ผู้รับเหมาจีนแห่รับงานต่างประเทศ จับตาไทยสกัด ‘ตึกกากเต้าหู้’

“สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย” ยันตึกสูงในไทยมีมาตรฐาน พร้อมเปิดขั้นตอนก่อสร้าง มั่นใจไม่มีกรณี “ตึกเต้าหู้” จี้รัฐบาลเร่งออกข้อกำหนดคุมต่างชาติตั้งธุรกิจรับเหมา
KEY
POINTS
- ช่วงที่ผ่านมาบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจีนออกมารับงานในต่างประเทศมากขึ้น หลังจากมีปัญหาเศรษฐกิจ และอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว
- บริษัทก่อสร้างจีนทยอยเข้ามารับงานก่อสร้างในไทยทั้งในรูปแบบร่วมมือกับบริษัทไทยเป็นกิ
บริษัทรับเหมาก่อสร้างจีนทยอยออกมารับงานก่อสร้างในต่างประเทศ หลังจากที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจจีนชะลอตัว โดยผู้รับเหมาจีนหลายรายเข้ามารับงานก่อสร้างในไทยทั้งงานโครงสร้างพื้นฐาน และอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งมีโมเดลธุรกิจหลายรูปแบบ เช่น
1.การเข้ามาร่วมในกิจการร่วมค้าเพื่อประมูลงานก่อสร้างขนาดใหญ่
2.การเป็นซับคอนแทรคเพื่อรับงานก่อสร้างจากบริษัทไทยรายใหญ่
การเข้ามารับงานก่อสร้างของผู้รับเหมาจีนได้สร้างความกังวลต่อการก่อสร้างในลักษณะ “ตึกกากเต้าหู้” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจาก “จู หรงจี” อดีตนายกรัฐมนตรีจีน ที่ให้คำนิยามโครงการก่อสร้างของรัฐในจีนที่ไม่มีคุณภาพ และทำให้ได้อาคารคุณภาพต่ำที่มีโอกาสถล่ม
สำหรับสาเหตุการก่อสร้างที่ไม่มีคุณภาพประกอบกันด้วยหลายปัจจัยจนเกิดปัญหาตึกกากเต้าหู้ในจีน อาทิ
- การใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพต่ำ
- การให้ความสำคัญกับมาตรฐานการก่อสร้างน้อย , มีปัญหาการควบคุมงานก่อสร้าง , ผู้รับเหมาก่อสร้างลดต้นทุนการก่อสร้าง
- เกิดการทุจริตในงบประมาณก่อสร้างที่ส่งผลต่อการลดต้นทุนการก่อสร้าง และการควบคุมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรม
แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ ว่า การที่บริษัทก่อสร้างจีนออกมารับงานก่อสร้างในไทยมากขึ้น เพื่อสร้างโพร์ไฟล์ก่อสร้างในไทย ซึ่งจะนำไปสู่การรับงานก่อสร้างรัฐ และเอกชนในไทยเองในอนาคต
สำหรับความกังวลต่อลักษณะตึกกากเต้าหู้เกิดขึ้นชัดเจนขึ้นเมื่ออาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ในขณะที่ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีบริษัทก่อสร้างจีนมีปัญหาอุบัติเหตุก่อสร้าง บริเวณถนนพระราม 2
แหล่งข่าว กล่าวว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นผู้ก่อสร้างอาคาร สตง.เป็นบริษัทลูกของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ซึ่งถือเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของจีนที่เป็นรัฐวิสาหกิจ
รวมทั้งกำลังขยายผลงานก่อสร้างในต่างประเทศ และในไทย เช่น สัญญางาน ระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) โครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา)
สำหรับสัญญา 2.3 วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท โดย รฟท.ลงนามร่วมกับ บริษัท ไซน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชั่น (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) มีขอบเขตงานคือ การวางระบบรางระยะทาง 253 กิโลเมตร งานระบบรถไฟความเร็วสูง ระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร งานจัดหาขบวนรถไฟ งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถ และซ่อมบำรุง และงานถ่ายทอดเทคโนโลยี
นอกจากนี้ในปี 2562 ประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี แต่ไม่ชนะการประมูล โดยใช้บริษัทไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้าร่วมกับบริษัท นทลิน จำกัด , บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) , บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด และบริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง จำกัด
ทั้งนี้ การยอมลดต้นทุนวัสดุก่อสร้างโครงสร้างหลักของอาคารอาจเป็นแนวทางที่ทำได้ยาก เพราะโครงสร้างหลักเป็นความเสี่ยงสูงสุด หากพังลงมาไม่คุ้มที่บริษัทรับเหมาต้องรับผิดชอบ อีกทั้งในช่วงที่บริษัทจีนเร่งสร้างผลงานในต่างประเทศก็เสี่ยงที่จะทำให้เสียชื่อเสียง
