กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชวน ช้อปฟิน กินฉ่ำ สินค้าGI ในงาน GI Market

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชวน ช้อปฟิน กินฉ่ำ  สินค้าGI  ในงาน  GI Market

กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดงาน “GI Market 2025”อย่างยิ่งใหญ่ คัดสรรสุดยอดสินค้าGI ไทยทั่วทุกภูมิภาคกว่า 60 รายการมาไว้ที่งาน “GI Market 2025” ณ เซ็นทรัล เวสต์เกต

 

นางสาวนุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา  กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดงาน “GI Market 2025”ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์เกต ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 1 เม.ย. 2568

โดยกรมฯ ได้รวบรวมสินค้า GI จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 60 ร้านค้า มาจำหน่ายภายในงาน เช่น หมูย่างเมืองตรังปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา เนื้อโคขุนโพนยางคำ ปลากุเลาเค็มตากใบ ปลาช่อนแม่ลา ทุเรียนปราจีน ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ส้มโอนครชัยศรี มะขามหวานเพชรบูรณ์ สับปะรดห้วยมุ่น ลูกหยียะรัง กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชวน ช้อปฟิน กินฉ่ำ  สินค้าGI  ในงาน  GI Market

ขนมหม้อแกงเมืองเพชร กาแฟเทพเสด็จ กาแฟดอยสวนยาหลวงน่าน ข้าวหอมใบเตยนครสวรรค์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน พริกไทยตรัง หอมแดงศรีสะเกษ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าหม้อห้อมแพร่ ผ้าย้อมครามธรรมชาติสกลนคร นิลเมืองกาญจน์ เสื่อกกนาหมอม้า ศิลาดลเชียงใหม่ และอื่นๆ อีกมากมาย การันตีคุณภาพส่งตรงจากแหล่งผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยตรง

โอกาสเดียวกันนี้ กรมฯ ได้รับเกียรติจากคณะผู้แทนจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาภูฎานมาเยี่ยมชมการส่งเสริมการตลาดสินค้า GI ในงาน GI Market 2025 พร้อมทั้งเยี่ยมชมตลาดจริงใจ farmers’ marketศูนย์รวมสินค้า GI กว่า 37 รายการ และ The Baker ร้านจำหน่ายเครื่องดื่มและเบเกอรี่ในเครือเซ็นทรัล

ล่าสุดได้นำสินค้า GI มาเป็นวัตถุดิบ เช่น เมนูเครื่องดื่มจากกาแฟเทพเสด็จ จังหวัดเชียงใหม่ เมนูเบเกอรี่ Mango Danish Mango Cream Bun และ Mango Coconut Danish จากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น ซึ่งกรมฯ ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่ดีอย่าง บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล เสมอมา

นอกจากการจำหน่ายสินค้า GI แล้ว และยังมีกิจกรรมมินิคอนเสิร์ตจากป๊อบ ปองกูล เปเปอร์ เพลนส์ ซีซันไฟฟ์ โพลีแคต แว่นใหญ่ โน วัน เอลส์ และต้นข้าว อาร์สยาม

ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญามีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งนับเป็น Soft Power ที่สำคัญของประเทศไทย ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัตลักษณ์ชุมชน อันเกิดจากความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ส่งผลให้สินค้า GI ล้วนมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว

ปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI แล้ว 227 สินค้า สร้างมูลค่ากว่า 77,000 ล้านบาทต่อปี และมีการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานของสินค้า GI ไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลอดจนมีการส่งเสริมและขยายช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ไทย

โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการ GI ในชุมชน นำมาสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น