เปิดร่าง พ.ร.บ.สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ ส่งเข้า ครม. มี.ค.

“เผ่าภูมิ” เปิดร่าง พ.ร.บ. สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ 132 มาตรา ชงเข้า ครม. มี.ค. ยกเครื่องกลไกปล่อยสินเชื่อไทย ดัน SME เข้าถึงสินเชื่อในระบบ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อก่อตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ National Credit Guarantee Agency (NaCGA)” ประกอบด้วย 8 หมวด 132 มาตรา ให้เป็นกลไกสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักของเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว และจะเข้า ครม. ในเดือนมี.ค.นี้
ทั้งนี้ NaCGA จะเป็นกลไกสำคัญยกเครื่องการปล่อยสินเชื่อไทย เพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมกับความเสี่ยงรายบุคคล โดย NaCGA จะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ใช่ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยจะเป็นการควบรวมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยง และค้ำประกันเครดิตให้ลูกหนี้ โดย NaCGA จะค้ำประกันครอบคลุมถึง Non-Bank และการออกหุ้นกู้ด้วย
สำหรับกลไกการทำงานของ NaCGA
1. ผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อติดต่อ NaCGA เพื่อให้พิจารณาค้ำประกันเครดิตให้กับตนเอง ก่อนไปยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
2. NaCGA จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการ ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) โดยใช้ฐานข้อมูล และแบบจำลองความเสี่ยงด้านเครดิตที่ NaCGA จัดทำขึ้นจากข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลทางเลือก
3. NaCGA จะออก “ใบค้ำประกันเครดิต” ให้กับผู้ขอสินเชื่อ โดยผู้ขอสินเชื่อจ่ายค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อยตามความเสี่ยง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และสถาบันการเงินที่ร่วมจ่าย
4. ผู้ขอสินเชื่อนำใบค้ำประกันเครดิตที่ได้ไปยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
5. สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ขอสินเชื่อ เนื่องจากผู้ขอสินเชื่อมี NaCGA เป็นผู้รับประกันความเสี่ยงด้านเครดิตแทนบางส่วนหรือทั้งหมดแล้ว
6. หากผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ NaCGA จะเป็นผู้รับความเสี่ยงกับสถาบันการเงินตามเงื่อนไข
ทั้งนี้ ฐานข้อมูลของ NaCGA พ.ร.บ.ฯ ได้กำหนดให้ ธปท. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม นำส่งข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตนเพื่อจัดทำแบบจำลองเครดิต (Credit Risk Model) ให้ NaCGA
โดยแหล่งทุนในการดำเนินการของ NaCGA ประกอบไปด้วย (1) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล (2) ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันจากผู้ประกอบการ (2) เงินสมทบจากธนาคารเป็นรายปี คิดเป็นสัดส่วนตามสินเชื่อธุรกิจ และ (4) เงินสมทบจาก Non-Bank ที่เลือกใช้บริการ NaCGA
โดยจะมีการบริหารจัดการด้วยระบบคณะกรรมการ 2 คณะ ได้แก่ (1) คณะกรรมการกำกับนโยบาย มี รมว.คลัง เป็นประธาน มีหน้าที่ และอำนาจกำหนดนโยบาย และทิศทางการดำเนินงานของ NaCGA และ (2) คณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ด้านบัญชี ด้านกฎหมาย ด้านเทคโนโลยี ด้านสถิติ ด้านธุรกิจ SMEs และด้านตลาดทุน มีหน้าที่ และอำนาจกำกับดูแลการดำเนินงานของ NaCGA
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การจัดตั้ง NaCGA จะไม่ได้เป็นเพียงการยกระดับกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของภาครัฐ แต่ยังจะเป็นการสร้างระบบนิเวศใหม่สำหรับการระดมทุนของภาคธุรกิจไทย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์