เคลียร์ไม่จบ“จีน"ขอWTOตั้ง“อนุญาโตฯ”ปมยุโรปขึ้น“ภาษีอีวี”

เคลียร์ไม่จบ“จีน"ขอWTOตั้ง“อนุญาโตฯ”ปมยุโรปขึ้น“ภาษีอีวี”

เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา จำนวนรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)บนท้องถนนทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 45 ล้านคัน ตามรายงานGlobal EV Outlook 2024 เผยแพร่โดย องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2573 จำนวนรถอีวีจะเพิ่มขึ้นเป็น 250 ล้านคัน และจะไปถึง 525 ล้านคันในปี2578 ซึ่งจะทำให้อีวีกินส่วนแบ่งจำนวนรถบนท้องถนนสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ทั้งนี้ประเมินว่า สต๊อกอีวีจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 23% 

เทรนด์อุตสาหกรรมรถอีวี ที่กำลังขับเคลื่อนตัวเองไปอย่างไม่หยุดยั้งนั้น กำลังเป็นประเด็นร้อนทางการค้าที่มาถึงจุดในเวทีองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ) ซึ่งมีจีน-สหภาพยุโรป (อียู)เป็นคู่ความที่ความขัดแย้งกำลังทำให้แนวทางเจรจาอาจมาถึงทางตัน

ดับเบิลยูทีโอ เปิดเผยว่า จีนได้ยื่นคำร้องครั้งแรกเพื่อขอให้จัดตั้ง

“คณะอนุญาโตตุลาการ”เกี่ยวกับการตอบโต้ทางภาษีที่สหภาพยุโรปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่จากจีน

คำร้องดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับการสืบสวนเบื้องต้นที่นำไปสู่การกำหนดอัตราภาษีใหม่ที่ทำให้จีนไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม ทั้งจีนและสหภาพยุโรปได้เคยหารือกันเมื่อ ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งการหารือครั้งนั้นมีเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงซึ่งเป็นที่น่าพอใจร่วมกัน แต่ผลการหารือไม่สามารถแก้ไขข้อพิพาทได้

ทำให้จีนต้องยื่นคำร้องเพื่อจัดตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ โดยฝ่ายจีนได้ระบุข้อกังวลต่างๆ ที่มีเกี่ยวกับกระบวนการคิดภาษีของสหภาพยุโรปว่าดำเนินการในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับข้อตกลงของดับเบิลยูทีโอว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ทางการค้า และข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าปี 2537 (1994) 

 “แม้ว่าสมาชิกองค์การการค้าโลกจะมีสิทธิอันชอบธรรมในการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า แต่สิทธิดังกล่าวจะต้องใช้ภายในขอบเขตของข้อตกลงองค์การการค้าโลก” จีนระบุในข้อร้องเรียน 

ด้านสหภาพยุโรป ก็ออกมาระบุด้วยว่า รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจของจีนที่จะขอจัดตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้สหภาพยุโรปหวังว่าการปรึกษาหารือกับจีนได้ให้ข้อมูลและคำชี้แจงที่จำเป็นที่จีนต้องการแล้ว แม้จีนจะมีสิทธิเรียกร้องกระบวนการยุติข้อพิพาทภายใต้ดับเบิลยูทีโอซึ่งจีนยืนกรานว่ามาตรการภาษีดังกล่าวเป็นปัญหาก็ตาม แต่สหภาพยุโรปก็ขอย้ำว่าไม่พร้อมที่จะยอมรับการจัดตั้งคณะกรรมการระงับข้อพิพาทที่จีนได้ร้องไว้ 

ก่อนหน้านี้ในเดือนพ.ค.2567สหรัฐ ได้เพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนจาก 25% เป็น 100%ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลที่มีมายาวนานเกี่ยวกับ “แนวทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม” ของจีน

จากนั้น ในเดือนก.ค.ปีเดียวกันสหภาพยุโรปได้กำหนดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากจีนชั่วคราวสูงถึง 37.6%ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการสอบสวนการต่อต้านการอุดหนุนที่เปิดตัวโดยคณะกรรมาธิการยุโรปในเดือนต.ค.2566 แม้จะไม่ได้มีคำร้องจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศก็ตาม

ต่อมาในเดือนส.ค.ปีเดียวกันแคนาดาก็ได้ดำเนินการตามด้วยการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของจีน 6.1% เป็น 100%โดยอ้างถึงปัญหาที่ทราบกันดีเกี่ยวกับนโยบายและการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมของจีน ซึ่งทำให้เกิดกำลังการผลิตเกินและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหภาพยุโรปส่อเค้าว่าจะบานปลายเมื่อสองฝ่ายต่างงัดมาตรการตอบโต้ทางภาษี โดย ข้อมูลจาก เวบไซด์ Global Time ระุบว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 จีนได้ตัดสินใจเปิดการสอบสวนการทุ่มตลาดสำหรับบรั่นดีบางชนิดที่นำเข้าจากสหภาพยุโรปตามคำร้องขอจากอุตสาหกรรมบรั่นดีในประเทศจีน

จากนัั้น เมื่อวันที่ 29 ส.ค.กระทรวงพาณิชย์จีน หรือMinistry of Commerce (MOFCOM) ระบุว่า จากการประเมินเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าบรั่นดีที่นำเข้าจากสหภาพยุโรปเกี่ยวข้องกับการทุ่มตลาด ดังนั้น อุตสาหกรรมบรั่นดีในประเทศจึงตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย

