ปลัดพาณิชย์ เผย”ทรัมป์”ขึ้นภาษีรอบ 2 ทำเสียหาย 7-8 พันล้านดอลลาร์

ปลัดพาณิชย์ เผย”ทรัมป์”ขึ้นภาษีรอบ 2  ทำเสียหาย 7-8 พันล้านดอลลาร์

ปลัดพาณิชย์ นำทีมแถลงมาตรการรับมือ”ทรัมป์”ขึ้นภาษี  คาดหากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าไทย ทำเสียหาย 7-8 พันล้านดอลลาร์ เตรียมปรับลดภาษีนำเข้าและเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้า

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ร่วมกับหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงแนวทางเตรียมความพร้อมของไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ผ่านการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในมิติต่างๆ

นายวุฒิไกร กล่าวว่า คณะทำงานได้มีการเตรียมประชุมและทำแผนการเจรจาเชิงรุกร่วมภาครัฐกับภาคเอกชนไว้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐได้ประกาศใช้มาตราการด้านภาษี 4 รูป ประกอบด้วย 1.มาตราการขึ้นภาษีรายประเทศที่ก่อปัญหาเช่น ด้านยาเสพติด การอพยพเข้าเมือง 2.มาตราการขึ้นภาษีเป็นรายสินค้า 3. ขึ้นภาษีกับกลุ่มประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายและ4. ขึ้นภาษีตอบโต้รายประเทศ 

ทั้งนี้การที่สหรัฐขึ้นภาษีส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและไทยเนื่องจากสหรัฐมีสัดส่วนการค้าการโลก 20 % และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยแต่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยจาการที่สหรัฐขึ้นภาษีในรอบแรกไทยได้รับผลกระทบไปแล้ว คือ สินค้ากลุ่มเหล็กและอลูเนียม ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มี.ค. โดยเหล็กขึ้นจากภาษี 0 -12.5 % เป็น 25 % อลูมิเนียมจาก 0-6.25. %  เป็น 25 % ซึ่งไทยได้รับผลกระทบแต่มีการเก็บภาษีคู่แข่งในทุกประเทศ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก เพราะยังส่งได้ตามปกติแต่ชะลอลง เนื่องจากเป็นสินค้าสหรัฐจำเป็นต้องนำเข้า ส่วนกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จากเดิม 0-4.9 %เป็น 25 % ซึ่งจะมีผล 3 เม.ย.

อย่างไรก็ตามคาดว่าสหรัฐจะมีการปรับขึ้นภาษีไทย 2-3 รายการประกอบด้วย สินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ยา ไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า นอกจากนี้ไทยยังมีแนวโน้มที่จะถูกเก็บภาษีตอบโต้โดยสหรัฐอาจจะมีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าให้เท่าที่ไทยเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ปัจจุบันพบว่า ไทยมีการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐในสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตร ในอัตราสูงกว่าสหรัฐ 11 % ซึ่งหากสหรัฐการเพิ่มภาษีให้เท่ากับไทยเก็บคาดว่าทำให้ไทยเสียหาย 7-8 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบเช่น ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์

นายวุฒิไกร กล่าว สำหรับแนวทางการเจรจานั้นที่ผ่านมาคณะทำงานได้เดินทางเพื่อเข้าพบ ส.ส. วุฒิสภา  เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอนแนะตามขั้นตอนที่สหรัฐเปิดรับความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ลงทุน ผู้นำเข้าจากทุกประเทศรวมทั้งไทยเพื่อให้ชี้แจงข้อมูลในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ส่วนการขอเข้าพบผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ ยูเอสทีอาร์ อยู่ในระหว่างการประสานงาน หากยูเอสทีอาร์แจ้งให้เข้าพบ ก็สามารถพบได้ทันที

นอกจากนี้ไทยอาจจะใช้แนวทางในการปรับลดภาษีนำเข้าและเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า  เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ เศษเนื้อ และเครื่องใน  แอลกอฮอล์  และเครื่องบิน โดยในส่วนนี้อาจประสานให้บริษัทการบินไทยเช่าหรือซื้อจากสหรัฐแทน ส่วนในเรื่องของพลังงานพิจารณาให้ปตท.นำเข้าน้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว

นายวุฒิไกร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐคงไม่สามารถลดการขาดดุลการค้าที่สูงถึง 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์กับไทยได้ ดังนั้นจะต้องทำทุกมิตินอกเหนือจากการค้า เพราะต้องมองในเรื่องของการลงทุน หุ้นส่วนทางพันธมิตร รวมทั้งต้องมีการสร้างเสถียรภาพการค้าเพื่อลดการขาดดุล โดยสนับสนุนให้ไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐเพื่อสร้างการจ้างานในสหรัฐมากขึ้น จากปัจจุบันมีการลงทุน 70  บริษัท ใน 20 มลรัฐมีการจ้างงาน 1.1 หมื่นตำแหน่ง โดยเน้นในมลรัฐที่นายทรัมป์ให้ความสำคัญ  

ทั้งนี้สหรัฐมีข้อกังวลในเรื่องการย้ายฐานการผลิตบางประเทศมายังไทยทำให้เกิดการสวมสิทธิสินค้าไทยไปสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้าดูแล ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้ขึ้นบัญชีสินค้าที่เสี่ยงสวมสิทธิประเทศไทยแล้ว 49 รายการ โดยเฉพาะเหล็ก ผลิตภัณฑ์จากจีน และยังกังวลมาตราการกีดดันทางการค้าที่ไม่ภาษีของไทยซึ่งเรื่องนี้ได้หารือกับหน่วยงานราชการลดเงื่อนไขและอุปสรรคต่างๆแล้ว

 นอกจากนี้ไทยยังเตรียมรับมือผลกระทบ และมาตราการเยียวผลกระทบกับผู้ประกอบการ  โดยวางไว้ 2 แนวทาง คือ การเยียวยาเร่งด่วนทั้งผู้ประกอบ  เอสเอ็มอี  เช่น ลดดอกเบี้ย เข้าแหล่งเงินทุนมากขึ้น และแนวทางที่ 2 ในระยะยาวต้องเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับประเทศต่างๆเสร็จโดยเร็ว โดยเอฟทีเอไทย-อียูจะเสร็จในปีนี้แน่นอน เพื่อชดเชยการถูกต้อบโต้ภาษีจากสหรัฐ

“แนวทางการเตรียมรับมือและการเจรจาจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อลดผลกระทบจากการเก็บภาษีเพิ่มของสหรัฐฯ บนพื้นฐานการรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และปกป้องรักษาผลประโยชน์ของไทยอย่างดีที่สุด โดยการเจรจายึดหลักการเน้นผลประโยชน์ร่วมกัน 2 ฝ่าย เพื่อสร้างสมดุลทั้ง 2 ประเทศ โดยแผนเจรจาให้เสนอให้นายกฯทั้งหมดแล้วซึ่งสุดท้ายนายกฯจะเป็นคนตัดสินใจ “นายวุฒิไกร กล่าว