รวมมาตรการเร่งด่วน ‘แบงก์รัฐ’ บรรเทาผลกระทบแผ่นดินไหว

รวมมาตรการเร่งด่วน ‘แบงก์รัฐ’ บรรเทาผลกระทบแผ่นดินไหว

แบงก์รัฐทยอยประกาศมาตรการเร่งด่วน ช่วยประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี บรรเทาผลกระทบแผ่นดินไหว พักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย เงินกู้ฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการและที่อยู่อาศัย

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมาในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค.2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันถึงความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของประเทศ

โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์และเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ผ่านหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

โดยในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้ทยอยประกาศมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน จากสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเพื่อให้สามารถลดภาระต้นทุน มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการฟื้นฟูความเสียหาย ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคาร โรงงาน เครื่องจักร เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 

 

EXIM Bank ช่วยยืดเวลาชำระ

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือลูกค้าในภาคธุรกิจส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในด้านการผลิต การขนส่ง และการเงิน ให้สามารถฟื้นตัวและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะสั้น ประกอบด้วย

ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน สูงสุด 180 วัน

เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงินหมุนเวียนเดิม แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเดิม

เปลี่ยนแปลงภาระหนี้ระยะสั้นเป็นภาระหนี้ระยะยาว โดยสามารถผ่อนชำระได้สูงสุด 3 ปี

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือสำหรับวงเงินกู้ระยะยาว มีรายละเอียด ดังนี้

ขยายระยะเวลาวงเงินกู้ สูงสุด 7 ปี

ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในปีแรกลง 0.5% หรือเลือกจ่ายดอกเบี้ยเพียง 50% ในช่วง 6 เดือนแรก

พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุด 1 ปี

เพิ่มวงเงิน (Top up) สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ EXIM BANK อัตราดอกเบี้ย Prime Rate ในปัจจุบันอยู่ที่ 6.25% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs

ธ.ก.ส.จัด 2 สินเชื่อฉุกเฉิน

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาที่ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้เกิดความเสียหายต่อที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน และพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีพและอาชีพของเกษตรกร

ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือด้วยการจัดโครงการสินเชื่อพิเศษ 2 โครงการ ได้แก่

สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ใน 6 เดือนแรก หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบันอยู่ที่ 6.725%)

โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR ลบ 2% ต่อปี วงเงินรวมทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท

โดยสินเชื่อดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรลูกค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร หรือเครื่องจักรกลการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนในกรณีฉุกเฉินระหว่างการฟื้นฟู จนกว่าจะสามารถกลับมาประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

บสย.ช่วยพักหนี้

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลให้ร้านค้า สถานประกอบการ และการดำเนินธุรกิจต่างๆ ได้รับความเสียหาย บสย. มีความห่วงใยต่อผู้ประกอบการ SMEs ที่อาจประสบปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูกิจการให้สามารถกลับมาดำเนินงานได้โดยเร็ว โดยมีมาตรการหลัก 2 ส่วน ดังนี้

มาตรการช่วยลูกค้า บสย. พักชำระค่าธรรมเนียมและค่าจัดการค้ำประกัน 6 เดือน สำหรับ SMEs ที่เป็นลูกค้า บสย. และมีกำหนดชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกัน ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. – 30 เม.ย.2568

มาตรการช่วยลูกหนี้ บสย. พักชำระค่างวด 3 งวด สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย. ได้จ่ายค่าประกันชดเชยไปแล้ว และอยู่ในระหว่างผ่อนชำระหนี้ตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ โดยต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสามารถยื่นคำขอพักชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. – 30 เม.ย. 2568

SME D Bank ช่วยพักหนี้-เติมทุน

นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank  กล่าวว่า ธนาคารห่วงใยลูกค้าและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างยิ่ง จึงออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้ในเร็ววัน ประกอบไปด้วย  

มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย  

สำหรับกลุ่มเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อแฟคตอริ่ง ขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปอีกสูงสุด 180 วัน และสามารถพักชำระดอกเบี้ยได้

มาตรการเติมทุนฉุกเฉิน เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ สำหรับลูกค้าเดิมได้รับผลกระทบทางตรง ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด  เพื่อให้มีวงเงินกู้ฉุกเฉิน นำไปฟื้นฟูธุรกิจเฉพาะหน้า วงเงินกู้ 10% ของวงเงินเดิม ขั้นต่ำ 30,000 บาท สูงสุด 200,000 บาท (บุคคลธรรมดา สูงสุด 100,000 บาท และนิติบุคคล สูงสุด 200,000 บาท)  

อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน    ยกเว้นค่าธรรมเนียม ลดกระบวนการนำส่งเอกสารในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรงเป็นการเร่งด่วน 

มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้เป็นทางเลือกโดยสมัครใจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการรับบริการ แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2568 เป็นต้นไป

