จับตา" 2 เม.ย" "ส่งออกไทย" เสี่ยงโดนมาตรการ "ภาษีสหรัฐ"

จับตา" 2 เม.ย"  "ส่งออกไทย" เสี่ยงโดนมาตรการ "ภาษีสหรัฐ"

สนค.วิเคราะห์มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ “ส่งออกไทยเสี่ยงโดน” จากการได้ดุลการค้าสหรัฐอันดับที่ 11  เตรียมพร้อมรับมือด้วยการเจรจาต่างตอบแทนลดผลกระทบ

KEY

POINTS

  • ไทยเสี่ยง ถูกมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐที่จะประกาศในวันที่ 2 เม.ย.
  • สนค.วิเคราะห์ ผลกระทบ

ทั่วโลกจับตา 2 เม.ย.ที่ “นายโดนัลด์  ทรัมป์”ประธานาธิบดีสหรัฐจะประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเพราะจะส่งผลต่อการค้าโลก  ซึ่งหลังจากที่ “ทรัมป์”รับตำแหน่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 20 ม.ค. 68 ในสมัยที่ 2 หรือยุคทรัมป์ 2.0 ได้สั่งการให้หน่วยงานรัฐบาลกลางดำเนินการตามกรอบทิศทางการดำเนินนโยบายการค้า “สหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน "และประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้า จนทำให้โลกการค้าปั่นป่วนไปแล้ว

“ไทย”ถือเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐ โดยเป็นอันดับที่ 11 จึงมีความเสี่ยงสูงที่ถูกสหรัฐฯ ตรวจสอบในประเด็นที่อาจจะเข้าข่ายกรณีการค้าที่ไม่เป็นธรรม จากทั้งดุลการค้าที่มีการเกินดุลกับสหรัฐ รวมไปถึงการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯในอัตราที่สูง

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  (สนค.) กระทรวงพาณิชย์  โดย "พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ "ผอ.สนค. เปิดเผยผลวิเคราะห์ที่กระทบที่จะเกิดขึ้นจากการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ โดยเฉพาะการส่งออกมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินมาตรการจากสหรัฐฯ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย

1.การถูกสหรัฐฯ เพ่งเล็งเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น ความพยายามในการลดขาดดุลทางทางการค้าด้วยมาตรการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้า อาจทำให้ไทยซึ่งได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องตกเป็นเป้าหมายในการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยในปี 2567 ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 11 จากประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ ทั้งหมด อยู่ที่ 45,609ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 40,725ล้านดอลลาร์

สำหรับสินค้าของไทยที่มีความเสี่ยงถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นคือ กลุ่มสินค้าที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ต่อเนื่อง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แผงโซลาร์ ยางรถยนต์ หม้อแปลงไฟฟ้า วงจรรวม อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องปรับอากาศ รวมถึงสินค้าเกษตร เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการจัดเก็บนำเข้าสินค้าประเภทอื่น

อีกทั้งยังมีมาตรการควบคุมการนำเข้าและมาตรฐานด้านความปลอดภัยซึ่งอาจถูกสหรัฐมองว่าเป็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการทางภาษีแบบ Reciprocal Tariff 

2.การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (AD/CVD) ในระดับเข้มข้นมากขึ้น โดยในปัจจุบันสหรัฐฯ มีสินค้าจากไทยที่ถูกไต่สวนภายใต้มาตรการ AD/CVD ในหลายประเภทสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะ แผงโซลาร์ และเคมีภัณฑ์

3. การถูกจับตามองในฐานะประเทศที่ถูกใช้เป็นทางผ่านสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ การที่ไทยเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ ขณะที่ขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้นโดยตลอด ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มที่ไทยนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ อาจเป็นการบ่งชี้ได้บางส่วนว่าเป็นการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจีนเข้ามาในไทยเพื่อเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ ใช้กับจีน โดยอาศัยไทยเป็นทางผ่านส่งออกไปยังสหรัฐฯ (Rerouting)

ทำให้สินค้าไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วในแผงโซลาร์ ที่ไทยถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีเพิ่มเติมจากสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สาม ภายใต้มาตรการการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD (Anti-circumvention: AC) ซึ่งในกรณีดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นจากการต้องพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า และยังส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้การลงทุนจากจีนชะลอตัวหรือย้ายฐานไปประเทศอื่น

4. บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ที่ย้ายฐานการผลิตมาในไทยอาจถูกจับตา เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐฯ ไปยังต่างประเทศของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ และส่งสินค้ากลับไปขายในสหรัฐฯ จำนวนมากตลอดหลายปี

ที่ผ่านมา จึงอาจทำให้สหรัฐฯ ยกเลิกหรือลดการให้ผลประโยชน์กับบริษัทดังกล่าวเพื่อดึงดูดการลงทุนและใช้สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกแทน ตามนโยบายการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ดังนั้น การส่งออกของไทยไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกจากบริษัทสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

สำหรับแนวทางการรับมือกับมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ นั้น สนค.ระบุว่า ได้เตรียมความพร้อมและวางกลยุทธ์ในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ในลักษณะต่างตอบแทน ที่มีเป้าหมายในการลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้า เช่น การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

โดยเน้นสินค้าที่ไทยและสหรัฐฯ ต่างได้ประโยชน์และสามารถเป็นห่วงโซ่การผลิตซึ่งกันและกันได้ พร้อมทั้งเตรียมแนวทางรองรับกรณีที่สหรัฐฯ อาจผลักดันให้ไทยนำเข้าสินค้าที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าสูงหรือยังไม่ได้เปิดตลาดกับสหรัฐฯ เช่น ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อเกษตรกรและตลาดในประเทศให้รอบด้าน รวมทั้งการหาแนวทางหรือวิธีการตรวจสอบและพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสหรัฐฯ ในกรณีสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกับจีน

ขณะเดียวกันไทยก็ต้องคว้าโอกาสจากการเปลี่ยนตลาดการส่งออกการย้ายฐานการผลิตของประเทศต่าง ๆ ของประเทศคู่ขัดแย้ง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย พร้อมทั้งต้องเร่งปรับตัวด้วยการกระจายตลาดส่งออกและแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ ๆ เช่น ตลาดเอเชียใต้ ลาตินอเมริกา แอฟริกา

รวมถึงการสร้างพันธมิตรทางการค้าที่หลากหลาย เพื่อสร้างความหลากหลายในห่วงโซ่อุปทานลดผลกระทบและความเสี่ยงจากการถูกใช้มาตรการทางการค้า ตลอดจนการปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศอย่างแท้จริง