผ่านมา ส่วนมากกระจายอยู่ที่เมืองระดับหนึ่งและเมืองระดับสอง สำหรับปริมาณการจำหน่ายอาหารไทยผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery เพิ่มขึ้นเป็น 30 %
แสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์ม Food Delivery มีบทบาทที่สำคัญในการประชาสัมพันธ์อาหารไทย เช่น ร้านอาหารไทยที่เมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นเมืองจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo) ที่เป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีร้านอาหารไทยมากกว่า 50 ร้าน ซึ่งส่วนใหญ่มีการเปิดธุรกิจ Food Delivery บนแพลตฟอร์ม Meituan และ Eleme ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองของจีน
เมนูที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้าวมันไก่ ข้าวกระเพราหมู ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวานไก่ และข้าวเหนียวมะม่วง สำหรับร้านอาหารที่ได้ยอดจำหน่าย 20 อันดับแรกในแพลตฟอร์ม Meituan ในเมืองหนานหนิง
ทั้งนี้ ร้านอาหารดังกล่าวได้รับปริมาณการสั่งอาหารผ่านระบบแพลตฟอร์ม Food Delivery มากกว่าจำนวน 200 – 2,000 ครั้งต่อเดือน ซึ่งมีการส่งเสริมรายได้ให้กับร้านอาหารมากขึ้น
ทั้งนี้ สคต.ณ เมืองหนานหนิง ให้ความเห็นว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดธุรกิจ Food Delivery ได้สร้างโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับอาหารไทยในตลาดจีน ด้วยการร่วมมือกับแพลตฟอร์ม Food Delivery ของจีน อาหารไทยไม่เพียงแต่สามารถขยายส่วนแบ่งการตลาดได้เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างแบรนด์และพัฒนาสู่ตลาดดิจิทัลได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย จากที่บริษัท JD ที่ดำเนินธุรกิจ Food Delivery และรับสมัครร้านอาหารที่มีคุณภาพเท่านั้น จะเพิ่มโอกาสให้กับร้านอาหารไทยที่มีคุณภาพในจีนมากขึ้น
โดยเฉพาะเป็นร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในอนาคตความต้องการอาหารต่างประเทศของผู้บริโภคยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งอาหารไทยมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในตลาด Food Delivery ของจีน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการส่งออกวัตถุดิบการปรุงอาหาร อาทิ ซอสปรุงรส สินค้าอาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม และข้าวของไทยมายังตลาดจีนเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์ไปดำเนินธุรกิจอาหารไทยในตลาดจีนควรศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคให้ดี พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Food Delivery เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาเมนูที่สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาด
รวมถึงรักษาความสดใหม่ของวัตถุดิบ คุณภาพและรสชาติของอาหาร ตลอดจนบรรจุภัณฑ์และบริหารระยะเวลาในการจัดส่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาหารไทยในตลาด Food Delivery ของจีน