ตามประกาศของ MOFCOM เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2567ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทที่ผู้นำเข้าสินค้าต้องวางมัดจำหรือหนังสือค้ำประกัน(provide deposits or letters of guarantee)ในสัดส่วนตั้งแต่ 30.6% ไปจนถึง 39.0% เพิ่มจากภาษีนำเข้าปกติ ซึ่งอัตราจะแตกต่างกันในแต่ละบริษัท

     อย่างไรก็ตาม แม้กรณีพิพาทเรื่องรถอีวี ระหว่างสหภาพยุโรปและจีน อาจไม่เกี่ยวข้องกับไทย แต่ข้อมูลจากรายงานของ IEA พบว่า ไทยมีส่วนในห่วงโซ่มูลค่าอีวีโลก โดยมีจีนเป็นฟันเฟืองหลักในอุตสาหกรรมนี้ของประเทศไทย 

รายงานระบุว่า ยอดขายอีวีพุ่งสูงขึ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่คืออาเซียนและบราซิล แม้อัตราขยายตัวที่ว่านี้จะมาจากฐานตัวเลขที่ต่ำก็ตาม ทั้งนี้  ในประเทศไทย จำนวนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าสี่เท่าเมื่อเทียบปีต่อปี หรือมีจำนวน เกือบ 90,000 คัน โดยมีส่วนแบ่งการขายที่ 10% ซึ่งเทียบได้กับส่วนแบ่งในสหรัฐ 

“แม้ยอดขายรถยนต์โดยรวมในประเทศลดลงตั้งแต่ปี 2566-2567 แต่แผนอุดหนุนต่างๆ และการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ ภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตที่ลดลง ประกอบกับการเข้ามามีบทบาทของผู้ผลิตรถยนต์จีนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายอีวีใจไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”

 บริษัทจีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายจนถึงปัจจุบัน และบริษัทเหล่านี้ก็กำลังเติบโตในประเทศไทยอย่างโดดเด่น เช่น BYD วางแผนที่จะเริ่มดำเนินการโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในปี 2567  โดยมีกำลังการผลิตประจำปี 150,000 คัน ด้วยการลงทุนเกือบ 500 ล้านดอลลาร์"

โดย ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญสำหรับตลาดในประเทศและตลาดส่งออก และมีเป้าหมายที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์ภายใน 4 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากแรงจูงใจเฉพาะเพื่อส่งเสริมการลงทุน

ด้านเวียดนาม หลังจากปี 2565  ที่ยอดเยี่ยมสำหรับตลาดรถยนต์โดยรวม หดตัวลง 25% ในปี 2566 แต่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ายังคงเติบโตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จากต่ำกว่า 100 คันในปี 2564 มาเป็น 7,000 คันในปี 2565 และมากกว่า 30,000 คันในปี 2566 โดยมีส่วนแบ่งการขาย 15%  เป็นของ VinFast ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในประเทศที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 คิดเป็นยอดขายในประเทศเกือบทั้งหมด 

นอกจากนี้ VinFast ยังเริ่มจำหน่ายรถยนต์อเนกประสงค์ไฟฟ้า (SUV) ในอเมริกาเหนือ ตลอดจนพัฒนาโรงงานผลิตเพื่อข้อจำกัดจากกฎหมาย IRA ของสหรัฐ โดย VinFast ลงทุนประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ และตั้งเป้าผลิตยานยนต์ 150,000 คันต่อปีในสหรัฐภายในปี 2568 ด้วยการบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2566 มีมูลค่าตลาดเปิดตัวประมาณ 85,000 ล้านดอลลาร์ แซงหน้า General Motors (GM) ที่มีมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์  Ford  มูลค่า 48,000 ล้านดอลลาร์  หรือ BMW มูลค่า  68,000 ล้านดอลลาร์   VinFast ยังตั้งเป้าที่จะเข้าสู่ตลาดระดับภูมิภาค เช่น อินเดียและฟิลิปปินส์

ส่วนมาเลเซีย จำนวนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าเป็น 10,000 คัน โดยได้รับการสนับสนุนจากการลดหย่อนภาษีและการยกเว้นอากรนำเข้า รวมถึงการเร่งเปิดตัวโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟ ในปี 2566 ซึ่งMercedes-Benz ได้เปิดตัว EV ที่ประกอบในประเทศเป็นคันแรก แน่นอนทั้ง BYD และ Tesla ก็เข้าสู่ตลาดมาเลเซียด้วยเช่นกัน

อุตสาหกรรมอีวี กำลังเร่งเครื่องการลงทุน การพัฒนาและการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยีที่ทั่วโลกต่างมุ่งเป็นผู้เล่นที่สามารถกำหนดทิศทางเกมส์ธุรกิจนี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เกิดข้อพิพาทขึ้น ไทยในฐานะผู้เล่นรายหนึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและวางตัวในที่ทางที่เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้และอย่าได้ไปเป็นอีกคู่ขัดเเย้งเสียเองด้วย 

เคลียร์ไม่จบ“จีน\"ขอWTOตั้ง“อนุญาโตฯ”ปมยุโรปขึ้น“ภาษีอีวี”