นำเข้า“ผลิตภัณฑ์นมโค”พุ่ง300% ผลเอฟทีเอออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 ประเทศไทย ต้องยกเลิกโควตาภาษีของนมผงขาดมันเนย และนมและครีม ให้เป็น 0%ตามข้อตกลงทางการค้า
ภายใต้ความตกลง การค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย [Thailand - Australia Free Trade Agreement (TAFTA)) และความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ [Thailand - New Zealand Closer Economic Partnership (TNZCEP))
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สถิติการนำเข้านมและครีมสำหรับเลี้ยงทารก (พิกัด 402010000) จากทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย ธ.ค. 2567 มูลค่า 0.23 ล้านดอลลาร์ แต่หลังการเปิดเสรี มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 1.53 ล้านดอลลาร์ หรือ เพิ่มขึ้นถึง 308.16% หากแบ่งเป็นการนำเข้าจากออสเตรเลีย พบว่ามูลค่าลดลง 64.91% แต่หากเป็นการนำเข้าจากนิวซีแลนด์ มูลค่าเพิ่มขึ้น 725.75%
ขณะที่ สินค้านมและผลิตภัณฑ์ (พิกัด402000000) มูลค่านำเข้ารวม เพิ่มขึ้นจาก 45.09 ล้านดอลลาร์ เป็น 83.78 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 34.74% โดยเป็นการนำเข้าจากออสเตรเลีย ที่เพิ่มขึ้น 25.72% และนิวซีเเลนด์ เพิ่มขึ้น 36.65%
การนำเข้ากลุ่มผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ (พิกัด 402060000) มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 4.50 ล้านดอลลาร์ เป็น 6.62 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 71.91% แบ่งเป็นออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 34.05% นิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้น 91.96%
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความเห็นว่า สถานการณ์การผลิตและการเลี้ยงโคนมในปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดลงจาก 15,724 ราย ในปี 2566 เป็นจำนวน 14,997 ราย ในปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมโคของทั้งประเทศลดลงจาก 1.026 ล้านตันต่อปี ในปี 2566 เป็น 1.011 ล้านตันต่อปี ในปี 2567 รวมทั้งจำนวนแม่โครีดนมยังมีแนวโน้มลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องโดยลดลงจาก 244,292 ตัว ในปี 2566 เป็น 233,501 ตัวในปี 2567
“ความตกลงการค้าเสรีฯ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 ประเทศไทย ต้องยกเลิกโควตาภาษีของนมผงขาดมันเนย และนมและครีม ให้เป็น0% ความตกลงดังกล่าวจึงผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมนมของไทยเนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมนมสูงขึ้น”
โดยที่ประชุมครม.หารือเรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่26 มี.ค. 2562 เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2562 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนและให้ใช้ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (โครงการนมโรงเรียนฯ)
2. เห็นชอบการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการนมโรงเรียนฯ จำนวน 4 ข้อ ได้แก่ นักเรียนทั้งประเทศได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ,เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถผลิตขายน้ำนมโคที่มีคุณภาพได้และมีความยั่งยืนในอาชีพ, เพื่อสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจและสถาบันการศึกษาในการดำเนินกิจการผลิตนมในลำดับแรก ซึ่งจะเกิดความมั่นคงทางอาหารของประเทศ4. ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมได้รับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ครม.พิจารณาประเด็น จำนวนเด็กนักเรียนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนนักเรียนในโครงการนมโรงเรียนฯ ปี 2563 จำนวน 7,036,845 คน แต่ในปี 2567 กลับลดเหลือจำนวน 6,525,110 คน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อจำนวนที่จะนำมาจัดสรรสิทธิโดยเฉพาะภาคสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษา (ตั้งแต่เริ่มโครงการนมโรงเรียนฯ ในปี 2562 มีแนวโน้มการได้รับสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนลดลงตามลำดับ)
แนวโน้มภาคสหกรณ์โคนมรัฐวิสาหกิจและสถานศึกษาได้รับการจัดสรรสิทธินมโรงเรียนลดลง รวมถึงการยกเลิกโควตาภาษีนมผงขาดมันเนยและนมและครีมให้เป็น0% ส่งผลให้อุตสาหกรรมโคนมมีข้อจำกัดด้านการแข่งขันทางการตลาด ประกอบกับข้อมูลสถิติการเลี้ยงโคนมและเขตการบริหารราชการของ กรมปศุสัตว์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการกระจายตัวของโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมไม่สัมพันธ์กับหลักโลจิสติกส์
“การทบทวนปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการจัดสรรสิทธิการจำหน่าย นมโรงเรียนในบางกลุ่มพื้นที่ที่มีปัญหาการขนส่งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการดำเนินโครงการนมโรงเรียนฯ ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนด้วย”
ในส่วนประเด็นโครงสร้างระบบบริหารโครงการนมโรงเรียนฯ จากเดิมที่แบ่งกลุ่มพื้นที่ 5 เขตพื้นที่ เป็น 7 เขตพื้นที่ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งนมโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ ซึ่งเมื่อมีการแบ่งเขตใหม่จะสามารถช่วยลดระยะทางในการขนส่งนมโรงเรียนได้จากเดิมที่ต้องขนส่งระยะทางไกลที่สุด 1,191 กิโลเมตร เหลือเพียงแค่ 505 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตกลุ่มพื้นที่ใหม่นี้อาจจะไม่ช่วยทำให้จำนวนนักเรียนและจำนวนศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบมีการกระจายตัวอย่างสมดุลในแต่ละกลุ่มพื้นที่มากนัก ซึ่ง กระทรวงเกษตรฯสามารถทดแทนได้จากการรับนมของพื้นที่นอกเขต โดยปัจจุบันในแต่ละกลุ่มพื้นที่มีปริมาณนมยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนฯ ต่อวันเพียงพอต่อความต้องการในกลุ่มพื้นที่นั้น ๆ อยู่แล้ว
หลังข้อตกลงการค้าเสรีออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ได้ยกเว้นสินค้านมแลผลิตภัณฑ์ที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพ ด้วยการไม่ลดภาษีตามหลักการค้าเสรี แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปการเปลี่ยนแปลงทางการค้ากำลังทำให้ภาคเกษตรไทยที่ค่อยๆปรับตัวมานานเป็นสิบสิบปี ต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าทุกสนามแข่งขันไม่ได้มีแค่แพ้หรือชนะ แต่มีผลของการปรับตัวที่จะทำให้ภาคการเกษตรไทยเข้มแข็งขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งจากนี้