หอการค้าไทยจี้รัฐบาลตั้ง “ทีมพิเศษ” รับมือมาตรการขึ้นภาษี Trump 2.0

หอการค้าไทยจี้รัฐบาลตั้ง “ทีมพิเศษ” รับมือมาตรการขึ้นภาษี Trump 2.0

หอการค้าไทย ขอรัฐ “ตั้งทีมพิเศษ” ร่วมภาครัฐ เอกชน  ก่อน 2 เม.ย. มี “นายกฯ”เป็นประธาน รับมือ ทรัมป์ 2.0 หนุนนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากสหรัฐ ประเมิน ทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าจากไทยและทั่วโลก ทำไทยเสียหาย 1-1.5 แสนล้านบาท กด จีดีพีลง 0 .5 % -0 .7 % ทำเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่าเป้าหมาย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า  เอกชนมีความกังวลมากขอ ให้ตั้งทีมพิเศษรับมือการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ และ นโยบายการค้าเชิงรุกของสหรัฐฯ และมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าของสหรัฐจะทำให้หลายประเทศต้องหันมาพึ่งพาตลาดใหม่โดยเฉพาะอาเซียนและไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งรัฐต้องดำเนินมาตรการควบคุมและกวดขันการนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด

โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่อาจไม่ได้คุณภาพ หรือสินค้าที่มีราคาถูกจนส่งผลต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม (Free and Fair Trade) ภาครัฐควรมีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้าอย่างละเอียดก่อนอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดไทย โดยกำหนดให้สินค้าบางประเภทต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือหลบเลี่ยงภาษี

ในส่วนของสินค้าที่ทะลักเข้ามาแล้วใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการกวดขันเรื่องการลักลอบนำเข้าสินค้าโดยไม่เสียภาษี การตรวจสอบการใช้ราคาต่ำผิดปกติเพื่อทำลายการแข่งขัน รวมถึงการป้องกันการทุ่มตลาด (Dumping) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจภายในประเทศอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ ควรพิจารณาการออกกฎหมายหรือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยอาจกำหนดมาตรการปกป้องธุรกิจภายในประเทศจากการทุ่มตลาดของสินค้าต่างชาติ และทบทวนกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 กล่าวว่า หอการค้าไทย มีความเป็นห่วงต่อภาพรวมและตัวเลขการค้าของไทยซึ่งได้ดุลการค้าจากสหรัฐสูง เพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ไทยเองโดยควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน เพื่อลดความกดดันด้านดุลการค้า รวมถึงพิจารณาปฏิรูปโควตาภาษีนำเข้าของไทยกับสหรัฐฯ ให้มีจุดยืนที่เป็นธรรมและเข้มแข็ง (Fair and Strong Position) ในการเจรจากับสหรัฐฯ

ที่สำคัญมาก รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเสียดุลการค้าภาคบริการ (Deficit on Services) เช่น บริการดิจิทัล ค่าบริหารจัดการ ลิขสิทธิ์ ภาคธนาคาร ภาคประกันภัย การศึกษา  ค่าแฟรนไชส์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนกว่าตัวเลขการค้าสินค้าเพียงอย่างเดียว

เพราะไทยมีการมีการขาดดุลตรงนี้อย่างมหาศาลและต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมูลค่าทั้งหมดที่ไทย ต้องเสียเงินซื้อมาก เพื่อ นำข้อมูลทั้งหมดไปประกอบการเจรจา

หอการค้าไทย ขอให้รัฐบาลจัดตั้ง “ทีมพิเศษ” (Special Team) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจะทำให้มีอำนาจสั่งการกระทรวงสำคัญ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงแรงงาน ร่วมกับภาคเอกชน โดยเฉพาะ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์เจรจาเชิงรุกกับสหรัฐฯ การทำงานต้องครอบคลุมทั้งการป้องกันมาตรการภาษีที่อาจเกิดขึ้น 

"มาตรการภาษีของทรัมป์ (Trump Tariffs) ซึ่งถือเป็นนโยบายกาลักน้ำ (Zero Sum Game) ที่ประเทศหนึ่งได้ อีกประเทศหนึ่งต้องเสีย ดังนั้น ไทยต้องวางกลยุทธ์ให้เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการค้าโลก ซึ่งอาจส่งผลบวกต่อ GDP ไทย0.5% ถึง 1.0%”นายพจน์ กล่าว

นายพจน์ กล่าวว่า การลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐอาจจะมีการพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีจุดยืนที่ดีขึ้นในการเจรจาต่อรอง หากพิจารณามูลค่าการค้าเฉพาะสินค้าหมวดสินค้าเกษตรกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร พบว่าไทยเกินดุลสหรัฐฯ เพียง 2,665 ล้านดอลลาร์ หรือ 7.5%

โดยหอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ที่ไทยยังขาดแคลน และการนำเข้าไม่กระทบต่อผู้ค้าและเกษตรกรไทยเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง ที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน การเปิดโควตานำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยว, เนื้อวัวและเศษเนื้อเครื่องในวัว  จะช่วยให้ไทยมีทางเลือกด้านซัพพลายที่มากขึ้น และ สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเชลล์ และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศรวมทั้งสินค้ากลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ

ด้าน นายธนวรรธน์  พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การตั้งทีมพิเศษจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและต้องเร่งทำเนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะโตต่ำกว่า 3% และโตต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ที่ 

ล่าสุดจากการที่มีการขึ้นกำแพงภาษีกับแคนาดา เม็กซิโกและจีน ไปแล้วคาดว่าจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทยคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 20,000 -25,000 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีไทยลดลงไป .1 ถึง .5% และการขึ้นกำแพงภาษีรถยนต์จะกระทบกับไทยคิดเป็นมูลค่า60,000 -65,000 ล้านบาท กระทบจีดีพีลดลง .35 % ถึง .4% จะทำให้จีดีพีไทยโตเพียง 2.6 %ถึง 2.8% .ในปีนี้

แต่หากทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าจากไทยและทั่วโลก ประเมินผลกระทบขั้นต่ำไว้ที่มูลค่า 100,000 - 150,000 ล้านบาท จีดีพีจะลดลง 0.5 % -0 .7%  และทำเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 3.5  %  จะเหลือเพียง  2.3% - 2.5%

สำหรับดุลการค้าไทย-สหรัฐฯ ปี 2566 สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออก 67,659 ล้านดอลลาร์ ไทยได้เกินดุลการค้าสหรัฐฯ 29,045 ล้านดอลลาร์  ขณะที่ปี 2567 ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าไทยยังคงเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ประมาณ 45,600 ล้านดอลลาร์ ทำให้ขยับจากประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐในลำดับที่ 12 มาเป็นลำดับที่ 11

อาจสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่ไทยอาจถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องความไม่สมดุลทางการค้า โดยที่นโยบายการค้าของทรัมป์มุ่งลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจนำไปสู่การขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากไทย และเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎระเบียบทางการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งหากไทยไม่สามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