ทองคำ ทองคำ ทองคำ!

อะไรจะขนาดนั้น! ราคา 400 บาทต่อ 15.244 กรัมเมื่อ 50-60 ปีก่อน ขึ้นไปจนถึงเกือบ 47,000 บาทหรือกว่า 100 เท่าในปัจจุบัน และภายใน 7 ปีที่ผ่านมาราคาเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว
จะหาสิ่งใดที่ร้อนแรงเท่าในปัจจุบันนั้นยากนอกจากการเมืองไทย พูดอย่างนี้เด็กอมมือก็ตอบได้ว่ามันคือ “ทองคำ” วันนี้มาดูสารพัดตัวเลขเกี่ยวกับทองคำที่ข้องใจ และช่วยกันดูว่ามันจะขึ้นไปอีกเท่าใดในปีนี้
ทองคำมีหน่วยวัดสากล คือ troy ounce หรือ 31 กรัม ส่วนไทยเรามีหน่วยน้ำหนักของทองคำเป็นบาทให้มันปวดหัวเล่น เพราะไปซ้ำกับหน่วยของเงิน แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะเราเคยชินกับมันมานานแล้ว 1 บาทของทองคำหนัก 15.244 กรัม
ดังนั้น ทองคำหนัก 1 กิโลกรัมจึงเท่ากับทองคำหนัก 65.6 บาท ณ ราคาทองคำ 46,700 บาท (สูงสุดเมื่อ 24 ก.พ.2568) ทองคำ 1 กิโลกรัมจึงมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท
ที่น่าแปลกใจก็คือมันเป็นก้อนไม่ใหญ่ แต่หนักถึง 1 กิโลกรัม เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมันมีความถ่วงจำเพาะ 19.3 หรือหนักกว่าน้ำด้วยปริมาตรเท่ากันถึง 19.3 เท่า
สำหรับทองคำที่เก็บไว้โดยธนาคารหรือสถาบันระหว่างประเทศอย่างเป็นสากล จะเป็นทองคำแท่งที่เรียกกันว่า GDB (Good Delivery Bar) มีความบริสุทธิ์ของทองคำ 99.5 (995 fineness) หนัก 400 troy ounces มีขนาด 250x70x40 มิลลิเมตร และแต่ละแท่งจะมีหมายเลขกำกับพร้อมทั้งชื่อบริษัทศัพท์พิเศษของทองคำบริสุทธิ์สูงสุด 99.99% (999.9 fineness) คือ “four nines fine gold”
มีการประเมินโดยผู้อยู่ไม่สุขว่า หากเอาทองคำถลุงแล้วที่มีอยู่ในโลกทั้งหมดมาวางสุมกัน จะมีน้ำหนักประมาณ 208,874 ตัน (ณ ปี 2566 โดย World Gold Council) และหากเอามาหลอมรวมกันทั้งหมดก็จะได้ก้อนสี่เหลี่ยม มีขนาด 22x22x22 เมตร ซึ่งด้านหนึ่งสูงเท่ากับตึก 7 ชั้น
สำหรับทองคำที่ยังเหลือเป็นแร่ธาตุอยู่ในโลกนั้น U.S. Geological Survey ประมาณว่ามีอยู่ประมาณ 64,000 ตันใต้ดิน และมีอยู่อีก 20 ล้านตันละลายในน้ำทะเล
นอกจากนี้ยังมีอีกที่ไม่รู้ปริมาณอยู่ใต้พื้นมหาสมุทร ตัวเลขที่น่าประหลาดใจก็คือผิวโลกประกอบด้วยมหาสมุทร 70% และในตัวเลขนี้มีการทำแผนที่และค้นคว้าเพียง 20% ส่วนพื้นที่อีก 80% นั้นส่วนใหญ่เป็นส่วนที่มีความลึกเกินกว่า 200 เมตรเเละอยู่ในความมืด
คราวนี้มาดูรายปีกันว่า มีการผลิตทองคำมากน้อยเพียงใด และเอาไปทำอะไรกันบ้าง
ในปี 2567 มีการประเมินว่าโลกโดยเฉลี่ยผลิตทองคำปีละ 3,300 ตัน ในปี 2566 จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดของโลก คือ ประมาณ 10% ของการผลิตรายปี รัสเซียและออสเตรเลียนั้นไล่มาติดๆ โดยผลิตรายละ 300 ตัน
การผลิตทองคำเพิ่มขึ้นน้อยมากข้ามปี สูงสุดผลิตได้ 3,644 ตันในปี 2566 ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีสูงพอในการขุดทองคำจากใต้พื้นมหาสมุทรมาใช้ประโยชน์ สำหรับทองที่เอามารีไซเคิลใช้ในแต่ละปีนั้นตกประมาณ 1,237 ตัน
ทองคำถูกใช้ในหลายลักษณะ ในปี 2566 มีการใช้ทองคำในระดับโลกเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(1) เกือบครึ่งหนึ่งใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ
(2) เกือบ 1 ใน 4 ใช้สำหรับการลงทุน เช่น ทองคำแท่ง เหรียญ หรือกองทุน