ธอส. ช่วยฟื้นฟูที่อยู่อาศัย

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้อย่างเต็มที่ ผ่าน 2 โครงการหลัก ได้แก่

1.โครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย” มี 2 มาตรการ ดังนี้

สำหรับลูกค้าปัจจุบัน ลดเงินงวดและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยพักชำระหนี้ 3 เดือนแรก พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี และในเดือนที่ 4-12 คิดดอกเบี้ยเพียง 2.00% ต่อปี พร้อมลดเงินงวดลง 50% ของเงินงวดเดิม

สำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ สามารถกู้เพิ่มเพื่อซ่อมแซม หรือปลูกสร้างทดแทนบ้านหลังเดิม วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้น 3 เดือนแรก 0% ต่อปี พร้อมปลอดชำระเงินงวด เดือนที่ 4-24 ดอกเบี้ย 2.00% ต่อปี และหลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษตามประเภทลูกค้า พร้อมฟรีค่าธรรมเนียมประเมินราคาหลักประกัน และค่าจดทะเบียนการจำนอง

2.มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2568 อีก 5 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในสถานะต่างๆ ดังนี้

สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันเสียหาย ให้ประนอมหนี้สูงสุด 1 ปี 6 เดือน โดย 6 เดือนแรก ดอกเบี้ย 0% ไม่ต้องชำระเงินงวด และเดือนที่ 7-18 ดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน

สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่รายได้กระทบ ประนอมหนี้สูงสุด 1 ปี โดย 6 เดือนแรก ดอกเบี้ย 0% ผ่อนชำระเพียง 1,000 บาท (ตัดเงินต้น) และเดือนที่ 7-12 ดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี ผ่อนชำระไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือนบวก 100 บาท

สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและ NPL ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร พิจารณาผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่เหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)

สำหรับลูกค้าสถานะบัญชีปกติและ NPL ที่ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลัง ปลอดหนี้ส่วนราคาอาคาร ผ่อนชำระเฉพาะส่วนที่ดินที่เหลือ (พิจารณาเป็นรายกรณี)

พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่มีประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยกับบริษัทที่ธนาคารจัดให้ โดยสามารถแจ้งความเสียหายพร้อมภาพถ่าย เพื่อรับค่าสินไหมตามจริง สูงสุด 20,000 บาท และสำหรับกรมธรรม์ที่เริ่มคุ้มครองตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติสูงสุด 30,000 บาทต่อปี  สามารถติดต่อได้ถึงวันที่ 30 ธ.ค.2568

สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ ธอส. ที่ต้องการต่อเติม ซ่อมแซม หรือซื้ออุปกรณ์เพื่อการอยู่อาศัย ยังสามารถเข้าร่วม “มาตรการสินเชื่อซ่อม - แต่ง” วงเงินกู้สูงสุด 100,000 บาท ดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี เพียง 1.00% ต่อปี พร้อมฟรีค่าประเมินราคาหลักประกัน สามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.2568 เป็นต้นไป

ออมสิน ให้พักหนี้ กู้ฉุกเฉิน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมมาตรการทางการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประขาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยได้ออกมาตรการหลัก 2 ส่วน ดังนี้

1. มาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับลูกค้าเดิม ให้พักชำระเงินต้นทั้งหมด และลดดอกเบี้ยเป็น 0% เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับลูกค้าสินเชื่อ 3 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ลูกค้าสินเชื่อธนาคารประชาชน ลูกค้าสินเชื่อเคหะที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท และลูกค้าสินเชื่อ SME ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท

2. มาตรการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟู ประกอบด้วย

สินเชื่อฉุกเฉินผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุด 20,000 บาทต่อราย ผ่อนชำระ 24 เดือน ปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรก ดอกเบี้ย 0% ใน 3 เดือนแรก และ 0.60% ต่อเดือน ตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป

สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน วงเงินกู้สูงสุด 500,000 บาทต่อราย ผ่อนชำระ 10 ปี สำหรับลูกค้าใหม่ ส่วนลูกค้าปัจจุบันผ่อนชำระตามสัญญาเดิม โดยมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษในช่วงแรก เช่น ปีที่ 1 ดอกเบี้ย 0% ใน 3 เดือนแรก และ 2% ในเดือนที่ 4-12

สินเชื่อ SME ฟื้นฟูแผ่นดินไหว วงเงินกู้สูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย ผ่อนชำระไม่เกิน 10 ปี (ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 9 เดือน) พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่แตกต่างกันตามวงเงินกู้ โดยสำหรับวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท จะมีอัตราดอกเบี้ย 0% ใน 3 เดือนแรก และ 2.99% ในช่วงเดือนที่ 4-24

สำหรับลูกค้าและประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อสาขาธนาคารออมสิน หรือสาขาที่มีบัญชีเงินกู้ เพื่อแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 พ.ค. 2568 และยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 2568 โดยเงื่อนไขเป็นไปตามประกาศของธนาคาร