“ไทย-ลาว-จีน”หารือเตรียม“รถไฟ”ลดอุปสรรคการค้าไร้รอยต่อ

“ไทย-ลาว-จีน”หารือเตรียม“รถไฟ”ลดอุปสรรคการค้าไร้รอยต่อ

รถไฟความเร็วสูง คือสัญลักษณ์เส้นทางคมนาคมขนส่งแห่งอนาคต ซึ่งไทยก็กำลังมีอนาคตร่วมกันกับจีน รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างสปป.ลาว ผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูง

ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคายเป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน เป็นเส้นทางที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน 

คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา)โดยเป็นการร่วมพัฒนาระหว่างประเทศในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยฝ่ายไทยรับภาระการลงทุนโครงการทั้งหมด และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา และใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างและระบบรถไฟของจีน ซึ่งได้ทำพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่21 ธ.ค. 2560 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ ใช้งบประมาณ179,412.21 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2570

เมื่อเร็วๆนี้ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมหารือกับนายดาวจินดา สีหาราด ผู้ว่าการรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว(LCR) และ นาย หลิว ฮง ผู้จัดการทั่วไป  Lao-China Railway Company ด้านการยกระดับประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า

การหารือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงข่ายขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย-ลาว-จีน ให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการขนส่ง รวมถึงการพัฒนาสถานีและเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างกัน พร้อมทั้งหาแนวทางปรับปรุงกระบวนการส่งต่อสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสามฝ่ายจะร่วมกันจัดทำแผนและกลไกการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เพื่อยกระดับการขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นายวีริศ กล่าวว่า จากการประชุมในครั้งนี้ ทั้งสามฝ่ายได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ครอบคลุมเส้นทาง ไทย - ลาว - จีน และมาเลเซีย พร้อมยังได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ย่านขนส่งสินค้า (Transshipment Yard) รวมถึงร่วมกันวางแผนรองรับการขนส่งทุเรียนในฤดูกาลที่กำลังจะมาถึง

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือเกี่ยวกับแผนการขนส่งสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางราง อันจะช่วยให้ระบบโลจิสติกส์สามารถขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ในโอกาสนี้ นายวีริศ ยังร่วมศึกษาดูงานที่สถานีขนส่งสินค้าเวียงจันทน์ใต้และสถานีท่านาแล้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่าง ลาว-จีน 

โดยปริมาณการขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศไทย-ลาว ในปี 2566 มีปริมาณการขนส่งอยู่ที่ 4,040 TEU ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็น 10,449 TEU ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นข้าว มอลต์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลไม้ และปุ๋ย 

“การเติบโตดังกล่าวเป็นผลจากการขยายตัวของการค้าระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ ได้วางแผนเพิ่มขบวนรถสินค้าในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 17 ขบวนบรรทุก เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า ลดระยะเวลาในการขนส่ง รวมถึงลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้กับภาคธุรกิจที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศลาวและจีนด้วย”

สำหรับการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ถือเป็นก้าวสำคัญในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นภาระสำคัญของเกษตรกรไทย ช่วยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ โดยเฉพาะในการส่งออกผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ทุเรียน มังคุด และแป้งมันสำปะหลัง 

ในส่วนการขนส่งทางรถไฟเส้นทางแหลมฉบัง - คุนหมิง จะใช้เวลาเพียง 2 – 3 วัน เมื่อเทียบกับทางเรือที่ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างมาก และยังมีกระบวนการศุลกากรที่สะดวก สามารถตรวจสอบและติดตามการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถขยายตลาดการส่งออกและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งขับเคลื่อนให้การขนส่งทางรางเป็นเส้นทางการขนส่งหลักของประเทศ

       “การหารือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบการขนส่งให้ตอบสนองต่อการเติบโตทางการค้าระหว่างประเทศ และเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งสินค้าทางรางระหว่าง ไทย -ลาว -จีน ให้เป็นโครงข่ายโลจิสติกส์ที่ไร้รอยต่อ กระตุ้นการค้า เพิ่มการลงทุน และลดต้นทุนโลจิสติกส์ในภาคธุรกิจ เสริมความแข็งแกร่งให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการขนส่งทางรางระดับภูมิภาคอาเซียน”

“ไทย-ลาว-จีน”หารือเตรียม“รถไฟ”ลดอุปสรรคการค้าไร้รอยต่อ