(3) ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ซื้อไป 21.3 %
(4) ภาคเทคโนโลยีประมาณ 6.7% ใช้ในด้านอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษคือเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ยอดเยี่ยมเเละสะท้อนรังสีอินฟาเรดได้ดีมาก (ป้องกันความร้อน) และไม่เป็นสนิม
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำพุ่งไม่หยุดโดยเฉพาะเพิ่มขึ้น 50% ในรอบ 3 ปี ได้แก่
(1) ความกังวลในระดับโลกเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อันเนื่องมาจากความ ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ (สหรัฐ-จีน รัสเซีย-กลุ่มนาโต้) สงครามยูเครน-รัสเซีย อิสรเอล-ฮามาส และในอีกหลายพื้นที่ของโลก
เงินเฟ้อด้านอาหารเป็นเรื่องใหญ่เช่นเดียวกับสัญญาณการใช้ “อำนาจเผด็จการ” เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐ และบางประเทศในยุโรป ตลอดจนปัญหาความเหลื่อมล้ำและความแตกแยกทางความคิด
ทั้งหมดคือการคาดการณ์ด้านลบจนทำให้สถาบันและผู้คนหันไปซื้อทองคำเพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากเงินสดที่ถือไว้ หรือเงินฝากในธนาคารดอกเบี้ยต่ำนั้น จะมีอำนาจซื้อที่ลดลงเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น
การถือทองคำที่ราคาไปได้เรื่อยๆ เอามาใช้ได้เสมอในยามที่มีปัญหาหรือฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังได้กำไรจากการเก็งกำไรอีกด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ทองคำเป็นหนทางเลือกที่น่าสนใจ ความต้องการทองคำจึงสร้างแรงกดดันให้ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
(2) ธนาคารกลางลดการถือดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งดูจะมีทิศทางของความสำคัญน้อยลง โดยหันไปซื้อทองคำมาไว้ในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเเทน เพื่อลดความเสี่ยงจากการอ่อนค่าและความสำคัญที่น้อยลงของดอลลาร์สหรัฐ
(3) ผู้คนในโลกโดยเฉพาะคนเอเชียที่มีจำนวน 60% ของโลกที่นิยมใช้ทองคำเป็นเครื่องประดับเช่นเดียวกับชาวโลกอื่นๆ และนักลงทุนจึงเห็นว่าทองคำเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยมากกว่าการลงทุนในหุ้น เเละในตราสารหนี้ ทั้งหมดรวมกันสร้างแรงกดดันด้านดีมานด์ต่อซัพพลายทองคำที่มีปริมาณผลิตได้จำกัดในแต่ละปี
เมื่อพิจารณาภาพแห่งความวุ่นวาย หาความแน่นอนได้ยากในหลากสังคมและระดับโลกโดยเฉพาะกับอารมณ์ของคุณทรัมป์ จักรพรรดิเเห่งความปั่นป่วนวุ่นวาย (Emperor of Chaos) ในเวลาข้างหน้าแล้ว คำพยากรณ์ของหลายแหล่งในระดับโลกว่าอาจเห็นราคาทองคำขึ้นไปถึง 50,000 บาท หรือแม้แต่ 53,000 ก่อนสิ้นปี 2568 จึงไม่ดูหลุดโลก
แต่ถ้าใครคิดจะโดดเข้าไปเก็งกำไรด้วยนั้น ต้องไม่ลืมว่าการซื้อทองคำมี “ค่าเสียโอกาส” (ไม่ได้ผลตอบแทนระหว่างทางซึ่งต่างจากเอาเงินจำนวนเดียวกันไปฝากธนาคารหรือลงทุนอย่างอื่นซึ่งได้ผลตอบแทน) ยิ่งลงทุนในทองราคาสูงเช่นตอนนี้ “ค่าเสียโอกาส” ก็ยิ่งสูง
นอกจากนี้ยังมี “ค่าโสหุ้ย” ในการเก็บรักษาและมี “ค่านอนไม่หลับ” อันเกิดจากการเกร็งว่าราคาทองคำจะขึ้นหรือลง จะมีใครย่องมา “เจาะไข่แดง” ทองของเรา และทองที่เก็บไว้เป็นของจริงหรือไม่ (ถ้าไม่ตรวจสอบให้ดีตอนซื้อ)
“ทองคำมีทั้งคุณค่าและมูลค่า อย่าหลงให้มูลค่าของทองคำครอบงำคุณค่าของความเป็นมนุษย์” นะครับ.