‘แผ่นดินไหว’ รัฐล้มเหลว ประชาชนเสี่ยงตาย

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เมียนมา ส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทย สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชน
ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากแรงสั่นสะเทือนทางกายภาพ แต่ภัยพิบัติครั้งนี้ ทำให้เรารับรู้ความจริงที่น่าตกใจว่าประเทศไทย “ล้มเหลว” อย่างสิ้นเชิงกับการรับมือภัยพิบัติ ในทุกมิติ นี่คือเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพเกินบรรยาย ทั้งในเรื่องระบบเตือนภัย การประสานงานระหว่างหน่วยงาน และความแข็งแรงของโครงสร้างพื้นฐานประเทศ
การไร้ซึ่งสัญญาณแจ้งเตือน หรือการแจ้งเตือนที่ล่าช้า ทำให้ประชาชนขาดข้อมูลที่จำเป็นในการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน หน่วยงานหลักในการติดตามและแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวในประเทศไทยทุกหน่วยงาน ล้มเหลวมาก ขาดการบูรณาการข้อมูลและการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่น่าเชื่อว่าเราอยู่ในยุคที่เอไอกำลังเฟื่องฟูที่การสื่อสารควรรวดเร็วและทั่วถึง
เหตุการณ์ครั้งนี้เปิดโปงให้เห็นถึงความไม่บูรณาการในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ขาดเอกภาพในการสั่งการ และการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่งผลให้การตอบสนองต่อภัยพิบัติเป็นไปอย่างกระจัดกระจาย ขณะที่ “โครงสร้างพื้นฐาน” ของประเทศไทยถูกตั้งคำถามถึงความแข็งแรงและความสามารถรับมือกับภัยพิบัติ อาคารบางแห่งเกิดความเสียหาย พังทลายจากแรงสั่นสะเทือนที่ไม่ได้รุนแรงมาก บ่งชี้ว่าอาจมีการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน มาตรฐานการก่อสร้างและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการทบทวนและปรับปรุงอย่างเร่งด่วน
ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน ระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งหลักและรอง ควรเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมีแผนรับมือที่ดี
การตั้งศูนย์บัญชาการร่วมที่มีอำนาจในการสั่งการและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ยามเกิดภัยพิบัติต้องเกิดขึ้นทันที การให้ความสำคัญการเสริมสร้างความแข็งแรงของโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงมาตรฐานการก่อสร้างต้องคำนึงถึงการรับมือกับแผ่นดินไหวมากขึ้น อย่าคอร์รัปชันกันจนเลยเถิด การบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารควรเป็นไปอย่างเคร่งครัด
รวมถึงให้ความรู้และฝึกอบรมประชาชนในการรับมือกับภัยพิบัติ เราเห็นว่าการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศก็เป็นอีกมิติสำคัญที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ การพัฒนาเครือข่ายการเตือนภัยระดับภูมิภาคฝึกซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็น แผ่นดินไหวครั้งนี้ ควรเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย “ตื่น" หันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติอย่างจริงจัง เป็นระบบ อย่าให้ประเทศไทยต้องถอดบทเรียนซ้ำซากในทุกครั้งที่เกิดเหตุ