“ผู้รับเหมาก่อสร้างในไทยแม้จะแข่งขันด้านราคา แต่กรณีปรับลดคุณภาพวัสดุก่อสร้างเพื่อประหยัดต้นทุนโครงสร้างอาคารจะมีความเสี่ยงสูง จึงเชื่อว่าผู้รับเหมาไม่น่าจะยอมลดต้นทุนส่วนนี้ เพราะต้องรับผิดชอบกรณีมีปัญหา และท้ายที่สุดต้องรับผิดชอบก่อสร้างใหม่”
นอกจากนี้ การแข่งขันด้านราคาจะทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องมาบริหารต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจยังมีกำไร แต่เชื่อว่ายังคงให้งานก่อสร้างอยู่ในข้อกำหนด TOR เพื่อให้ตรวจรับงานได้
สำหรับความเสี่ยงงานก่อสร้างตรวจสอบได้ 3 ส่วน คือ
1.การออกแบบอาคาร เพื่อดูมาตรฐานการออกแบบตามหลักวิศวกรรม
2.การก่อสร้าง และการใช้วัสดุก่อสร้าง เพื่อดูมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) วัสดุก่อสร้างที่เป็นมาตรฐานแบบบังคับ
3.การควบคุมงานก่อสร้าง เพื่อดูว่าเป็นไปตามแบบอาคาร และเป็นไปตามมาตรฐาน มอก.หรือไม่ ซึ่งเจ้าของโครงการมักจ้างบริษัทที่ปรึกษามาควบคุมงานก่อสร้าง
นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจ ว่า สมาคมฯ อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นใจการก่อสร้างอาคารต่างๆ โดยเฉพาะอาคารตึกสูงในไทย ยืนยันได้ว่าไม่มีการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเป็นลักษณะตึกเต้าหู้ อย่างที่หลายคนกังวลกัน เนื่องจากการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในไทยมีข้อกำหนดที่ต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้ควบคุมงาน ทั้งตรวจสอบการออกแบบ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องนำมาก่อสร้าง อาทิ ปูน เหล็ก ซึ่งต้องนำไปทดสอบความแข็งแรงด้วย
“การก่อสร้างอาคารในไทยมีขั้นตอนที่ละเอียดมาก ต้องเช็กแบบ และบาลานซ์ของอาคาร ทุกกระบวนการก่อสร้างต้องนำส่งวัสดุไปตรวจสอบมาตรฐาน และทดสอบความแข็งแรง อีกทั้งต้องเป็นวัสดุที่ผ่าน มอก.ก่อนนำมาใช้ก่อสร้าง และเชื่อว่าผู้รับเหมาในไทยทุกราย ต้องควบคุมมาตรฐานเหล่านี้ เพราะไม่มีใครต้องการเสี่ยงที่จะถูกยึดใบประกอบวิชาชีพ”
อย่างไรก็ดี ในกรณีบริษัทรับเหมาต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ส่วนตัวอยากให้สังคมมองการทำงานเป็นรายบริษัท เพราะผู้รับเหมาต่างชาติหลายรายเข้ามาทำงานในไทยก็มีมาตรฐาน มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่เข้ามาถ่ายทอดไว้
แต่อย่างไรก็ดี สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลนำเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีอุบัติเหตุตึกถล่มครั้งนี้ กลับมาทบทวน และจริงจังการออกเกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับต่างชาติเข้ามาจัดตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างในไทย เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมก่อสร้างในไทยเป็นธุรกิจที่ไม่มีข้อกำหนดเงื่อนไขการเข้ามาลงทุนของกลุ่มต่างชาติ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ และเข้ามารับงานก่อสร้างได้ทันที ซึ่งอาจจะดำเนินการในรูปแบบกิจการร่วมค้า หรือบางกรณีประมูลงานก่อสร้างขนาดเล็ก หรืองานก่อสร้างของเอกชนที่ไม่ต้องใช้ประสบการณ์งานในไทย ทำให้ยากที่จะควบคุมมาตรฐานงานก่อสร้าง วัสดุ และเทคโนโลยีที่มาใช้
นายธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้พบว่าแพร่กระจายไปหมดแม้กับบ้านสองชั้น ซึ่งวิศวกรได้ประเมินเหตุที่เกิดและความลึกของการสั่นไหว โดยมีการร่วมมือจากวิศวกรทุกภาคส่วน จากภาครัฐกรมโยธาธิการ และผังเมือง และกรุงเทพมหานคร (กทม.)
“เราออกแบบอาคารถูกต้อง เป็นเกณฑ์ใช้ทั่วโลก ดังนั้นอยากให้ประชาชนมั่นใจว่าถ้าวิศวกรไปตรวจแล้วไม่บ่งชี้สีแดง ก็อยากให้ประชาชนมั่นใจเข้าอาคารได้ ซึ่งแต่ละอาคารก็สามารถให้ตรวจซ้ำได้เพื่อป้องกันเหตุในการเกิดแผ่นดินไหวซ้ำในอนาคตได้อีก ส่วนเหตุอาคารที่พังลงมาคงต้องวิเคราะห์เหตุว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนอาคารอื่นๆ ยืนยันว่าเป็นเคสเขียว”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์