เปิดบัญชี! ก๊าซหุงต้ม LPG หลัง กบง.ตรึงราคา 423 บาท/ถัง อีก 3 เดือน

เปิดบัญชี! ก๊าซหุงต้ม LPG หลัง กบง.ตรึงราคา 423 บาท/ถัง อีก 3 เดือน

เปิดบัญชีก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน LPG หลัง คณะกรรมการ "กบง." มีมติตรึงราคาที่ 423 บาทต่อถัง อีก 3 เดือน ดีเดย์ 1 เม.ย. นี้

KEY

POINTS

  • กบง. ตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่อไปอีกในราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่ออีก 3 เดือน จ

รายงานข่าวระบุว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ Facebook "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค - Pirapan Salirathavibhaga" เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2568 ว่า "วันนี้ช่วงบ่ายหลังจากประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ผมได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารงานนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ซึ่งเป็นคณะกรรมการย่อยลงมาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. และทําหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลกําหนดราคาพลังงานบางส่วนของประเทศครับ

วันนี้เราได้ประชุมเรื่องสําคัญเกี่ยวกับก๊าซหุงต้ม LPG หลังจากที่ผมได้ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา และทางคณะกรรมการได้มีมติให้ลดราคาน้ำมันลงลิตรละ 1 บาท ซึ่งจะมีผลสมบูรณ์ 1 บาท ในวันที่ 4 เมษายนนี้  โดยพรุ่งนี้ (28 มีนาคม) จะปรับลด 50 สตางค์  และวันที่ 4 เมษายน จะลดลงอีก 50 สตางค์  

วันนี้ คณะกรรมการ กบง. ได้มีมติให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่อไปอีกในราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่ออีก 3 เดือน ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้  ซึ่งความจริงมีตัวเลขเสนอมาให้เลือกปรับขึ้นราคาเป็น 438 บาท แต่ทางคณะกรรมการได้พิจารณาเห็นว่ายังสามารถยืนที่ราคา 423 บาทได้อยู่ จึงเลือกแนวทางที่จะตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทเท่าเดิม เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนในเรื่องของค่าใช้จ่าย  

จากแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับลดลง และสถานะกองทุนน้ำมันฯ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่เริ่มมีรายรับเพิ่มขึ้น กระทรวงพลังงาน จึงมีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ลงสำหรับกลุ่มน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล รวมถึงตรึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG ภาครัวเรือนด้วย

ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมในฐานะรัฐมนตรีพลังงานได้ดูแลมาตลอดตามนโยบายลดราคาพลังงานของรัฐบาล โดยที่ผ่านมาเราสามารถตรึงราคาก๊าซหุงต้มให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง นี่ก็คือเรื่องสําคัญที่อยากจะนํามาเรียนวันนี้ครับ

รายงานข่าวระบุว่า ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันฯ ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ณ วันที่ 23 มี.ค. 2568 ติดลบรวม 60,052 ล้าน แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 14,063 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,989 ล้านบาท 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับมาดูฐานะกองทุนน้ำมัน จากเดิมเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2568 กองทุนน้ำมันฯ ติดลบอยู่ที่ 75,945 ล้านบาท (บัญชีน้ำมันติดลบ 29,009 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 46,936 ล้านบาท) 

โดยปัจจุบัน สกนช.ได้มีการชดเชยราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 2.4190 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 36.28 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เพื่อให้ราคาจำหน่าย LPG ในท้องตลาดอยู่ที่ 423 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่หากไม่มีการชดเชยราคาเลยจะส่งผลให้ราคา LPG อยู่ที่ 30.61 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาจำหน่าย LPG ที่แท้จริงอยู่ที่ 459.28 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม

โดยที่ผ่านมา กองทุนได้ ตรึงราคาLPG มาตั้งแต่เดือนเม.ย.2565 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ใช้เงินตรึงราคาไปทั้งสิ้นประมาณ 46,185 ล้านบาท ซึ่งกบน. ได้กำหนดกรอบวงเงินสำหรับชดเชยราคา LPG ได้ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท ดังนั้น ยังเหลือวงเงินที่ชดเชยราคาได้อีกประมาณ 3,064 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกขณะนี้ และด้วยสถานการณ์ความไม่สงบของสงครามรัสเซียกับยูเครน คาดว่าจะเป็นช่วงเดือนพ.ค. - มิ.ย.2568 บัญชีกองทุนน้ำมันฯ อาจจะเริ่มเป็นบวกได้ ซึ่งต้องเข้าใจว่าตอนนี้กองทุนน้ำมัน ยังมีหนี้เงินกู้กว่า 80,000 ล้านบาท  

รายงานข่าว ระบุว่า นอกจากนี้ มติ กบน. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2568 ได้ลดราคาขายปลีกน้ำมันลดลงรวม 1 บาทต่อลิตร ซึ่งการปรับลดราคาดังกล่าวจะดำเนินการเป็น 2 ระยะ ครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 28 มีนาคม 2568 และครั้งที่ 2 วันที่ 4 เมษายน 2568 เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อประชาชน 

โดยสกนช. ได้รายงานถึงสถานการณ์ และฐานะของกองทุนน้ำมันฯ ในช่วงต้นปี (มกราคม 2568 - วันที่ 23 มีนาคม 2568) พบว่า ฐานะกองทุนน้ำมัน มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบดูไบช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้กองทุนน้ำมัน มีรายรับเฉลี่ยกว่า 8,000 ล้านบาทต่อเดือน