เศรษฐกิจชายแดนไทยขาด“แรงงาน -การจัดการ”ทำโตไม่เต็มศักยภาพ

ประเทศไทยมีจังหวัดชายแดนทั้งสิ้น 31 แห่งมีพรมแดนติดกับเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สำหรับพื้นที่ชายแดนไทยมีทั้งความท้าทายและโอกาสที่ไม่เหมือนใคร
อย่างไรก็ตาม พบว่าพืิ้นที่ชายแดนไทยกลับมีปัญหาทั้งการต่อสู้กับความยากจน โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สมบูรณ์แบบ ประชากรสูงอายุ และการอพยพของคนหนุ่มสาวเข้าสู่เขตเมือง ทั้งที่หลายพื้นที่ของชายแดนไทยมีศักยภาพสามารถพัฒนาและเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารโลกในประเทศไทย (The World Bank Thailand ) ได้เผยแพร่รายงาน ปลดล็อกศักยภาพชายแดนประเทศไทย หรือ Unlocking Thailand’s Border Potential สาระสำคัญส่วนหนึ่งเล่าถึงปัญหาต่างๆ พร้อมข้อเสนอแนะการพัฒนาชายแดนไทย
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษพิเศษตามแนวชายแดน(SEZ) ใน 10 จังหวัด ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 ว่า ชายแดนส่วนใหญ่เผชิญกับความท้าทายด้านทุนมนุษย์ พิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำและอัตราการลาออกกลางคันสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ นอกจากนี้ พื้นที่ชายแดนส่วนใหญ่มีปัญหาการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงและสถานฝึกอบรมอาชีวศึกษายังมีอยู่อย่างจำกัด
“ประชากรวัยทำงานในจังหวัดต่างๆ เช่น มุกดาหารมีเพียง 12.4% เท่านั้นที่ได้รับการศึกษาระดับหลังมัธยมศึกษา สถานการณ์ดังกล่าวยังเลวร้ายลงเนื่องจากพื้นที่ห่างไกลที่มีการเข้าถึงการขนส่งที่ไม่ดี โรงเรียนมีทรัพยากรไม่เพียงพอ และสภาพที่ท้าทายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดทางภาคใต้ที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ที่มีปัญหาความปลอดภัยและอุปสรรคทางวัฒนธรรมและภาษาทำให้การจัดการศึกษามีความซับซ้อนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สงขลาถือเป็นข้อยกเว้นที่โดดเด่น โดยแรงงานถึง 19.3% มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาและมีสถาบันการศึกษาที่แข็งแกร่งซึ่งสนับสนุนความหลากหลายของแรงงานนอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นผลจากที่มีชายแดนติดกับมาเลเซียนั่นเอง”
รายงานยังระบุอีกว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 31% ภายในปี 2603 ส่งผลให้แรงงานลดลง 14.4 ล้านคน ความท้าทายนี้จะรุนแรงเป็นพิเศษโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เชียงรายและมุกดาหาร ซึ่งแรงงานมีอายุมากขึ้นเร็วกว่าในเขตเมือง เนื่องจากเยาวชนย้ายถิ่นฐานไปยังศูนย์กลางเมือง ทำให้เหลือแรงงานที่มีอายุมากและมีทักษะน้อย การเปลี่ยนแปลงทางประชากรไม่เพียงแต่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานลดลง แต่ยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพและบริการทางสังคมที่จำกัดในพื้นที่ชายแดนอีกด้วย
ดังนั้นประเทศไทยและจังหวัดชายแดนต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก โดยมีผู้ย้ายถิ่นฐานที่จดทะเบียนแล้วประมาณ 2.4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 6.6% ของ GDP ของประเทศไทย แม้ว่ารัฐบาลจะให้สิทธิประโยชน์ เช่น ประกันสุขภาพและการเข้าถึงการศึกษาแก่แรงงานที่จดทะเบียนแล้ว แต่กระบวนการทางกฎหมายที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงจึงมักผลักดันให้แรงงานต่างด้าวใช้ช่องทางอื่นที่ไม่เป็นทางการมากกว่า ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป ทำให้แรงงานเสี่ยงต่อสภาพการทำงานที่เลวร้าย ค่าจ้างต่ำ และการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ที่จำกัด
รายงานยังระบุอีกว่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศักยภาพของพื้นที่ชายแดนโตไม่เต็มที่ เช่น ถนนที่ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น กาญจนบุรี มีความหนาแน่นของถนนเพียง 4% ของค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ขณะที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ยังคงต่ำ ตัวอย่างเช่น มีเพียง 7.1% ของครัวเรือนในมุกดาหารเท่านั้นที่เข้าถึงได้ ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมยังไม่เพียงพอ โดยมีข้อจำกัดการเข้าถึงสาธารณูปโภคที่จำเป็นและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์
“รวมถึงด่านศุลกากรและสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินการทางการค้า ยังคงพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ศักยภาพทางการค้ามีจำกัด นอกจากนี้ ปัญหาความเข้ากันได้ของการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้านยังทำให้การบูรณาการในภูมิภาคมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากระบบรถไฟทางเดียวของไทยที่ไม่เข้ากันกับเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงใหม่ของ สปป.ลาว และมีข้อจำกัดด้านขีดความสามารถซึ่งส่งผลต่อการเชื่อมต่อกับมาเลเซีย”
ด้านการปกครองพบว่า พื้นที่ชายแดนมีการเชื่อมโยงกับส่วนกลางอย่างมากทำให้การตัดสินใจเพื่อแก้ปัญาหา หรือวางแผนการพัฒนาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าที่ควรเนื่องจากต้องผ่านกระบวนการทางราชการที่ซับซ้อน
