"เอกชน" ห่วงเศรษฐกิจไทยพัง จี้รัฐตั้งทีมรับมือทรัมป์ 2.0

“ทรัมป์” เปิดฉากเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า “จีน แคนาดา เม็กซิโก “ ทำสงครามการค้า ระอุ “หอการค้าไทย จี้ รัฐตั้ง”ทีมพิเศษ” แก้เกม ทรัมป์ 2.0 เสนอเปิดนำเข้าสินค้าเกษตร-อาหารที่ไทยยังขาดแคลน แนะนำดุลการบริการที่ไทยขาดดุลสหรัฐยกขึ้นเวทีเจรจา
KEY
POINTS
- สงครามการค้าร้อนแรง ทรัมป์ บังคับใช้ มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐ 3 ประเทศ “จีน แคนาดา เม็กซิโก
- ทรัมป์ เตรียมประกาศ ขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มรถยนต์ ยา เซมิคอนดักเตอร์ เม.ย.นี้
- หอการค้าไทยกระทุ้งรัฐตั้ง “ทีมพิเศษ” “แก้เกม ทรัมป์ 2.0 หลังรัฐ"เอื่อย" หวั่นฉุดจีดีพีไทยร่วง
- หนุนเปิดนำเข้าสินค้าเกษตร-อาหาร ที
ประธานาธิบดีสหรัฐ "โดนัลด์ ทรัมป์" เดินหน้านโยบายและมาตรการปรับขึ้นภาษีตามที่ตนได้หาเสียงไว้อย่างต่อเนื่อง ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก จนประเทศที่ถูกสหรัฐปรับขึ้นภาษีต้องใช้มาตรการตอบโต้ทางภาษี ต่อสหรัฐแบบ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน”
มาตรการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ ประเดิมด้วยการเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 25% กับสินค้านำเข้าทั่วไปจากแคนาดาและเม็กซิโก การปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรอีก 20 % กับสินค้านำเข้าทั่วไปจากจีน และการปรับขึ้นภาษีกับสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม นำเข้าจากทุกประเทศ สู่อัตรา 25% โดยการเรียกเก็บภาษีทั้ง 3 ประเทศ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.68
ส่งผลให้ประเทศที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ตอบโต้กลับด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ โดยแคนาดาดำเนินมาตรการตอบโต้กลับสหรัฐด้วยการเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่ากัน มีผลในวัน และเวลาเดียวกันกระทรวงการคลัง ส่วนจีนประกาศว่า จีนจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐบางรายการเพิ่มอีก 15% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 มี.ค.68 ขณะที่เม็กซิกโกขอดูท่าทีแต่มีความเป็นไปได้ที่จะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านี้สหรัฐยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ล่าสุด ยกสอง สหรัฐ เตรียมเก็บภาษีรถยนต์เพิ่มขึ้น จ่อขึ้นภาษีสินค้าในกลุ่ม "ยานยนต์ ยา และเซมิคอนดักเตอร์" 25% กับโดยคาดว่าอาจจะประกาศได้เร็วสุดในวันที่ 2 เม.ย.68 นี้ ซึ่งหากมีการบังคับใช้ภาษีนำเข้าใหม่นี้ จะทำให้สงครามการค้าของ “ทรัมป์” ทวีความรุนแรงมากขึ้น
“ไทย” ถูกเพ็งเล็งจากสหรัฐ ในฐานะที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2567 อยู่ในลำดับที่ 11 ซึ่งจะโดนหางเลขกับการขึ้นภาษีในครั้งนี้ด้วย
ภาคเอกชน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากนโยบายการค้าของสหรัฐโดย "หอการค้าไทย" ได้ออกแถลงการณ์ย้ำ รัฐบาลให้เตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะการที่ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกขึ้นภาษี เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าลำดับที่ 11 นอกจากนี้ หอการค้าไทยแสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ กับทั่วโลก ซึ่งอาจทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าสู่ตลาดอาเซียนรวมถึงไทย จะสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกของไทยและผู้ประกอบการไทยในทุกระดับต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
ดังนั้น ขอให้รัฐบาลเร่งตั้ง “ทีมพิเศษ” (Special Team) ก่อน เดทไลน์ 2 เม.ย.ประกอบด้วยภาครัฐและภาคเอกชนที่มีอำนาจสั่งการระดับกระทรวง เพื่อวางแผนรับมือและกำหนดแผนเชิงรุกกกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของนโยบายเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐฯ กับทั่วโลก
ขณะที่ม.หอการค้าไทย คาดว่า มาตรการขึ้นภาษีสหรัฐในยกแรกส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทยคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 20,000 -25,000 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีไทยลดลงไป 0 .1 ถึง 0 .5% และการขึ้นกำแพงภาษีรถยนต์จะกระทบกับไทยคิดเป็นมูลค่า60,000 -65,000 ล้านบาท กระทบจีดีพีลดลง .35 % ถึง .4% จะทำให้จีดีพีไทยโตเพียง 2.6 %ถึง 2.8% ในปีนี้ แต่หากทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้าจากไทยและทั่วโลก ประเมินผลกระทบขั้นต่ำไว้ที่มูลค่า 100,000 - 150,000 ล้านบาท จีดีพีจะลดลง 0.5 % -0 .7% และทำเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 3.5 % จะเหลือเพียง 2.3% - 2.5%
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ ประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าไทย กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ คือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีจุดยืนที่ดีขึ้นในการเจรจาต่อรอง หากพิจารณามูลค่าการค้าเฉพาะสินค้าหมวดสินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม,ปศุสัตว์,ประมง) และสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร พบว่าไทยเกินดุลสหรัฐฯ เพียง 2,665 ล้านดอลลาร์ หรือ 7.5%
โดยหอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ที่ไทยยังขาดแคลน และการนำเข้าไม่กระทบต่อผู้ค้าและเกษตรกรไทย อาทิ
1. พืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง ซึ่ง ที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและหมอกควัน การเปิดโควตานำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยว ของไทย จะช่วยให้ไทยมีทางเลือกด้านซัพพลายที่มากขึ้น
2. สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเชลล์ และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐฯ ซึ่งไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ
“ช่วงที่ผ่านมาทรัมป์ ขึ้นภาษีสินค้าอุตสาหกรรม แต่ยังไม่เห็นพูดถึงสินค้าเกษตรและอาหารเลย ซึ่งเป็นได้ว่า จะกระทบกับฐานเสียงของทรัมป์ เพราะการขึ้นภาษีสินค้าเกษตรจะทำให้สินค้าเกษตรในสหรัฐแพงขึ้น ล่าสุดไข่ไก่ราคาขึ้นไปถึง 20 ดอลลาร์ต่อแพค ทำให้ต้องมีการเช่าแม่ไก่ เพื่อให้ออกไข่”นายชนินทร์ กล่าว
นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ รองประธานหอการค้าไทย และรองประธานคณะกรรมการอเมริกาและโอเชียเนีย กล่าวว่า แม้ไทยจะได้ไทยยังคงเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ประมาณ 45,600 ล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขเป็นเรื่องของสินค้านำเข้าและส่งออก เท่านั้น มองว่า ยังมีสินค้าภาคบริการบริการ (Deficit on Services) เช่น บริการดิจิทัล ค่าบริหารจัดการ ลิขสิทธิ์ ภาคธนาคาร ภาคประกันภัย การศึกษา ที่ไทยเสียดุลการค้าให้กับสหรัฐไม่น้อย
ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเสียดุลการค้าภาคบริการ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนกว่าตัวเลขการค้าสินค้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งน่าจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐได้
ในส่วนของภาคเอกชนสหรัฐขณะนี้ทาง (The American Chamber of Commerce: AMCHAM) มีความกังวลต่อนโยบายทรัมป์ ซึ่งเห็นมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐจะกระทบต่อราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้น มีโอกาสกระทบเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มีสัญญาณว่าอาจจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ และจะกระทบต่อภาคแอกชนสหรัฐที่ลงทุนในไทย รวมทั้งยังประเมินไม่ได้ว่าจะมีนโยบายใดออกมาอีก ซึ่งภาคเอกชนไทยและภาคเอกชนสหรัฐก็มีการหารือกันตลอดเวลา
ภาคเอกชนตื่นตัวจากผลกระทบสงครามการค้า ขณะที่ภาครัฐกับ”นิ่ง”แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการค้าสหรัฐ แต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแนวทางรับมือทรัมป์ 2.0 ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลจะวางใจ มั่นใจ ว่า ไทยจะไม่โดนมาตรการสหรัฐหรือโดนน้อย หากเป็นเช่นนั้นจริงถือว่า ตั้งอยู่ในความ “ประมาท” เพราะไม่มีใครรู้ว่า ตั้งแต่ 2 เม.ย.ทรัมป์จะประกาศมาตรการอย่างไร และใช้กับประเทศไหน
การนิ่งเฉยแบบนี้และไม่มาตรการเชิงรุก เชิงรับ มีแนวโน้มว่าไทยจะได้รับผลกระทบเต็มจากการนโยบายการค้าสหรัฐ ที่ทำให้มูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยหรือจีดีพี จนอาจฉุดจีดีพีไทยในปีนี้ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะตลาดสหรัฐเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับ 1 โดย ไทยส่งออกไปสหรัฐมีสัดส่วนการถึงเป็น 18 % ของการส่งออกของไทยทั้งหมด