เปิดข้อมูล 12 บริษัทใช้เตาหลอม IF เทคโนโลยีผลิตเหล็ก ‘จีน’ เลิกใช้

เปิดข้อมูล 12 บริษัทใช้เตาหลอม IF เทคโนโลยีผลิตเหล็ก ‘จีน’ เลิกใช้

“รัฐ” ตรวจบริษัทเหล็กจีนไม่ได้มาตรฐาน “เอกนัฏ” เสนอบอร์ดบีโอไอถอดสิทธิประโยชน์ “ซินเคอหยวน” เอกชนชงแผนสกัดเหล็กจีนในเตาหลอม Induction Furnace พบ 12 บริษัท 5 จังหวัด

KEY

POINTS

  • เหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้ตึกสตง. ถล่ม สังคมมีการตื่นตัวถึงมาตรฐานการก่อสร้างอาคารที่ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) เป็นผู้ก่อสร้าง ก.พาณิชย์เข้าตรวจสอบกรณีการถือหุ้นแทน และส่งให้ดีเอสไอ
  • รมต.อุตสาหกรรม สั่งสมอ. ตรวจสอบมาตรฐาน มอก.โดยให้สถาบัน

เหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งทำให้สังคมมีการตื่นตัวถึงมาตรฐานการก่อสร้างอาคารที่บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปตรวจสอบกรณีการถือหุ้นแทน และส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

สำหรับการตรวจสอบในประเด็นตามผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ซึ่งจะพิจารณาเหล็กที่ใช้ในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง.เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยเหล็กก่อสร้างต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก.แบบบังคับเพราะเป็นสินค้าที่มีผลต่อความปลอดภัยของประชาชน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ตรวจสอบมาตรฐาน มอก.โดยส่งให้สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้ตรวจสอบได้ผลเบื้องต้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2568 จากการตรวจสอบ 7 รายการ คือ

1.เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มิลลิเมตร

2.เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มิลลิเมตร

3.เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มิลลิเมตร ของบริษัทซินเคอหยวน จำกัด ไม่ได้มาตรฐานค่าความสามารถต้านแรงดึง

4.เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มิลลิเมตร

5.เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มิลิลเมตร ของบริษัทซินเคอหยวน จำกัด ไม่ได้มาตรฐานค่าความสามารถต้านแรงดึง 

6.เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มิลลิเมตร

7.เหล็กลวดสลิง

จีนแห่ลงทุน Induction Furnace

รายงานข่าวระบุว่า เหล็กส่วนใหญ่ที่นำมาตรวจสอบเป็นเหล็กที่ผลิตจากบริษัทซิน เคอ หยวน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กจากจีนที่มีการขยายกำลังการผลิตต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยบริษัทเหล็กได้ทยอยเข้ามาลงทุนในไทยหลายแห่งหลังจากที่รัฐบาลจีนแก้ปัญหาฝุ่นควันในจีนที่มีปัญหารุนแรงเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมา และได้ออกกฎหมายห้ามการผลิตเหล็กด้วยเตาหลอมแบบ Induction Furnace

ทั้งปัจจุบันมีผู้ผลิตเหล็กในไทยที่ใช้เทคโนโลยีเตาหลอมแบบ Induction Furnace รวม 12 บริษัท ประกอบด้วย

1.บริษัท บีเอ็นเอสเอส สตีล กรุ๊ป จำกัด จ.ชลบุรี 

2.บริษัท ชลบุรี สเปเชี่ยล สตีล กรุ๊ป จำกัด จ.ชลบุรี 

3.บริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด จ.ระยอง 

4.บริษัท เอบี สตีล จำกัด จ.สระแก้ว 

5.บริษัท หลิ่ง หนัน สตีล จำกัด จ.นครปฐม 

6.บริษัท เชาว์ สตีล จำกัด จ.ปราจีนบุรี

7.บริษัท ไทยซิง สตีล จำกัด จ.ปราจีนบุรี 

8.บริษัท ทีเอสบี เหล็กกล้า จำกัด จ.ปราจีนบุรี 

9.บริษัท สิงห์ไทย สตีล จำกัด จ.ปราจีนบุรี 

10.บริษัท เคพีพี สตีล จำกัด จ.ปราจีนบุรี 

11.บริษัท ไทย เฮง สตีล จำกัด จ.เพชรบุรี 

12.บริษัท ตงเป่า สตีล จำกัด จ.นครราชสีมา

เปิดข้อมูล 12 บริษัทใช้เตาหลอม IF เทคโนโลยีผลิตเหล็ก ‘จีน’ เลิกใช้

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาเหล็กให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยเสนอให้มีการยกเลิก มอก.ที่ผลิตจากเตา Induction Furnace และปรับปรุง มอก.เหล็กเส้นให้มีคุณภาพสูงขึ้น และกำหนดให้รายงานการผลิตให้เป็นไปตามข้อกำหนดใน มอก.