แม้จะมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ก็ยังมีปัญาหาการใช้ที่ดินเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรม เช่น กรรมสิทธิ์ที่ดินที่ไม่ชัดเจนและราคาที่ดินที่สูงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของเอกชน รวมถึงการวางผังเมืองเพื่อการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย ด้านแรงจูงใจในการลงทุน แม้ว่าประเทศไทยจะเสนอแรงจูงใจทางภาษีและไม่ใช่ภาษีต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ก็ยังขาดความเป็นเอกลักษณ์เมื่อเทียบกับเขตเศรษฐกิจอื่นๆ โครงสร้างแรงจูงใจในปัจจุบันไม่สามารถจัดการกับอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วได้อย่างเหมาะสม และตามหลังคู่แข่งระดับโลกในด้านต่างๆ เช่น ความยั่งยืนและนวัตกรรมดิจิทัล
"ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ แม้ว่าจะมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ แต่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ
กลับทำหน้าที่เป็นจุดรับข้อมูลโดยไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ โดยอาศัยกระบวนการด้วยมือเป็นหลัก ขาดการบูรณาการทางดิจิทัล และไม่สามารถลดอุปสรรคด้านระบบราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังคงขึ้นอยู่กับกระทรวงต่างๆ และยังพบการขาดประสิทธิภาพการเชื่อมโยงโดยตรงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้พลาดโอกาสดีต่างๆและยังทำให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นด้วย"
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจชายแดนปัจจุบันสะท้อนผ่านมูลค่าการค้าซึ่งพบว่า มีอัตราขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ
โดยนางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนก.พ. 2568 มีมูลค่าการค้ารวม 154,354 ล้านบาท ขยายตัว 19.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เป็นการส่งออก 86,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.8% และการนำเข้า 68,334 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.8% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนทั้งสิ้น 17,686 ล้านบาท
ส่วน 2 เดือนแรกของปี 2568 การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนมีมูลค่าการค้ารวม 299,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้น10.9% เป็นการส่งออก 164,057 ล้านบาท เพิ่มขึ้น12.1% การนำเข้า 135,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% และไทยได้ดุลการค้า 28,621 ล้านบาท
สำหรับการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ เดือนก.พ. 2568 มีมูลค่าการค้ารวม 86,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% เป็นการส่งออก 50,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% การนำเข้า 35,723 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% และไทยได้ดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 15,097 ล้านบาท
โดยการค้าชายแดนกับ สปป.ลาว มีมูลค่าสูงสุด 28,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% รองลงมา คือ มาเลเซีย 25,401 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 15.6% เมียนมา 17,470 ล้านบาท ลดลง 3.3% และกัมพูชา 15,594 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.0%
สินค้าส่งออกชายแดนสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ เช่น กากถั่วเหลือง นมผง และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุปกรณ์เครื่องมือวัดสัญญาณไฟฟ้า กระเบื้องแผ่น
ดังนั้น รายงานจึงนำเสนอคำแนะนำโดยรวมเพื่อการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ของจังหวัดชายแดนของไทย 3ด้านหลัก ได้แก่
ประการแรก ควรให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาชายแดน (BDPC)อาจได้รับการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี โดยรวบรวมสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตัวแทนจังหวัดชายแดน และผู้นำภาคเอกชนเข้าด้วยกันตามแบบจำลองระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)ที่ประสบความสำเร็จ
ประการที่สองความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศควรขยายออกไปนอกเหนือจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ
เพื่อรองรับการบูรณาการระดับภูมิภาคอย่างครอบคลุมส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดนในประเด็นร่วมกัน และใช้แนวทางที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับการพัฒนาใหม่ๆ
ประการที่สามการปรับปรุงด้านกายภาพและทุนมนุษย์ต้องรวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เหมาะสมที่สุด
การจัดการกับความท้าทายด้านประชากรและสังคมการนำนโยบายตลาดแรงงานที่กระตือรือร้น (ALMPs) มาใช้เพื่อพัฒนากำลังแรงงาน และการรักษาการลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านการดูแลสุขภาพและการศึกษา โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการปฏิบัติต่อจังหวัดบางจังหวัด เช่น หนองคายและมุกดาหาร จากมุมมองระดับภูมิภาคที่กว้างขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่รวมกันกับจังหวัดเพื่อนบ้าน
ท้้งนี้การพัฒนาชายแดนต้องครอบคลุมทุกฝ่ายโดยให้แน่ใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชากรที่ยากจนและเปราะบาง จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหมายความว่าต้องให้ความสำคัญกับแรงงาน และทรัพยากรในท้องถิ่น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและการตัดสินใจ แนวทางดังกล่าวควรครอบคลุมถึงโปรแกรมสนับสนุนและกลไกที่กำหนดเป้าหมายเพื่อการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน