หลงทางกับ 'กระตุ้นเศรษฐกิจ'

“การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหนทางไปสู่เป้าหมาย มิใช่เป้าหมายด้วยตัวของมันเอง" (Economic growth is a means to an end, not an end in itself.) “ติดกระตุ้นเศรษฐกิจคือติดยาเสพติดที่เป็นพิษ” ใครอ่านข้อความนี้แล้วคงเกิดอารมณ์ว่าตกลงเเล้วการที่เศรษฐกิจขยายตัวดังพูดกันเป็นวรรคเป็นเวรในบ้านเรานั้นมันไม่สำคัญแล้วหรือ และ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” มิใช่เรื่องดีแล้วหรือ กรุณาติดตามต่อไปกับความพยายามในการสร้างความแจ่มแจ้งครับ
เมื่อกล่าวถึงการเจริญเติบโตหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ต้องพูดถึง GDP (Gross Domestic Product ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) หรือมูลค่ารวมของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นในประเทศหนึ่งในหนึ่งปี ซึ่งเท่ากับรายได้รวมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ขอเน้นว่านับเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการผลิตที่ถูกกฎหมาย (มูลค่ายาเสพติดไม่นับ) ผ่านตลาด (งานดูแลบ้านของภรรยา งานรับจ้างตัดต้นไม้ ฯลฯ ไม่นับ)
หากดู GDP ซึ่งวัดจากด้านรายได้ก็จะพบว่า มันประกอบด้วย ค่าจ้าง + ค่าเช่า + ดอกเบี้ย +กำไรจากธุรกิจ + ภาษีทางอ้อมทางธุรกิจ + ค่าเสื่อมของทั้งประเทศ คำอธิบายคือรวมค่าจ้างไม่ว่าเงินเดือน ค่าจ้างเเละผลตอบแทนอื่นๆ แก่ลูกจ้างเช่นเดียวกับค่าเช่าจากบ้านเช่าหรือคอนโด ดอกเบี้ยอันเป็นรายได้จาก เงินออม เงินกู้หรือการลงทุน กำไรจากธุรกิจเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ส่วนภาษีทางอ้อมทางธุรกิจก็ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ และค่าเสื่อมซึ่งหมายถึงการสูญเสียของมูลค่าของทุนในรูปอาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ ซึ่งใช้ในการผลิต
การเจริญเติบโตหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็คือ การขยายตัวของ Real GDP (คือ GDP ที่ได้รับการปรับค่าทางสถิติเพื่อให้ผลจากราคาที่แปรเปลี่ยนในแต่ละปีถูกกำจัดออกไป ดังนั้น หาก Real GDP เพิ่มขึ้นก็หมายถึงมีการผลิตจริงเพิ่มขึ้นและมูลค่าสินค้าและบริการจริงเพิ่มขึ้นหรือรายได้จริงเพิ่มขึ้น) หรือเศรษฐกิจขยายตัวหรือ Economic Growth (EG) หากเท่ากับ 3% ก็หมายถึง Real GDP เพิ่มขึ้น 3% ข้ามปี
เหตุที่ EG มีความสำคัญก็เพราะมันช่วยเป็นตัวบอกคร่าว ๆ ของความกินดีอยู่ดีของประชาชนข้ามเวลาในประเทศหนึ่ง หากเอาจำนวนประชากรไปหาร Real GDP ก็จะได้ตัวเลขของ Real GDP ต่อหัว (Real GDP ÷ จำนวนประชากร ) ซึ่งเป็นตัววัดความกินดีอยู่ดี ส่วนอัตราการเปลี่ยนแปลงของ Real GDP ต่อหัวเท่ากับอัตราการเปลี่ยนแปลงของ Real GDPหรือ EG ลบด้วยอัตราการเปลี่ยนแปลงของประชากร
มาถึงตรงนี้ผู้อ่านคงรู้สึกอึดอัดว่า GDP มันรวมภาษีทางอ้อมและค่าเสื่อมของทั้งประเทศ ดังนั้น EG จึงมีสองตัวนี้เข้าไปรวมอยู่ด้วย ถ้าหากมันเพิ่มขึ้นข้ามปีก็หมายถึงมีส่วนทำให้ EG เพิ่มสูงขึ้น ถ้ารัฐบาลบ้าจี้อยากมี EG สูงขึ้นก็เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเเละเปลี่ยนกฎหักค่าเสื่อมสูงขึ้นเมื่อคำนึงถึงว่า Real GDP ไม่ได้รวมสิ่งผิดกฎหมายที่มีการผลิตอีกมากมาย ดังนั้น EG จึงมิได้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจอย่างเเม่นยำ
ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธความสำคัญของ EG เพราะมันเป็นตัวช่วยชี้ภาวะเศรษฐกิจคร่าวๆ หากอัตราการเจริญเติบโตเท่ากับอัตราเพิ่มขึ้นของประชากร มาตรฐานการครองชีพข้ามเวลาก็อยู่นิ่ง หากจะให้ความกินดีอยู่ดีสูงขึ้น EG ก็ต้องเเซงอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร เเละหาก EG ต่ำก็หมายถึงเศรษฐกิจขาดพลวัตร ธุรกิจไม่ขยายตัว รัฐมีรายได้จากภาษีน้อยลงเพื่อนำไปใช้จ่าย ฯลฯ
EG เป็นสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการผลิตโดยมีโครงสร้างพื้นฐาน มีภาครัฐที่ออกกฎเกณฑ์เเละทำให้ตลาดทำงานมีการเเข่งขันมีเเรงงานที่มีคุณภาพ มีการใช้เทคโนโลยี ฯลฯ อย่างไรก็ดีบางครั้งก็จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเเต่ก็ควรเป็น EG ชนิดที่ไม่ทอดทิ้งบางคน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบในภาระการเงินที่เกิดขึ้น และภาระของคนรุ่นต่อไปในเรื่องใช้หนี้ที่ไม่เหมาะสมจากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ต้องการ EG พันธุ์การเมืองที่มาจากความตั้งใจหาเสียงอย่างไร้ความรับผิดชอบกระตุ้นวูบวาบด้วยเงินมหาศาลจนเพิ่มความเสี่ยงแก่ประเทศ
การคิดแค่เพียงมีอัตราการเจริญเติบโตสูงโดยใช้ด้านดีมานด์ (ผ่านการบริโภคด้วยการกระตุ้นการใช้จ่าย ลดภาษี ขยายปริมาณเงิน ฯลฯ) นั้นไม่รอบด้าน ยังมีอีกด้านที่เรียกว่า supply-slide ที่เกี่ยวพันกับการเพิ่มความสามารถในการผลิต (productive capacity) ของเศรษฐกิจ ซึ่งใช้เวลาแต่สร้างความยั่งยืน
อันได้แก่ การเพิ่มผลิตภาพ (productivity หรือความสามารถในการผลิตของหนึ่งหน่วยวัตถุดิบ) ของแรงงาน เพิ่มคุณภาพการศึกษา ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ฝึกอบรมสร้างทักษะใหม่ สร้างความสะดวกในการประกอบธุรกิจ มีกฎหมายกฎเกณฑ์ที่มีไม่มากและไม่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ฯลฯ
การพยายามสร้าง EG ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายของภาครัฐ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ติดโรค “นั่งพับเพียบ พนมมือ” จมปลักอยู่ในวัฒนธรรม “รอคอยการให้” ขาดความคิดริเริ่ม ขาดการพึ่งพาตนเอง ขาดการดิ้นรนต่อสู้ ฯลฯ จนเกิดผลเสียซึ่งรวมกันแล้วมากกว่าประโยชน์จากการกระตุ้นผ่านการแจก
ถ้า EG คือเป้าหมายสุดท้ายซึ่งบรรลุได้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเเจก (การแจกสร้าง “พายุหมุนเศรษฐกิจ") แล้ว การจัดการเศรษฐกิจคงง่ายมากๆ วัน ๆ ไม่ต้องทำอะไรแค่อัดเงินเข้าไปแจกประชาชน “พายุ” ก็จะเกิดอย่างแรง ฉุดให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่หยุดยั้ง ทุกประเทศรวยกันถ้วนหน้า ยิ้มย่องผ่องใส ไม่ปวดใจกันดังเช่นทุกวันนี้ อย่างนี้ต้องเผาตำราเศรษฐศาสตร์ทิ้งให้หมดเพราะได้พบวิธีใหม่เเล้ว
ผลเสียยิ่งอีกอย่างหนึ่งของการแจกก็คือ การเสียโอกาส การใช้เงินเป็นแสนล้านบาทโยนลงแม่น้ำซึ่งเงินเหล่านี้มีทางเลือกในการใช้หลายอย่าง เช่น เอาไปสร้างผลิตภาพของแรงงาน พัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างนวัตกรรม ลงทุนในโครงการใหญ่ที่สร้างความยั่งยืน ฯลฯ “ราคา” ของการแจกก็คือสิ่งเหล่านี้ที่เราไม่ได้รับเพราะเงินถูกเอาไปแจกแทนเสียแล้ว
อย่าพร่ำบูชาเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จนลืมไปว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่สำคัญคือเราต้องการสังคมที่มีความอยู่ดีอย่างยั่งยืน มีงานทำ มีความปลอดภัยในชีวิตเเละทรัพย์สิน เหลื่อมล้ำน้อยลง เงินเฟ้อต่ำ มีระบบสวัสดิการมีการขับเคลื่อนไปสู่สังคมที่มีความสุขเเละไว้วางใจกันโดยมีภาครัฐที่รับผิดชอบและเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคนอย่างจริงใจ