รวมทั้งเสนอให้ออกกฎหมายควบคุมและจำกัดเตา Induction Furnace รวมถึงการห้ามใช้เหล็ก T (Tempcore) ในอาคารสูงหรือโครงสร้างที่เสี่ยงต่อแรงสั่นสะเทือน และตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาและมาตรฐานเหล็กเส้นในโครงการรัฐ

ขณะนี้การป้องกันเหล็กเข้ามาทุ่มตลาดในไทยได้เสนอให้ใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และ Safeguard เพื่อป้องกันการทุ่มตลาด ร่วมกับมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี รวมถึงให้ควบคุมการถือหุ้นของต่างชาติ และกำหนดหลักเกณฑ์การขอรับ BOI ให้รัดกุมขึ้น

ตรวจสอบ“ซินเคอหยวน”ไม่ได้มาตรฐาน

นายเอกนัฏ กล่าวว่า เหล็กของบริษัทซินเคอหยวน จำกัด เป็นโรงงานผลิตเหล็กเส้นข้ออ้อย โดยก่อนหน้านี้ช่วงเดือน ธ.ค.2567 ได้ส่งทีมชุดตรวจการสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้โรงงานที่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และพบข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อมหลายจุด โดยเฉพาะด้านการผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงยึดอายัดเหล็กไว้ตรวจสอบ

ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบช่วงเดือน ม.ค. 2568 พบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ตกเกณฑ์ที่สำคัญที่ส่งผลโดยตรงกับความแข็งแรงของเหล็ก จึงมอบหมายให้ชุดตรวจการสุดซอย เข้าแจ้งผลต่อบริษัท พร้อมยึดอายัดเหล็กไม่ได้มาตรฐานดังกล่าว จำนวน 2,441 ตัน มูลค่าราว 49.2 ล้านบาท และให้ดำเนินคดีตามกฎหมายไปแล้ว

“โรงงานที่พบว่าผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานนี้ เป็นโรงงานที่ไปตรวจและสั่งปิดไปตั้งแต่เดือนธ.ค. 2567 แต่การก่อสร้างเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 สร้างมาแล้ว 5 ปี ซึ่งในการตรวจเหล็กจะตรวจ 2 ส่วน คือคุณสมบัติด้านการกล และคุณสมบัติทางเคมี ซึ่งครั้งแรกที่ไปตรวจตกทางเคมี และล่าสุดที่ตรวจเมื่อวานคือตกทางกล ที่ผ่านมาสั่งให้หยุดและอายัดของกลาง เรียกเก็บสินค้ามาและให้หยุดเพื่อปรับปรุง”

เสนอบอร์ดบีโอไอถอดสิทธิประโยชน์

นายเอกนัฏ กล่าวว่า สำหรับซินเคอหยวน ทำมาค้าขายในประเทศไทยมานาน อีกทั้ง ยังได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ด้วย โดยภารกิจสำคัญ คือ การปราบทุน 0 เหรียญ ที่มาอยู่ในปนะเทศแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับไทย เป็นทุนต่างชาติ 100% จ้างงานต่างด้าว 100% ภาษีบางเจ้าไม่ต้องจ่าย ดังนั้น สิ่งสำคัญจะต้องผลักดันให้ธุรกิจไทยเติบโต ซึ่งเหล็กชนิดแบบนี้นักธุรกิจไทยทำได้

“ได้ตรวจและปิดโรงงานเหล็กไปแล้ว 7 โรงงาน อยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 3 โรงงาน มูลค่า 400 ล้านบาท ซึ่งจากที่ทำมา 6 เดือน บางเรื่องมีลักษณะการดำเนินงานเป็นกระบวนการ และได้ข่าวว่ายังมีความพยายามวิ่งเต้น และข่มขู่เจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ตนเข้าใจ ไม่เป็นไร ถ้าไม่กล้าพูดตนก็จะพูดเอง เกิดอะไรขึ้นตนรับผิดชอบเอง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ตนคิดว่าเราปล่อยปละละเลยต่อไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ตนในฐานนะรมต.อุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ บอร์ดบีโอไอ จึงมองว่าเห็นสมควรที่จะถอนสิทธิบัตรหรือสิทธิประโยชน์ในการสนับสนุนการลงทุนออกจากบีโอไอ แน่นอนว่าจะต้องมีคณระกรรมการบีโอไอพิจารณา ดังนั้น ในด้านของคดีความก็ต้องดำเนินไป

เก็บข้อมูลถอนใบอนุญาต มอก.เหล็กจีน

“ผมเข้าไปตรวจตอนโรงงานซินเคอหยวนเกิดไฟไหม้และให้หยุดเมื่อเดือน ธ.ค.2567 และอาศัยอำนาจของกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรงงานให้หยุดกิจการ และต่อเมื่อเมื่อตรวจพบว่าเหล็กที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานก็สั่งปิด ดังนั้น ในวัน หรือ 2 วันนี้ จะเข้าไปตรวจสอบที่โรงงานอีก หากพบว่าเหล็กที่อายัดไว้หากนำมาขายแม้แต่เส้นเดียวจะมีโทษเพิ่มทันที แต่ต้องขอยืนยันว่าเหล็กที่สั่งยึดไว้คนละเรื่องกับที่บอกว่าเอาของกลางมาสร้างตึกสตง. เพราะตึกมีการสร้างมาก่อนที่สั่งปิดนานแล้ว” นายเอกนัฏ กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของการเพิกถอน มอก. ต้องเป็นไปตามกระบวนการ ที่ดำเนินการเหมือนกันทุกราย เมื่อเจอตกมาตฐานก็ต้องอายัดเก็บขั้นตอนแรก ปกติตามขั้นตอนจะให้โอกาสธุรกิจ ไม่เช่นนั้นหากเจอแล้วปิดเลยก็จะเสี่ยงโดนฟ้องได้ แต่เมื่อให้โอกาสแล้วยังนำเหล็กที่ตกมาตรฐานมาใช้อีกก็ต้องดำเนินคดี ส่วนตัวถ้าตกมาตรฐานขนาดนี้ต้องเดินหน้าเพิกถอนใบอนุญาตมอก. และต้องเก็บข้อมูลให้ดี