คุยกับ 'ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส' แห่ง ธปท. กับโจทย์เศรษฐกิจไทยที่รอคำตอบ

"กรุงเทพธุรกิจ" ชวนพูดคุยกับ "ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส" รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย หนี้ครัวเรือน สินเชื่อหดตัว ดอกเบี้ยนโยบาย และบัญชีม้า เพื่อให้เข้าใจปัญหาทั้งหมดชัดเจนมากขึ้น
ช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายรอบด้านทั้งจากภายในประเทศ และต่างประเทศอย่างการกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (25 มี.ค.68) "กรุงเทพธุรกิจ" ชวนพูดคุยกับ "ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส" รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย หนี้ครัวเรือน สินเชื่อหดตัว ดอกเบี้ยนโยบาย และบัญชีม้า เพื่อให้เข้าใจปัญหาทั้งหมดชัดเจนมากขึ้น
ในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย มองภาพเศรษฐกิจปัจจุบันอย่างไร
เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่หลายท่านคาดการณ์ไว้ ทำให้ธนาคารยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากรายได้ของผู้กู้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้า ส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อไม่มากนัก
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการออกมาตรการต่างๆ เช่น การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยลดภาระการผ่อนชำระ และล่าสุดได้มีการปลดล็อกมาตรการ LTV (Loan to Value) เป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับบ้านหลังที่สอง และหลังที่สาม รวมถึงการปรับเพดาน LTV สำหรับบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท
นอกจากนี้ เราได้เห็นความไม่ราบรื่นในระบบเศรษฐกิจ จึงได้ออกโครงการ "คุณสู้เราช่วย" เพื่อประคับประคองผู้ที่มีรายได้น้อยไปจนถึงผู้ที่มีรายได้ระดับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่หนักกว่าที่คาดคิดไว้ แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ในระยะยาวได้
ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการระยะยาวอย่างไร?
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้วางแผนระยะยาว 2-3 ปี โดยได้พัฒนา E-financial Landscape ที่พยายามตอบโจทย์ด้วยหลักการ 3 O ได้แก่:
- Open Infrastructure - สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เสรีมากขึ้น และมีต้นทุนต่ำ
- Open Data - เปิดให้มีการเข้าถึงข้อมูลเพื่อการพิจารณาสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยดูจากข้อมูลภาษี สาธารณูปโภค และอื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำความรู้จักกับธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ของธนาคารพาณิชย์
- Open Competition - ส่งเสริมการแข่งขัน โดยออกใบอนุญาตให้ Virtual Bank เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจธนาคาร และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม แม้ Virtual Bank จะช่วยเพิ่มการแข่งขัน และให้บริการลูกหนี้รายชายขอบ รายย่อย และ SMEs ขนาดเล็ก แต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ทุกกลุ่มได้ เช่น ผู้ที่ต้องการใช้บริการที่สาขาธนาคาร หรือธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น ธนาคารรูปแบบเดิมก็ยังคงมีบทบาทอยู่ควบคู่กันไป โดยรวมแล้ว นโยบายเหล่านี้มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับระบบการเงินของประเทศไทย
การดำเนินการเรื่อง 3 Os เป็นอย่างไรบ้าง?
การดำเนินการตามแนวคิด 3 Os นี้ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว เป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคต คาดว่าในปี 2568 จะสามารถเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการได้ เช่น ข้อมูลด้านภาษี และค่าสาธารณูปโภคในปีนี้ ส่วนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารอาจต้องรอถึงปีหน้า
ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารจำเป็นต้องมีการพูดคุย และตกลงร่วมกันในหลายประเด็น เช่น รูปแบบข้อมูล และประเภทข้อมูลเงินฝากที่จะแลกเปลี่ยน ซึ่งต้องใช้เวลาในการกำหนดมาตรฐานร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แต่เราเชื่อว่า "อะไรที่ปูทางยาว ก็จะให้ประโยชน์ระยะยาว"
อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะหากเศรษฐกิจตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก และไม่สามารถฟื้นตัวได้ ก็จะส่งผลเสียในระยะยาวเช่นกัน ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องดำเนินมาตรการทั้งระยะสั้น และระยะยาวควบคู่กันไป
ช่วงที่ผ่านมามีรายงานว่าหนี้ต่อจีดีพีของไทยลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเพราะแบงก์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อจนหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทาง ธปท. มองผลกระทบต่อ SMEs อย่างไร
ปัญหาของ SMEs มีสองส่วนหลักๆ คือ:
- SMEs มีความเสี่ยงสูง ทำให้สถาบันการเงินไม่มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ จึงมักต้องมีการค้ำประกัน ซึ่งหลายครั้ง SMEs อาจไม่มีผู้ค้ำประกัน
- ความไม่โปร่งใสของข้อมูล ทำให้การประเมินความเสี่ยงทำได้ยาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมุ่งแก้ปัญหาทั้งสองด้าน โดยพยายามจัดให้มีสถาบันค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs และในอนาคต สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) จะมีบทบาทมากขึ้นในการให้บริการลูกหนี้ชายขอบ
จากข้อมูลทั้งหมดอาจทำให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีบทบาทไม่ครอบคลุมเพียงพอ เราจึงจัดตั้ง “NaCGA” ขยายบทบาทของ บสย. ให้กว้างขึ้น พร้อมทั้งให้สถาบันเหล่านี้มีข้อมูลที่มากขึ้นเพื่อการตัดสินใจ ข้อมูลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ NaCGA ควรสามารถกำหนดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันได้เองตามระดับความเสี่ยง กล่าวคือ ธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อยก็จะเสียค่าธรรมเนียมน้อย ส่วนธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงก็จะเสียค่าธรรมเนียมสูงขึ้น การมีข้อมูลที่เพียงพอจะช่วยให้สามารถแยกแยะระดับความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี การพัฒนาโมเดลการประเมินความเสี่ยงต้องใช้เวลาก่อนที่จะมีความเสถียร และใช้งานได้จริง ดังนั้นที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยจึงทำโครงการ "Your Data" ที่จะช่วยให้คนชายขอบ และ SMEs สามารถส่งข้อมูลของตัวที่มีอยู่ในที่ต่างๆ มาให้ NaCGA ได้ แต่ในเบื้องต้น ต้องรวบรวมข้อมูลพื้นฐานให้ครบถ้วนก่อน
ขณะนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ถูกบังคับให้ส่งข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้ว (Processed data) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ชุดข้อมูลลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ที่จัดทำขึ้นเองเพื่อการประมวลผลด้านต่างๆ เช่น การให้สินเชื่อ แต่หากในอนาคตต้องการเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก ก็สามารถแจ้งความจำนงได้
มองปัญหาของธุรกิจขนาดกลาง และใหญ่ เหมือน SMEs หรือไม่?
ปัญหาของธุรกิจขนาดกลาง และขนาดใหญ่แตกต่างจาก SMEs อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์กับสถาบันการเงิน
สำหรับธุรกิจรายใหญ่ ธนาคารมักจัดเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้มีความรู้จัก และเข้าใจธุรกิจอย่างชัดเจน ส่งผลให้ความกลัว และความกังวลในการปล่อยสินเชื่อมีน้อย
ในทางกลับกัน ธุรกิจขนาดเล็กมักไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทำให้ธนาคารมีข้อมูล และความเข้าใจน้อย เกิดความไม่มั่นใจสูง
ด้วยเหตุนี้ การค้ำประกันสินเชื่อจึงมีบทบาทสำคัญสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก NaCGA จะให้บริการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจทุกขนาด แต่ในภาวะปกติ กลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็น SMEs ขนาดเล็ก ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่อาจไม่จำเป็นต้องใช้บริการค้ำประกัน
ธนาคารแห่งประเทศไทยมองปัญหาหนี้ครัวเรือนปัจจุบันของไทยอย่างไร
หนี้ครัวเรือนยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ไม่ว่าตัวเลขโดยรวมจะเป็นเท่าใดก็ตาม ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีหนี้ 89% ของรายได้ ความจริงแล้วอาจมีหลายคนที่มีหนี้สูงกว่านี้มาก
เราสังเกตเห็นว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น และเป็นหนี้เป็นระยะเวลานานขึ้น ซึ่งสะท้อนปัญหาที่ลึกกว่าตัวเลขเปอร์เซ็นต์ จึงจำเป็นต้องพิจารณาการกระจายตัวของหนี้ด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้ออกโครงการ "คุณสู้เราช่วย" เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ลูกหนี้บางกลุ่มมีรายได้ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดความไม่ราบรื่นในการชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม โครงการ "คุณสู้เราช่วย" อาจไม่สามารถช่วยผู้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรังมานาน แต่จะเน้นช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้เติบโตช้าแต่ยังมีแนวโน้มที่จะชำระหนี้ได้ กล่าวคือ โครงการนี้เหมาะสำหรับ "คนที่ยังสู้อยู่" แต่สำหรับ "คนที่ไม่สู้แล้ว" อาจจำเป็นต้องใช้มาตรการอื่นที่เหมาะสมกว่า
ในช่วงเริ่มต้นของโครงการ ผลตอบรับค่อนข้างช้า ซึ่งสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยเองที่สงสัยว่าเหตุใดจำนวนผู้เข้าร่วมจึงน้อยกว่าที่คาดไว้มาก
เราพบว่ามีผู้สนใจจำนวนมากที่ติดต่อเข้ามา แต่ไม่เข้าเกณฑ์คุณสมบัติของโครงการ หลังจากหารือกับหลายฝ่าย เราพบว่าการประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง จึงได้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินให้ช่วยติดต่อลูกค้าที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์โดยตรง เนื่องจากธนาคารเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลลูกค้าดีที่สุด แต่ก็พบปัญหาว่าลูกหนี้มักไม่รับสายจากเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย
การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ท่ามกลางการเข้ามาของเทคโนโลยี บทบาทเปลี่ยนไปอย่างไร?
ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เรามีความตั้งใจที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติทางการเงินที่มีสาเหตุจากสถาบันการเงินอีกครั้ง
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นกรณีในสหรัฐอเมริกาที่มีการถอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์จนทำให้ธนาคารล้ม ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำมาพิจารณา
หากสถาบันการเงินใดใช้บริการออนไลน์เป็นจำนวนมาก เราจำเป็นต้องมีการหารือ และกำกับดูแลอย่างเหมาะสม
เรื่องคอลเซนเตอร์ และบัญชีม้า ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการอย่างไร?
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นในช่วง 3-5 เดือนที่ผ่านมา โดยได้มีการจัดกลุ่มบัญชีม้าในปี 2567 และติดตามสถิติอย่างใกล้ชิด
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้จัดทำรายชื่อบัญชีม้า ซึ่งเราพบว่าการใช้งานบัญชีเหล่านี้มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีบัญชีม้าที่ยังไม่ถูกระบุอย่างชัดเจน (เรียกว่า "ม้าน้ำตาล")
เราต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยแจ้งเตือนลูกค้า เช่น หากมีรายชื่อบัญชีที่อาจเป็น "ม้าน้ำตาล" ควรรีบแจ้งให้ลูกค้าทราบโดยเร็ว และหากพบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ ควรเรียกลูกค้ามายืนยันตัวตน
มีบทลงโทษอย่างไร?
ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการหารือเกี่ยวกับพระราชกำหนดใหม่ และได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย
ความเห็นที่เรามีคือ หากมีผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่ได้ตกลงกันไว้ บุคคลนั้นควรต้องร่วมรับผิดชอบ ซึ่งรวมถึงผู้เสียหาย และตัวธนาคารพาณิชย์เองด้วย เช่น กรณีที่ใช้รหัสผ่านที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นจะเห็นว่าความรับผิดชอบเริ่มตั้งแต่ตัวผู้ใช้บริการเอง ผู้ให้บริการ และธนาคารพาณิชย์
มุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยคือ เราต้องการให้มีมาตรฐานที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพาณิชย์ต้องมีส่วนในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัย หากตรวจพบว่าธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดแล้ว ก็ถือว่าได้ปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเหมาะสม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์